xs
xsm
sm
md
lg

ซักฟอกเหวี่ยงแห ระวังแฉกันเอง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

เปิดออกมาแล้วสำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยรวมยอดรัฐมนตรีที่ถูก “ซักฟอก” จำนวน 10 ราย และได้ยื่นญัตติดังกล่าวต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา

รายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ 5. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 6. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 7. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ 8. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย 9. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ 10. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
โดยมีเหตุผลมาแสดงให้เห็นเป็นบางส่วน เช่น 1. พล.อ.ประยุทธ์ บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้จิตสำนึกและความรับผิดชอบ มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำ
สถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเองฯ
2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเอง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ และไร้ความสามารถ ไม่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดในรอบสองอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ปกปิด อำพรางการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค เพื่อเปิดช่องให้มีการทุจริต แสวงหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ บริหารราชการแผ่นดิน บกพร่องล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบ ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ พูดอย่างทำอย่าง ไม่ยึดถือหลักธรรมาภิบาล
5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา บริหารราชการแผ่นดินโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม แต่กลับใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
6. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ละเว้นและบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบ
7. นายสุชาติ ชมกลิ่น บริหารราชการผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ จนเกิดแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก สร้างผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

8. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ บริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด

9. นายนิพนธ์ บุญญามณี ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่อง ล้มเหลวอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล กร่างเถื่อนฯ

ก็ต้องบอกว่า “เขียนได้น่าตื่นเต้นเร้าใจมาก” ซึ่งก็อีกนั่นแหละ การเขียนข้อกล่าวหาจะเขียนให้ออกมาแบบไหนก็ได้ หรืออาจให้ออกมาร้ายแรงกว่านี้ก็ได้เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ “มันตรงใจ” หรือได้อารมณ์ร่วมกับสังคมส่วนใหญ่จริงหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพียง “สนุกครื้นเครงกันเอง” เท่านั้น

แม้ว่านาทีนี้หากพิจารณากันตามช่วงเวลาที่รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารบ้านเมืองมานานปีกว่าแล้ว อาจจะถึงเวลาที่ต้องมีการยื่นญัตติ “ซักฟอก” กันได้แล้วก็ได้ เพราะการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือรัฐมนตรี เป็นกติกาอย่างหนึ่งสำหรับการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินตามระบบรัฐสภา แต่ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากนั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นมาพิจารณาไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะความ “สมเหตุสมผล” มีเพียงพอหรือไม่ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพียงแค่ได้โอกาสแล้วต้องทำทุกทาง คงไม่ใช่ เหมือนกับครั้งนี้ ที่มีการยื่นญัตติซักฟอกรัฐมนตรีพร้อมกันถึง 10 คน เมื่อพิจารณาจากความผิดพลาด หรือจากข้อมูลทุจริตก็ต้องบอกตามตรงว่า ไม่น่าจะถึงขั้นนั้น

และข้อกล่าวหา หากจะมีก็น่าจะลดจำนวนลงให้เกิดความเข้มข้นในเนื้อหาได้มากกว่านี้ หรือหากต้องการให้เกิด “พลัง” หรือ “เกิดน้ำหนัก” ทำไมไม่คัดกรองให้น้อยลง หรือแม้แต่พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ซึ่งก็ย่อมมีผลทั้งคณะอยู่แล้ว หรือ แม้แต่เป้าหมายที่ “2 หรือ 3 ป.” ก็จะน่าสนใจมากกว่ารายชื่ออื่นหรือเปล่า

แต่ในเมื่อออกมาแบบนี้มันก็ทำให้ “พลัง” ลดลงทันที ความน่าสนใจและจุด “โฟกัส” แทบจะไม่มี และข้อหาที่เขียนกล่าวหากันขึ้นมาพิจารณาไปแล้วยังไม่เห็นความร้ายแรงตามนั้น แม้ว่าทางฝ่ายค้านจะอ้างว่ามีหลักฐานอยู่ในมือก็ตาม แต่รับรองว่า หากพิจารณาจากในอดีตที่ผ่านมาเนื้อหาการอภิปราย ก็ล้วนนำมาจากข่าวอื้อฉาวกันทั้งสิ้น และคราวนี้ยังนึกไม่ออก นอกจากเป็นข้อหาของพวกฝ่ายค้าน “บางพวก” เสียด้วยซ้ำที่ “ไม่น่าไว้วางใจ”

โดยเฉพาะพวกเครือข่าย “ล้มเจ้า” ในสภา จนไม่รู้ว่าเอาเข้าจริง ใครจะซักฟอกใครกันแน่ !!

และเมื่อโฟกัสไปที่ฝ่ายค้านบางพรรค เช่น พรรคเพื่อไทย ก็ต้องจับตาดูกันว่าจะมีการ “แฉกันเอง” อีกหรือเปล่า เพราะคราวนี้เริ่มมีเสียงโวยเล็ดลอดออกมาให้ได้ยินแล้วว่า “เหวี่ยงแห” มากเกินไป แล้วมีรัฐมนตรีบางคนที่น่าจะถูกซักฟอก แต่กลับหลุดไปหน้าตายเฉย รวมไปถึงความแตกแยกภายในที่รอวันแตก ก็ต้องลุ้นกันว่า กลุ่ม ส.ส.เตรียมจะแยกออกไปร่วมพรรคใหม่ จะมีชื่อร่วมอภิปรายกันหรือไม่

ดังนั้น หากพิจารณากันในสถานการณ์ขณะนี้ และจากข้อมูลที่ผ่านมาที่มองดูแล้วเป็นญัตติซักฟอกที่ “เหวี่ยงแห” มากเกินไป ทำให้กระจายน้ำหนักออกไป จนไม่สร้างพลังกดดันกับฝ่ายตรงข้ามมากนัก และหากใช้เวลาอภิปรายนานหลายวันมากเกินไป มันก็ยิ่งน่าเบื่อ แต่ถึงอย่างไรเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่อยากขัดคอ เอาเป็นว่าขอให้มีหลักฐานความผิดร้ายแรงตามที่ตีปี๊บเอาไว้ก็แล้วกัน อย่าให้แค่ราคาคุย และมีรายการแฉกันเองอีกก็แล้วกัน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น