xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” แจงแต่งตั้งสอบฟันคนทำเสียค่าโง่โฮปเวลล์แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



”ศักดิ์สยาม” ชี้แจงตั้ง กก.สอบเอาผิดคนทำเสียค่าโง่โฮปเวลล์แล้ว ประชุม 25 ก.พ.เร่งสรุปผล ยันหารือ กฤษฎีกานับอายุความ 2 ปี ต้องมี 2 องค์ประกอบ คือ รู้มีการละเมิด และรู้ตัวผู้ละเมิด ด้าน “สุทิน” ชี้พิรุธเพิ่งตั้ง กก.สอบไม่กี่วันก่อนอภิปราย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงกรณีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงโครงการโฮปเวลล์ว่า โครงการโฮปเวลล์ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 และมีมติ ครม.ยกเลิกสัญญาในปี 2541 จากข้อห่วงใยว่าจะเป็นการสร้างความเสียหาย และเป็นค่าโง่จากที่ศาลปกครองได้วินิจฉัยเมื่อเดือน เม.ย. 2562 นั้น ยืนยันว่าตนได้ศึกษากฎหมายและได้เรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วินิจฉัยในการออกคำสั่งสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดละเมิด โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเมื่อ 9 ก.พ. 2564

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมเพิ่งเริ่มออกคำสั่ง เนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้พยายามที่จะต่อสู้เรื่องนี้หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัย โดยได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภา วินิจฉัยข้อสงสัย ข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อนำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากสามารถนำมาใช้รื้อฟื้นคดีได้จะเป็นประโยชน์

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 10 (2) บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเจ้าหน้าที่ตามวรรค 1 กำหนดอายุความ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่หน่วยงานรัฐรู้เรื่องละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่ หมายความว่าจะต้องทำ 2 อย่าง โดยขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น จึงเป็นหน้าที่คมนาคมในการออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการหาตัวผู้ละเมิด ซึ่งเมื่อองค์ประกอบ 2 อย่างครบจึงจะนับอายุความ 2 ปี หากคณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจะเป็นหน้าที่คมนาคมรายงานกระทรวงการคลังเพื่อวินิจฉัย หากกระทรวงการคลังวินิจฉัยว่ามีผู้รับผิด คมนาคมจะรับความเห็นมาดำเนินการภายใน 1 ปี

“กรณีนี้ไม่ต้องกังวล หากผิดจะต้องว่ากันไปตามกฎหมาย อะไรที่ถูกก็ถูก ไม่มีวันที่รัฐบาลนี้จะทำผิดให้เป็นถูก และทำถูกให้เป็นผิด” นายศักดิ์สยามกล่าว

ส่วนกรณีที่เพิ่งมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในเดือน เม.ย. 2562 กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการเจรจาลดผลกระทบเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 และได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2562 ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2562 และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเสียหายของรัฐโครงการระบบขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (คดีโฮปเวลล์) ตามคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 248/2562 ลงวันที่ 26 ส.ค. 2562

โดยทั้ง 3 คณะได้มีการตรวจสอบ โดยพบโครงการมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เป็นพิรุธ และอาจส่อไปในทางการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการเมือง จากนั้นวันที่ 12 พ.ย. 2563 กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึงนายกฯ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดละเมิดกรณีโฮปเวลล์ และวันที่ 17 พ.ย. 2563 สำนักงานเลขาธิการนายกฯ มีหนังสือถึง รมว.คมนาคม กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของกระทรวงคมนาคม เนื่องจาก รมว.คมนาคม และผู้ว่าฯ รฟท.ปัจจุบันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีอำนาจออกคำสั่งได้เอง
ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 กระทรวงคมนาคมได้สอบถามไปยังเลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อหารือในประเด็นข้อกฎหมายที่นายกฯ มีข้อสั่งการ และวันที่ 5 ก.พ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบกลับ กระทรวงคมนาคมจึงมีคำสั่งออกมา

สำหรับประเด็นในเรื่องข้อกฎหมาย ได้หารือกับเลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าในการนับอายุความนั้นจะต้องมีการดำเนินการองค์ประกอบทั้ง 2 ส่วน รัฐรู้มีการละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังจากตั้งคณะกรรมการแล้วจะมีการประชุมในวันที่ 25 ก.พ. 2564 และจะพยายามสรุปโดยเร็วที่สุดเพราะมีผู้เกี่ยวข้องจำนานมาก

โดยจากกรณีที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นค่าโง่โฮปเวลล์ โดยระบุถึงคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ชี้ว่าคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการชอบแล้วเรื่องที่มีการยกเลิกสัญญาโฮปเวลล์ไม่ชอบ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และต้องชดใช้ให้บริษัท โฮปเวลล์ เป็นเงิน 25,000 ล้านบาท ถือว่าจบแล้ว แต่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังดิ้นสู้ต่อ โดยขอรื้อฟื้นคดี ยกประเด็นมีหลักฐานใหม่ แต่สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดยังคงยืนคำวินิจฉัยเดิมและให้ชดใช้ค่าเสียหายภายใน 180 วันนั้น เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมต้องตามหาผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปยกเลิกสัญญา ทำการประมาทเลินเล่อร้ายแรงทำให้รัฐเสียหาย ให้คนนั้นเป็นชดใช้เอกชนเอง กรณีนี้หากไม่ให้รัฐรับผิดชอบ ไม่ให้ประเทศเสียหาย ต้องชดใช้เอง คนที่ละเมิดเอกชน ซึ่งรัฐมนตรีคมนาคมที่ยกเลิกสัญญาโฮปเวลล์ คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ดังนั้น ที่ถูกต้องคือดำเนินการตาม พ.ร.บ.รับผิดชอบทางละเมิด เจ้าหน้าที่รัฐ โดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าประมาทเลิ่นเล่อร้ายแรงจริงหรือไม่ ซึ่งจะเหมือนกับการดำเนินการคดีจำนำข้าวต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เรื่องนี้ทำไมไม่ทำ
นอกจากนี้ ตามกฎหมายจะมีอายุความ 2 ปี จากวันที่รู้ว่าทำผิดพลาด มีการละเมิดโดยศาลปกครองสูงสุดชี้ เมื่อเดือน เม.ย. 2562 จะครบในเดือน เม.ย. 2564 เท่ากับรัฐมีเวลา 2 เดือนที่จะหาคนทำผิดมาชดใช้แทนรัฐ ทราบว่าเพิ่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้ละเมิด 9 ก.พ. 2564 เหตุใดปล่อยเวลาทอดยาวจนจะครบ 2 ปี หรือเพราะใกล้อภิปรายยิ่งมีพิรุธ 

ประเด็นดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ชี้แจงสื่อว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด วันนี้รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจโดยเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยผิด รัฐบาลปฏิเสธคำชี้ขาดศาลปกครอง โดยยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย หากศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยผิดก็ไม่ต้องชดใช้ ฟังดูดี รัฐบาลชุดนี้สู้ไม่ถอย สู้ทั้งๆ ที่รู้ว่าแพ้ เพราะไม่มีทางกลับคำตัดสินศาลปกครองได้ สู้ให้ตายก็ไม่ชนะ หากไม่เปลี่ยนแปลงจะเกิดอะไร รู้ว่าแพ้ ก็สู้ไป วันหนึ่งคำตอบก็ทำให้จบเอง พอจะมาเอาผิดต่อคนละเมิด คดีก็หมดอายุความแล้ว จึงสงสัยว่าสู้เพื่อรัฐบาล หรือสู้เพื่อใคร




กำลังโหลดความคิดเห็น