xs
xsm
sm
md
lg

“พี่ศรี” นำสูตินรีแพทย์-หมอเด็ก ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินค้าน กม.อนุญาตทำแท้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศรีสุวรรณ” นำสูตินรีแพทย์-หมอเด็ก ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.วินิจฉัยแก้ กม.ทำแท้ง ขัด รธน. หมอชี้ทำให้เกิดการทำแท้งโดยอิสระ ยืมมือหมอฆ่าคนโดยไม่มีความผิด เชื่อใช้ระบบคุมกำเนิดคุ้มกว่า เปิดให้เยาวชนเป็นเหยื่อของกฎหมาย ยันไม่ได้คัดค้าน ขอให้ทบทวน

วันนี้ (4 ก.พ.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาและเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301, 305 (4) และ 305 (5) ที่เกี่ยวข้องกับการให้หญิงสามารถทำแท้งได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบมาตรา 4 มาตรา 77 หรือไม่

โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า สูตินรีแพทย์มีหน้าที่ในการช่วยชีวิตคน แต่การออกกฎหมายให้ฆ่าคนหรือทำแท้งทารก แม้ถูกมองว่ายังไม่มีสภาพเป็นคน แต่การที่ทารกมีอายุ 12 สัปดาห์แล้วก็ถือว่าเป็นอีกชีวิตหนึ่ง เพราะทารกที่มีอายุครรภ์ 12-18 สัปดาห์มีการเต้นของหัวใจ การไปกำหนดให้ทำแท้งได้กรณีไม่เกิน 12 สัปดาห์ถือว่ากระทบต่อจิตใจ เหมือนให้ฆ่าคนโดยไม่มีความผิด และรัฐธรรมนูญก็ให้ความคุ้มครองชีวิตของประชาชน ประกอบกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่เคยรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะความคิดเห็นทางการแพทย์ จึงขอให้ผู้ตรวจฯ ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่ส่งก็จะดำเนินการยื่นร้องตรงต่อรัฐธรรมนูญเอง เพราะมีข่าวกฎหมายดังกล่าวที่ผ่านการแก้ไขจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ก็จะเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขต่อไป
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ ไม่เห็นด้วยที่กฎหมายฉบับนี้เปิดให้ผู้หญิงท้องอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ทำแท้งได้ โดยไม่มีการถามเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การทำแท้งต้องมีเหตุผล โดยผู้หญิงนั้นต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอ และต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย กรณีนี้กระทบกับความรู้สึกของสูตินรีแพทย์ เพราะอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ชีวิตเริ่มต้นแล้ว เด็กมีพัฒนาการ ไม่ใช่ก้อนเลือดที่จะเอาออกได้ได้ง่าย แพทย์ทั่วไปในโรงพยาบาลชุมชนประสบการณ์ก็อาจจะไม่เพียงพอ

“คนที่ไม่มีประสบการณ์บอกง่าย ออกหมด ให้มาเป็นสูตินรีแพทย์ การทำแท้ง 12 สัปดาห์ไม่ได้ออกหมด มีส่วนหนึ่งที่ตกค้าง ต้องมาขูดหรือดูดมดลูก แล้วยังตามด้วยการอักเสบ ติดเชื้อ แม้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่แพทย์ไม่สามารถบอกได้ว่าจะไมได้รับอันตราย ทุพพลภาพหรือถึงแก่ชีวิต เคยมีที่สูตินรีแพทย์ทำแท้งแล้วเกิดกรณีมดลูกตีบตันไม่สามารถมีลูกได้อีก ดังนั้น การทำแท้งแม้อายุครรภ์จะต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย” พ.ญ.ชัญวลีกล่าว และว่าไม่ได้ปฏิเสธการทำแท้ง แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม เรื่องนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเพณีของสังคมของไทยอย่างง่ายๆ โดยการเซย์เยส 2 ครั้ง ไม่ต้องถามเหตุผล เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายแล้ว ไม่แน่ใจว่าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้โอเคหรือเปล่า สรุปว่าไม่ใช่แค่หมอสูติ แต่เป็นประชาชนคนไทย ผู้นับถือทุกศาสนา ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต”

พญ.สุพรรณี คูณแสง แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสูตินรีแพทย์ กล่าวว่า ผลกระทบจากกฎหมายทำแท้งใหม่มีหลายข้อ 1. การเข้าถึงการทำแท้งโดยไม่มีหลักเกณฑ์กำหนด อาจส่งผลให้ความระมัดระวังต่อการคุมกำเนิดหรือการตั้งใจในการคุมกำเนิดลดลง 2. สถิติการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และสถิติโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น 3. สถิติภาวะจิตใจของสตรีกลุ่มนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว 4. สถิติภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่อชีวิตมารดาเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ที่ทำแท้ง 5. ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้รับผลกระทบ 6. งบประมาณที่รัฐต้องไปดูแลเรื่องทำแท้งนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณในการคุมกำเนิดจะถูกกว่างบประมาณในการทำแท้ง 10 เท่า 7. มโนธรรมของสังคม ดังนั้นไม่เป็นผลดีต่อใครหากกฎหมายมีผลบังคับใช้

“กฎหมายดังกล่าวแม้จะเป็นการบรรเทาปัญหาของมารดาที่จะไปทำแท้ง แต่จะสร้างปัญหาใหม่ในวงกว้างทั่วประเทศ ดิฉันมองว่ากลุ่มเยาวชนเป็นเหยื่อของกฎหมายฉบับนี้ กลุ่มวัยรุ่นที่คิดไม่ออก ตกใจในการตั้งครรภ์ แทนที่รัฐจะดูแลประคองครรภ์ของเขา กลับเปิดประตูให้เขาไปทำผิดอันเนื่องมาจากความผิดพลาดของเขาซึ่งเป็นการทำผิดซ้ำรอบสอง โดยการทำแท้งยุติครรภ์ซึ่งจะมีผลต่อจิตใจของเขาในระยะยาว จึงอยากเสนอว่ารัฐควรหาทางเลือกที่ดีกว่านี้ให้แก่สตรีหรือเยาวชนที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์ เพราะการทำแท้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ควรจะแก้ที่ต้นเหตุ โดยระบบการทำแท้งของประเทศไทยควรดีกว่านี้ และควรสร้างการมีส่วนรวมของฝ่ายชาย เช่นในต่างประเทศจะมีระบบการส่งเสียค่าเลี้ยงดูเมื่อมีลูกแล้ว เรายังไม่ได้สร้างระบบนี้ขึ้นมา ระบบเครดิตจะไม่สามารถกู้เงินได้ รวมถึงใบขับขี่ก็ต้องถูกยึด นอกจากนี้ ถ้ายังไม่รับผิดชอบก็จะไปสู่คดีอาญาของผู้ชาย ดังนั้น ถ้าฝ่ายชายรู้ว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้าก็จะมีการร่วมรับผิดชอบคุมกำเนิด”
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา อดีตหมอเด็ก กรรมการแพทย์สภา กล่าวว่า ลูกไม่ใช่ภาระ แต่เป็นสมบัติของพ่อแม่ และครอบครัว เราเข้าใจว่ามีคนส่วนหนึ่งตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่มีความพร้อม แล้วลักลอบทำแท้ง โดยจะเห็นว่ามีข่าวพบศพเด็กที่วัด ที่ผ่านมาความตั้งใจของแพทย์สภาที่อยากให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือ ต้องทำเพื่อสุขภาพ อนามัยของมารดา และทารก นั่นคือจะต้องมีการให้คำปรึกษาก่อน แต่กลายเป็นว่ากฎหมายที่ออกมาเพียงอายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ ถ้าอยากทำแท้งก็ทำได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง และไม่มีประเทศไหนที่ให้ทำแท้งได้โดยเสรี ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นในมาตรา 305 ยังให้อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ก็ทำแท้งได้ ซึ่ง 20 สัปดาห์ถือว่าผ่านมาครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว เด็กก็มีชีวิต หัวใจเต้น มีอวัยวะเพศ เครื่องไหวดูดนิ้วได้แล้ว แล้วเราจะให้ทำแท้งเพียงเพราะพ่อแม่ไม่รับผิดชอบ แล้วมาบังคับให้หมอทำ แบบนี้ไม่เห็นด้วย

“การจะให้ทำแท้งจะมีก็ได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล นอกจากต้องเป็นการตัดสินของพ่อแม่แล้ว ต้องเป็นการตัดสินใจของครอบครัวด้วย เมื่อก่อนประณามผู้หญิงท้องไม่พร้อมว่าเด็กที่เกิดมาเป็นมารหัวขน ค่านิยมเป็นอย่างนี้ ทำให้หญิงที่ท้องแล้วไม่มีสามีอับอาย หลบซ่อน แต่ในต่างประเทศที่เราเดินตามเขาอย่างสหรัฐฯ เด็กที่เกิดในลักษณะนี้จะมีกลุ่มแพทย์ให้คำปรึกษา มีศูนย์รับลี้ยงเด็ก ให้คำแนะนำว่าต่อไปจะต้องป้องกันอย่างไร ไม่จำเป็นต้องพูดถึงคุณธรรม จริยธรรมทางศาสนา เพราะหลายศาสนาก็ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง” พญ.เชิดชูกล่าว และว่าเราไม่ได้คัดค้านอย่างสุดโต่ง เข้าใจว่าบางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องทำ แต่อยากให้ทบทวน ให้การทำแท้งเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล มีจริยธรรม มโนธรรม และประกอบการตัดสินใจของแพทย์ 
ขณะที่ พ.ต.ท.กีรปกล่าวว่า จะเร่งสรุปคำร้องและข้อเท็จจริงเพื่อเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์






กำลังโหลดความคิดเห็น