xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านลั่นขวางญัตติ “ไพบูลย์” อัดทำลาย ปชต.อุ้ม รบ.หนีการตรวจสอบ ขู่สู้นอกสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พรรคร่วมฝ่ายค้านรุมสับเละ ขวางญัตติ “ไพบูลย์” เตรียมชงสภายื่นศาลตีความญัตติซักฟอกรัฐบาล ซัดทำลาย ปชต.ปรปักษ์รัฐสภา อุ้มรัฐบาลหนีตรวจสอบ ทำตัวเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก ปลุกสู้นอกสภาหากเกิดอะไรเหนือคาดหมาย

วันนี้ (10 ก.พ.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเพื่อชาติ ร่วมประชุมเพื่อหารือกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมจะเสนอญัตติด่วนแบบปากเปล่าให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านถูกต้องหรือไม่ และให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 11 ก.พ.นี้ โดยใช้เวลาหารือกันประมาณ 30 นาที

ต่อมาในเวลา 13.10 น. ภายหลังหารือเสร็จสิ้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้ผ่านการวินิจฉัยจากประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วเรียบร้อย โดยได้บรรจุในวาระและส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการมารับฟังการอภิปรายฯ ถือว่าถูกต้องสมบูรณ์ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน แต่การที่นายไพบูลย์จะนำเรื่องนี้กลับมาทบทวนใหม่ ตนไม่เข้าใจว่านายไพบูลย์มีความคิดอย่างไร แต่กำลังคิดว่าคงจะเป็นการสมคบคิดกันที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยมากกว่า และคงเป็นห่วงหรือจะมีการหนีการตรวจสอบตามกลไกของสภา ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การเกิดการแตกแยกภายในของพรรคร่วมรัฐบาล คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีความเห็นอย่างนี้เช่นเดียวกัน

ด้านนายประเสริฐ จันทรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ญัตติการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-19 ก.พ.นี้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ 76 การที่ประธานสภาฯ ได้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปในระเบียบวาระแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าญัตติมีความถูกต้อง ไม่มีข้อบกพร่องใดๆ ทั้งสิ้น และได้แจ้งให้นายรัฐมนตรีรับทราบแล้วเช่นกัน การที่นายไพบูลย์ได้ยกรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) มาอ้างว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญมากล่าวอ้างนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวระบุว่าให้ศาลฯ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภา แต่ในกรณีนี้สภาไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใดที่ศาลฯ จะต้องมาพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ขณะเดียวกัน ประธานสภาฯ ก็ได้เรียกวิปทุกฝ่ายมาหารือแล้ว ทั้งเรื่องจำนวนวัน เวลาในการอภิปราย

“เมื่อได้ดูรายละเอียดในญัตติของนายไพบูลย์แล้ว จะเห็นได้ว่ามีข้อความอีกหลายข้อความที่ยังไม่ปรากฏเท็จจริงหลายประการ เช่น ได้มีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเกี่ยวข้องการเมือง ทำให้สภามีการอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ อย่างกว้างขวาง ผมขอเรียนว่าญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ ถ้าดูสาระสำคัญดีๆ รายละเอียดของญัตติจะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวหานายกรัฐมนตรีโดยตรง เป็นเรื่องที่นายกฯ ต้องนำข้อความที่ถูกกล่าวหาไปแก้ไข” นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ดังนั้น สภาไม่ควรรับญัตติของนายไพบูลย์ เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องมาพิจารณา นอกจากนี้ยังไม่เคยมีในระบบประเพณีของรัฐสภามาก่อนที่ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะถูกยื่นตีความโดยศาลฯ การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายระบอบรัฐสภา ทำลายระบอบประชาธิปไตย หากสภายังเดินหน้าเห็นชอบในญัตติของนายไพบูลย์แบบพวกมากลากไปโดยไม่มีเหตุผล ต่อไปสภาจะเดินหน้าลำบาก ต่อไปการร่วมมือต่างๆ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับฝ่ายค้านคงเกิดขึ้นยาก เพราะเรื่องที่ไม่ควรเกิดก็เกิดขึ้นมา

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอยืนยันกับประชาชนว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะไม่ถูกเลื่อนออกไป ฝากไปถึงรัฐบาลว่าอย่าวิตกกังวลมากจนเกินไปว่าไม่สามารถตอบคำถามของฝ่ายค้านได้ก็จะใช้วิธีนอกระบบในการหนีการตรวจสอบจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากประชาชนได้อ่านรายละเอียดในญัตติของนายไพบูลย์แล้วจะเห็นว่าเป็นการตอกย้ำญัตติของเราในการนำสถาบันฯ มาเป็นโล่คอยกลบเกลื่อนความผิดของตัวเอง ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลจะอภิปรายรัฐบาล อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และข้อบังคับสภาได้ระบุไว้แล้วว่าพูดถึงสถาบันฯ โดยจำเป็น ประธานสภาฯ ก็อยู่ในพื้นที่ อย่าอนุมานหรือวิตกเกินไปเอง แล้วใช้วิธีนอกระบบมาลดทอนอำนาจนิติบัญญัติให้ตุลาการมามีอำนาจเหนือ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ญัตตินี้สมบูรณ์ตามขั้นตอน กำลังจะมีการอภิปรายแล้ว การสะดุดลงคงไม่ได้เกิด แต่จะทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลง ขณะนี้มี ส.ส.หลายคนไม่สบายใจต่อพฤติกรรมของนายไพบูลย์ หลายคนกำลังตรวจสอบว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมขั้นร้ายแรงหรือไม่ เป็นปรปักษ์ต่อระบบรัฐสภาเองหรือไม่ เนื่องจากการยื่นต่อศาลฯ ตีความในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสภา ต่อไปนี้หลักการถ่วงดุลอำนาจคงใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น นายไพบูลย์เองทำตัวเป็นปรปักษ์ต่อระบบรัฐสภา และระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่าเรื่องนี้จะมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องแน่นอน

“สิ่งที่ต้องขอร้องผ่านไปยังรัฐบาล คือ ถึงจะใช้เสียงข้างมากก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งพวกเราได้ เราเตรียมมาตรการไว้เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป วันนี้เราเชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นแน่นอน แต่ถ้าเกิดมีอะไรเหนือความคาดหมาย การอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อเสียงข้างมากมาอยู่เหนือเราที่เป็นเสียงข้างน้อย ก็ต้องขออนุญาตสังคมว่าพวกเราเสียงข้างน้อยจะใช้วิธีการทุกรูปแบบภายใต้กฎหมายออกมาใช้เพื่อยับยั้งเผด็จการรัฐสภา” นายสุทินกล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยอดีตเป็นประธานรัฐสภา หากตนเป็นประธานรัฐสภาจะไม่ส่งศาลฯ วินิจฉัย เนื่องจากเป็นอำนาจของประธานสภาตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ที่จะบรรจุวาระการประชุม ซึ่งเมื่อประธานบรรจุไปแล้วก็ไม่มีข้อสงสัยที่จะนำไปสู่การยับยั้งการพิจารณาระเบียบวาระ และหากส่งศาลก็จะเป็นการย้อนแย้งในคำวินิจฉัยของประธานสภา หากนายไพบูลย์จะเสนอญัตติด้วยวาจา เกรงจะเป็นการเสียเวลาเปล่า และตนเชื่อว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จะใช้ดุลพินิจและไม่ส่งศาลฯ ตีความ

“ประชาชนต้องไม่หวั่นไหวว่าการอภิปรายจะไม่เกิดขึ้น หรือหากส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมเชื่อด้วยความเคารพว่าศาลจะรู้เรื่องอำนาจหน้าที่ในการบรรจุวาระการประชุม ขอย้ำว่าญัตติของฝ่ายค้านเป็นการป้องกันสถาบันฯ” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น