“เชาว์” ป้อง “ศาล” สวนแถลงการณ์ก๊วน อ.นิติศาสตร์-อ.ปริญญา ลั่นไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำ ชอบด้วยกฎหมาย สังเวชใจ เป็นถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ กลับตัดตอนกฎหมายเข้าข้างม็อบ ห่วงชี้นำสังคมเห็นผิดเป็นชอบ แนะไปสู้ในศาล หยุดสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรม
วันที่ 18 ก.พ. 2564 นายเชาว์ มีชวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Chao Meekhuad” เรื่อง จดหมายเปิดผนึกถึงคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ และ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อย่าชี้นำสังคมให้เห็นผิดเป็นชอบ
มีเนื้อหาระบุว่า ได้อ่านแถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์ และความเห็นของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง คำสั่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 4 แกนนำม็อบราษฏร ที่เรียกร้องให้ผู้พิพากษาทุกท่านได้ยึดมั่นในหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักการของกฎหมายอย่างซื่อตรงและเป็นธรรม แล้วรู้สึกสังเวชใจ ไม่คิดว่านี่คือความเห็นของอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ที่ชี้นำสังคมแบบผิดๆ หยิบยกเหตุผลและหลักกฎหมายมาอธิบายไม่หมด ขัดกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชัวคราวของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ได้ใช้ดุลพินิจโดยรอบคอบคำนึงถึงความยุติธรรมโดยรอบด้านเกี่ยวกับพฤติการณ์ของม็อบราษฎรที่จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันกระทำผิดซ้ำๆ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง เหยียบย่ำสถาบันกษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติทุกวี่ทุกวัน และยังมีท่าทีหรือเป้าหมายสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญ กระทำกันอย่างโจ่งแจ้งเป็นความผิดซึ่งหน้าต่อคนทั้งประเทศจนแทบไม่จำเป็นต้องสืบหาพยานหลักฐานใดๆ อีก
นายเชาว์ ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่า 1. จำเลยทำจริงหรือไม่ 2. การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ และ 3. จำเลยมีอำนาจกระทำตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่นายปริญญาตั้งคำถาม การใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามป.วิอาญามาตรา 108 ตาม (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา (3) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่ด้วยแล้ว ไม่ใช่อธิบายเฉพาะหลักสิทธิในการได้รับการกันตัวตามมาตรา 107 และมาตรา 108/1 ที่นายปริญญากับพวกหยิบยกเฉพาะในส่วนที่เป็นคุณแก่ม็อบข้างเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกระทำและความปลอดภัยของสังคมโดยรวมที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ต่างกัน
“คำแถลงการณ์ที่ไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของกลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ และนายปริญญา ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาดีของศาล ชี้นำสังคมเข้าใจผิดว่าศาลใช้ดุลพินิจมิชอบ เป็นสิ่งที่ไม่บังควร หากเห็นแย้งก็ควรใช้สิทธิทางศาลตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ศาลผ่านสื่อให้สังคมเห็นผิดเป็นชอบ” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย