“ถาม-ตอบ” เย้ยฟ้า “พี่สาวจอห์น วิญญู” ออกแบบ บี้ผู้บริหาร มหา’ลัย “เอา-ไม่เอา” ม.112 มีแค่สองทางเลือก “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” แฉ 20 ก.พ. “ม็อบ-ฝ่ายค้าน” ผิดแผน ปลุกระดม “อานนท์” เตือน “รุนแรง” นับถอยหลังแพ้ “ศปปส.” ฮึ่ม! เป็นเงาตามตัว
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (18 ก.พ. 64) ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่สาวของ จอห์น วิญญู พิธีกรชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“ประกาศ : ขอความร่วมมือในการ call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัย
ด้วยเหตุที่นับวันก็ยิ่งมีนิสิตนักศึกษาถูกหมายเรียก หมายจับ หมายศาล สารพัดหมาย เรียกไม่ถูก อันเนื่องมาจากประมวลกฎหมายอาญา ม.112 มากขึ้น และเกิดความสงสัยไม่แน่ใจในจุดยืนของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยควรเดินเรื่องประกันตัวหรือไม่ หรือเป็นหน้าที่ของคณะ หรือองค์กรเห็นด้วยกับ ม.112 จึงปล่อยให้อาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยไปประกันในฐานะปัจเจกและค่อนข้างตามมีตามเกิด
อิฉันจึงเห็นสมควรต้อง call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย และทุกคณะให้ออกมาให้คำตอบกับสังคมว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” ม.112
คำถามนี้ มีคำตอบให้เลือกแค่ 2 อย่าง คือ “เอา” หรือ “ไม่เอา” ไม่ต้องมาบอกว่า องค์กรมีความหลากหลาย เพราะเราอยากรู้ว่า ตัวอธิการบดีแต่ละมหาวิทยาลัย และคณบดีแต่ละคณะ “เอา” หรือ “ไม่เอา” แค่นั้น และถ้าจะบอกว่า “เอา แต่ไม่อยากให้ใช้พร่ำเพรื่อ” สิ่งนี้ก็มีความหมายแค่เท่ากับ “เอา” หรือถ้าบอกว่า “ไม่เอา แต่ไม่ได้แปลว่าไม่รักเจ้า” ก็แค่แปลว่า “ไม่เอา” อยู่ดี เอาแค่นี้เบสิกมากไม่ต้องการคำอธิบาย แก้ตัว disclaimer เหยียดยาว เป็นถึงระดับผู้บริหารแล้วคำถามเบสิกแค่นี้ต้องตอบได้
เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะต้องเลือกเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายเขามีสิทธิที่จะรู้ เขาจะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าเขาชอบ ม.112 เขาจะได้ไม่ไปเข้าที่ที่ผู้บริหารบอกว่า “ไม่เอา” ม.112 หรือถ้าเข้าไปแล้วผู้บริหารเกิดจะไปประกันนักศึกษาทีโดนคดี ม.112 เขาก็จะได้ไม่ต้องมาประท้วงโวยวายให้มันมากความเพราะได้บอกจุดยืนไว้อย่างชัดเจนแล้ว
ในทางกลับกันเด็กที่ “ไม่เอา” ม.112 และรู้สึกว่าในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยอาจจะมีเหตุให้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ก็จะได้เลือกเข้าได้ถูกคณะ หรือถ้าจำเป็นต้องเข้าคณะที่ผู้บริหาร “เอา” ม.112 ก็จะได้เตรียมหาลู่ทางที่จะไม่ต้องรบกวนผู้บริหารมาประกันตัวเวลาที่เขาเกิดมีคดีขึ้นมา เราคิดว่ามันแฟร์สำหรับทุกฝ่าย
และที่สำคัญ สำหรับเราซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ เราอยากได้หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่บ่งชี้จุดยืนต่อกฎหมายนี้จากปัญญาชนชั้นนำระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเทศ ณ เวลานี้ เพราะมันจะเป็นข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคนี้ สำหรับนักประวัติศาสตร์ในอนาคตชั่วลูกสืบหลานแน่นอน
แน่นอนว่า สิ่งนี้เราทำเองไม่ได้ แต่เราคิดว่ามันเป็นแคมเปญที่จะมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เราจึงอยากชี้ชวนให้นิสิตนักศึกษา ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ตลอดจนน้องๆ นักเรียนชั้นประถมมัธยมที่จะกลายเป็นนิสิตนักศึกษาในอนาคตทั่วประเทศช่วยกันออกมาผลักดัน call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ท่านรักหรือสนใจโดยพร้อมเพรียงกัน จักเป็นพระคุณยิ่ง”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ของ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์หัวข้อ “สองประสาน ?”
โดยระบุว่า มันมีความผิดปกติที่น่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ที่เห็น เป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นแผนที่วาดฝันกันไว้ สร้างแนวรบสองสนาม ในสภาและบนถนน ฝ่ายค้านเสนอญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและคณะรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่นักการเมืองเขียนญัตติหมิ่นเหม่ที่จะอภิปรายโฉบเฉี่ยวถึงสถาบันฯ นอกจากนั้น มันช่างประจวบเหมาะอะไรขนาดนั้น ที่มี ส.ส. เสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งแน่นอนต้องมีการอภิปรายพาดพิงถึงสถาบันฯอีกเช่นกัน ทั้งสองเรื่องนี้ คาดได้เลยว่า ส.ส.ที่จงรักภักดี คงไม่ยอมต้องมีการประท้วงจนวุ่นวายไปทั้งสภา
ส่วนอีกแนวรบ ม็อบสามนิ้วตั้งธง 112 ชัดเจน ตั้งเป้าลงถนนนับหนึ่งถึงล้าน
ชัดเจนว่า 20 กุมภา ในสภาจะลงมติไม่ไว้วางใจ นอกสภานัดลงถนน มันช่างเหมาะเจาะอะไรจะขนาดนั้น คาดไม่ได้ว่าจะวุ่นวายประมาณไหน ฝ่ายค้านตีรวนวอล์กเอาต์ ? ไม่ร่วมลงมติ ออกมาหาพวกนอกสภา
พลังสามนิ้วนับวันยิ่งถดถอย สร้างแต่ความรุนแรง ยั่วยุ คนร่วมชุมนุมลดลงอย่างน่าใจหาย พระอาจารย์ใหญ่เจียมถึงเอ่ยปากว่า หมดแล้ว สู้พลังคนที่จงรักภักดีไม่ได้ อย่าดันทุรัง จุดไม่ติด คนไม่ร่วม อาจารย์มหาวิทยาลัยกลัวคนน้อย เสนอให้นัดหยุดงานทั่วประเทศ คงคิดว่าพม่าทำได้ ทำไมคนไทยจะเอาอย่างไม่ได้ ขอแรงพี่ศรีหน่อยได้มั้ย เกมง่ายๆ อย่างนี้ เห็นไส้เห็นพุงหมด อัยการปลดชนวน เลื่อนสั่งฟ้องคดี 112 ออกไปอีกเดือน แกนนำอดนอนคุก หมดเงื่อนไขเรียกแขก 20 กุมภา ประสานสองแนวรบลดพลัง
สงสัยผิดแผน ?
ด้าน ความเคลื่อนไหวฝ่าย “3 นิ้ว” หรือ คณะราษฎร 2563 เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา อ้างว่า เป็นของ นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มม็อบราษฎร ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษ ระบุว่า
“ถึงมิตรสหายทุกท่าน
เป็นความยากลำบากในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องชอบธรรมทั้งปวงในเวลานี้ เพราะพวกเขามีทั้งปืนและกฎหมายเป็นเครื่องมือ การจะล้างคราบความสกปรกเลวทรามโดยใช้ผ้าหรือน้ำที่มีความสกปรก ย่อมส่งผลให้ไม่สามารถทำให้ความขาวสะอาดเกิดขึ้นมาได้ เราต้องใช้ผ้าที่สะอาดและน้ำที่สะอาดในการชะล้างความสกปรกเลวทรามเหล่านั้น
การต่อสู้ทางการเมืองก็เช่นกัน การใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้กับรัฐที่ยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง ไม่สามารถนำชัยชนะมาสู่ขบวนได้ มีแต่จะทำให้ขบวนของเรานับถอยหลังสู่ความพ่ายแพ้เท่านั้น ขอให้มิตรสหายทุกท่าน ช่วยกันยืนยันและมั่นคงในหลักการไม่ใช้ความรุนแรงในการชุมนุม ใช้ความมุ่งมั่นและความจริงใจ ใช้หลักการเหตุผลที่เหนือกว่า เพื่อเอาชนะพวกเขาเหล่านั้น
คุกขังผมได้แค่ร่างกายแต่หัวใจจะยืนอยู่เคียงข้างพี่น้องในที่ชุมนุม”
อีกด้าน จากกรณีที่ม็อบราษฎร ประกาศระดมพลใหญ่ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หลังขีดเส้นตายให้มีการปล่อยตัว 4 แกนนำ แต่ยังไม่แจ้งพิกัดสถานที่ชุมนุมเป็นที่ชัดเจนนั้น
ล่าสุด ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้ออกมาเคลื่อนไหวแล้วเช่นกัน โดย ศปปส.ขอประกาศวันที่ 20 ก.พ.นี้ 3 กีบอยู่ไหน ศปปส.อยู่นั่น!!! ขอให้พี่น้อง ศปปส. เตรียมตัวให้พร้อม!!! รองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ !!!แล้วเจอกันค่ะพี่น้อง!!! (ข่าวจากแนวหน้า)
แน่นอน, มีหลายประเด็นที่น่าจับตามอง นับแต่ “พี่สาวจอห์น วิญญู” ต้องการให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ออกมาแสดงตัวตนอย่างชัดเจน ว่า “เอา-ไม่เอา” มาตรา 112 ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่า สาระสำคัญของกฎหมายอาญามาตรานี้ เป็นกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ไม่ให้ถูกล่วงละเมิดด้วยการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ฯลฯ และประเทศไทยละเว้นที่จะไม่แตะต้องในการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้มาตลอด
แต่วันนี้คนในสังคมกลับมีความเห็นต่างเป็นสองขั้ว ฝ่ายหนึ่งต้องการยกเลิก ม.112 เพราะมีโทษหนัก และเห็นว่ามักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่บางฝ่ายเห็นว่า ควรเอาไว้ เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งเดียวที่จะช่วยปกป้องพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถเป็นคู่กรณีฟ้องร้องใครได้ เพราะอยู่เหนือการเมือง ฝ่ายนี้ยังเห็นว่า คนที่ต้องการยกเลิก เป็นคนที่ต้องการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันได้อย่างเสรีมากขึ้น และไม่ต้องการรับผิด นั่นเอง ที่สำคัญเห็นว่า ถ้าไม่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน ก็ไม่มีปัญหากับมาตรานี้แต่อย่างใด
เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า จะมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนใดบ้างจากทั่วประเทศ ที่ (กล้า) เลือกอยู่ฝ่าย “ไม่เอา ม.112” หรือ เท่ากับ ไม่เห็นความสำคัญในการปกป้องสถาบันโดยปริยาย?
ประเด็นต่อมา ที่ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตบิ๊กข่าวกรองแห่งชาติ วิเคราะห์ให้เห็น ก็นับว่าน่าจับตามองเช่นเดียวกัน
เพราะแม้ว่า ดูเหมือนจะลดเงื่อนไขบางเงื่อนไขลงไปได้ กรณีแกนนำบางส่วนยังไม่ถูกอัยการสั่งฟ้อง ซึ่งนัยว่า ถ้าสั่งฟ้อง และศาลไม่ให้ประกัน ก็จะเป็นเงื่อนไขให้ม็อบเรียกร้องปล่อยตัวอย่างมีพลัง และเมื่อเป็นสองประสานกับฝ่ายค้านที่มีแผนจะลงมาเล่นร่วมกับม็อบอยู่แล้ว อย่างที่ อดีตบิ๊กข่าวกรองฯวิเคราะห์ ก็เชื่อได้ว่า จะสร้างผลกระทบอย่างมากเลยทีเดียว
แต่กระนั้น ที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ กรณีศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ออกมาประกาศว่า ในการชุมนุมวันที่ 20 ก.พ.นั้น ม็อบ 3 นิ้วไปอยู่ที่ไหน พวกเขาจะตามไปที่นั่น
เพราะอย่าลืมว่า ภาพหลอนเมื่อคืนวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ลำพังม็อบราษฎรด้วยกันเอง ก็ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น
แสดงว่า ม็อบราษฎรเอง ก็เต็มไปด้วยการ์ดและมวลชนเลือดร้อน แถมไม่ค่อยเชื่อฟังแกนนำด้วย การมีคู่ต่อสู้ตามประกบอย่างนี้ ย่อมเสี่ยงอย่างมากที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ก็ตาม
เหนืออื่นใด ความรุนแรงอาจเป็นสิ่งที่บางกลุ่มต้องการก็เป็นได้ เพราะเป็นเงื่อนไขเดียวเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยที่อาจไม่สนใจด้วยซ้ำว่า ใครจะต้องสูญเสียมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีหลายคนเตือนอยู่เสมอเรื่องการหา “วีรชนคนกล้า” มาเซ่นสังเวย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด ในการชุมนุมของม็อบ 3 นิ้ว
วันนี้ถือว่ายังไม่สาย ถ้าคิดจะป้องกันเอาไว้ก่อน หรืออย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรือไม่จริง!?