ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนสั่งทุเลาคำสั่ง คกก.แข่งขันทางการค้าที่สั่งให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) หยุดการไม่ต่อสัญญากับ 6 บริษัทผู้แทนจำหน่ายรถนิสสัน
วันนี้ (17 ก.พ.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางที่ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากรณีที่ให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระงับ หยุด แก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ของบริษัท นิสสัน ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จํากัด ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กับเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรณีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 63 ให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ระงับการไม่ต่อสัญญาจำหน่ายกับผู้จำหน่าย รวม 6 ราย คือ บริษัท สยามนิสสันสิงห์บุรี จำกัด, บริษัท สยามนิสสันมาสเตอร์เซลส์ จำกัด, บริษัท สยาม นิสสัน นครราชสีมา จำกัด, บริษัท สยามนิสสันโคราช, บริษัท สยามนิสสันไทยอุดม (หนองคาย) จำกัด และบริษัท สยามนิสสัน อุดรธานี จำกัด ซึ่งบริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เห็นว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ ไม่สุจริตหรือมีลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงได้มาฟ้องคดีต่อศาล
ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนระบุว่า การที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีคำสั่งหรือกำหนดเงื่อนไขให้สัญญาผู้จำหน่ายซึ่งสิ้นสุดไปแล้วกลับมามีผลใช้บังคับต่อไป โดยบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) มิได้สมัครใจ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการดำเนินธุรกิจของนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ในตลาดรถนต์ที่มีการแข่งขันสูงและมีมูลค่าทางการตลาดจำนวนมาก ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเห็นได้ว่ายากที่จะเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
นอกจากนี้ การที่ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวระหว่างการพิจารณาคดีก็มิได้มีผลกระทบต่อการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่าการไม่ต่อสัญญากับผู้จำหน่ายของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ประการใด และหากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีคำวินิจฉัย ว่าบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายจริง ก็ยังคงมีคำสั่งให้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ชำระค่าปรับทางปกครองได้ คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าดังกล่าว จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ