xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ปัดให้ที่ ส.ป.ก.คิงส์เกต 4 แสนไร่ แลกถอนฟ้องเรียกค่าเสียหายปิดเหมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.อุตสาหกรรม ปัดข้อหาแลกที่ดิน ส.ป.ก.4 แสนไร่ กับถอนฟ้องค่าเรียกเสียหายปิดเหมือง ชี้หากรัฐบาลแพ้คดี 100 เปอร์เซ็นต์ “คิงส์เกต” คงไม่มาขอแลกอาชญาบัตร

วันนี้ (17 ก.พ.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงประเด็นเหมืองอัคราว่า การขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลงที่ น.ส.จิราพรบอกว่าเป็นจำนวน 2-4 แสนไร่นั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องของอนุญาโตตุลาการกับบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากได้มีการยื่นมาตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 แค่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้นมีมติให้ชะลอการพิจารณาการอนุญาตสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อนเนื่องจากห่วงใยเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยได้มีการให้สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปศึกษาและจัดทำนโยบายแร่ทองคำ ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2552 ต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำความคิดเห็นดังกล่าวไปพิจารณา ในเดือน พ.ค. 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาประกอบกับความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ และจัดทำประกาศนโยบายทองคำแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่จัดทำนโยบายและเสนอ ครม.มีการยุบสภาเสียก่อน ทางสำนักงานเลขาธิการ ครม.จึงส่งเรื่องคืนมาที่กระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากนั้นกระทรวงอุตฯ ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับนโยบายแร่ทองคำ

นายสุริยะกล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2557 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัท อัคราฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ และประชาชนได้ยื่นข้อเรียกร้องไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์จึงได้มีการออกคำสั่งโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการทองคำทุกรายทั่วประเทศระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเป็นการชั่วคราว ซึ่งตนคิดว่าในขณะนั้นใครก็แล้วแต่ที่อยู่ในฐานะนายกฯ หรือหัวหน้า คสช. เมื่อมีการร้องเรียนของประชาชนและมีผลกระทบต่อสุขภาพมาตลอด และมีการขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกคำสั่งมาตรา 44 นั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นในขณะนั้น

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ให้นโยบายคณะกรรมการแร่แห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไปจัดทำนโยบายทองคำเพื่อให้การทำเหมืองแร่ทองคำสามารถดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนให้ได้ เพื่อให้เสนอต่อ ครม. ต่อมา ครม.ก็เห็นชอบในเดือน ส.ค. 2560 และคณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติได้มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายทองคำได้ ดังนั้น บริษัท อัคราฯ จึงได้กลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจจำนวน 44 แปลง ที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 ดังนั้น การมาเดินเรื่องคำขออนุญาตดังกล่าว และทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตไปนั้น จึงเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแร่แห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเพื่อการถอนฟ้องแต่อย่างใด

“ส่วนที่ระบุว่าบริษัท คิงส์เกต ได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 22,500 ล้านบาท และบอกว่ารัฐบาลไทยแพ้ 100 เปอร์เซ็นต์ ขอบอกว่าถ้ารัฐบาลไทยแพ้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทางคิงส์เกตเขาคงไม่มาเจรจา เขาได้เงิน 22,500 ล้านบาทก็เก็บใส่กระเป๋าทันที ทำไมจะเอามาแลกกับการขออาชญาบัตร เพราะกว่าจะลงทุนทำกำไรได้ ที่ผ่านมาระยะเวลา 15-20 ปี บริษัท อัคราฯ มาลงทุนในเมืองไทย กำไรคิดว่าไม่เกิน 5 พันล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าเอาจำนวนครบต้องอีก 25 ปี ถึงจะได้มา 22,500 ล้านบาท ดังนั้น ขอยืนยันว่าการที่คิงส์เกตกลับมาเจรจานั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องทางรัฐบาลจะไปเอื้อประโยชน์ให้เขา แต่การที่เขาจะกลับมาดำเนินกิจการต่อเพราะคิดว่าราคาทองคำเป็นราคาที่ขึ้นมาพอสมควร” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น