xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนปูมทีม “อินโดจีน” เครือ “ผู้จัดการ” มุดช่องทางธรรมชาติลุยหาข่าวในพม่า-กัมพูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากแฟนเพจ Indochina Publishing Group
เปิดบันทึกการเสี่ยงตายเข้าไปทำข่าวในพื้นที่สู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชาและพม่า โดยทีมข่าว “ศูนย์ข้อมูลอินโดจีน” ในเครือผู้จัดการ ซึ่ง “สนธิ ลิ้มทองกุล” ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอินโดจีน หลังจากการออกนโยบาย “แปรสนามรบเป็นตลาดการค้า” โดยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อราวปี 2533 เป็นต้นมา

บันทึกชิ้นนี้ ปรากฏในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Indochina Publishing Group เขียนโดย ผู้ใช้นามว่า “บุญล้ำ ลำตะคอง” อดีตหนึ่งในทีมข่าวของ “ศูนย์ข้อมูลอินโดจีน” เพื่อรำลึกถึงการจากไปของ “นนท์ พลางวัน” หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของศูนย์ข้อมูลอินโดจีน ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา “MGR online” ขอนำมาเผยแพร่ต่อ เพื่อเปิดเผยให้เห็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการข่าวเมืองไทย

“ไปทำข่าวกับนนท์ตามช่องทางธรรมชาติ”

อันที่จริงพวกเรา (หมายถึงผมกับนนท์ พลางวัน) รู้จักใช้ช่องทางธรรมชาติก่อนนักการเมืองปลิ้นปล้อนเสียอีก ไม่ใช่ว่าเราจะหนีคดีออกไปซุกประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด แต่เราใช้ช่องทางธรรมชาติเพื่อออกไปทำข่าวตามชายแดนมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะชายแดนไทย-กัมพูชา

ภาพจากแฟนเพจ Indochina Publishing Group
ราวต้นปี 2537 ผมกับนนท์สังกัด ‘ศูนย์ข้อมูลอินโดจีน’ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ตระเวนทำข่าวชายแดนด้านจังหวัดสระแก้ว เนื่องจากในตอนนั้นรัฐบาลฮุนเซนส่งกำลังทหารมากวาดล้างฐานที่มั่นเขมรแดงที่มีหลังพิงอยู่ใกล้ชายแดนไทย คือ เมืองไพลินและพนมมาลัย เราพยายามเสาะหาช่องทางเข้าไปทำข่าวในเขตเขมรแดงหลายครั้ง แต่ก็ยังเข้าไม่ได้ เพราะมีด่านทหารของไทยตั้งจุดตรวจสกัดคนเข้า-ออกตลอดแนวชายแดน
โชคคงเข้าข้าง เพราะขณะที่รถยนต์ของเรากำลังเลาะเลียบชายแดนด้านอำเภอคลองหาด จ.สระแก้วอยู่นั้น สายตาคมกริบของเหยี่ยวข่าวก็มองเห็นใครคนหนึ่งหมือนคนที่รู้จักกำลังเดินแทรกดงอ้อยเข้าไป

“อ๋อ พี่ราตรีนั่นเอง” ผมอุทานออกมาด้วยความดีใจ แล้วบอกโชเฟอร์ของเราให้จอดรถ แล้วผมกับนนท์ก็รีบสาวเท้าตามไป

‘พี่ราตรี’ ที่ว่านี้คือภรรยาของ ‘พี่ประสิทธิ์ แสงรุ่งเรือง’ นักข่าวชายแดนระดับตำนาน ทั้งสองทำข่าวชายแดนเขมรส่งให้กับสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งมานานหลายสิบปี มีหนังสือพิมพ์ ‘ชายแดน’ เป็นของตัวเอง มีโรงพิมพ์และบ้านอยู่ใจกลางเมืองอรัญประเทศ มีความเชี่ยวชาญและมีคอนเนกชั่นที่ดีกับระดับนำของเขมรแดง ผมเคยมาขอข้อมูลเพื่อทำข่าวหลายครั้ง และทั้งสองก็เป็นแหล่งข่าวที่ดี มีน้ำใจให้กับน้องๆ นักข่าวเสมอมา

เมื่อเดินไปทันจนเห็นหลังพี่ราตรีอยู่ใกล้ๆ ผมจึงกล่าวทัก และรู้ว่าพี่ราตรีกำลังใช้ ‘ช่องทางธรรมชาติ’เข้าไปทำข่าวและ ‘ทำธุระ’ ในเขตเขมรแดง โดยเดินลัดเลาะฝ่าดงอ้อย ไร่ข้าวโพดที่ชาวบ้านแถบนั้นปลูกเอาไว้ มันโตจนสูงท่วมหัว ช่วยบังสายตาได้ดี เราไม่มีรีรอขอติดตามพี่ราตรีเข้าไปด้วย

พี่ราตรีไม่ปฏิเสธ แต่บอกให้เราเดินหลบๆ ไม่ให้ทหารไทยที่ตั้งด่านอยู่ไม่ไกลมองเห็น ไม่งั้นเราจะถูกหิ้วปีกออกจากพื้นที่ แถมอาจจะโดนข้อหาต่างๆ ได้ เพราะชายแดนแถบกัมพูชาเป็นพื้นที่ประกาศเขต ‘กฎอัยการศึก’

ผมและนนท์ทั้งก้มทั้งมุดดงข้าวโพดจนหลบด่านทหารไทยเข้าไปในเขตเขมรแดงได้ ได้พูดคุยสัมภาษณ์ชาวบ้านที่มีอาชีพทำขาปลอม (ชาวบ้านเหยียบกับระเบิดขาขาดบ่อยๆ ) คุยกับทหารเขมรแดงระดับล่างที่ขับรถบรรทุกดินระเบิด แต่ดันเผลอไปสูบบุหรี่จนทำให้เชื้อปะทุขึ้นมา รถเกือบวอดทั้งคัน แต่โชคดีที่เป็นดินระเบิดแรงดันต่ำ ไม่งั้นคงวอดเป็นจุลทั้งคนทั้งรถและยังได้ถ่ายรูปบ้านเรือนชาวเขมรแดงที่ใช้ไม้จากลังอาวุธเอามาประกอบเป็นฝาบ้านและหน้าต่าง

ภาพจากแฟนเพจ Indochina Publishing Group
สกู๊ปข่าวชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเต็มหน้า เรียกเสียงฮือฮาจากนักข่าวชายแดนสำนักอื่นๆ ที่เข้ามาเกาะติดสถานการณ์ในแถบชายแดน ในทำนองว่า “มันเข้าไปได้อย่างไรวะ?”
แน่นอนว่า ถ้าไม่มีพี่ราตรี และไม่มีช่องทางธรรมชาติแล้ว ผมและนนท์ก็คงจะเข้าไปทำข่าวในเขตเขมรแดงไม่ได้ โดยเฉพาะพี่ราตรี เพราะหากเป็นนักข่าวต่างประเทศหากจะเข้าไปทำข่าวในเขตเขมรแดงก็อาจจะต้องมีค่าติดต่อประสานงาน รวมทั้งค่านำทางในระดับหลักหมื่น และไม่ใช่ว่าใครจะทะเล่อทะล่าเข้าไปได้ง่ายๆ แถมยังอาจจะได้กิน ‘กับ’ ฟรีๆ โดยไม่ต้องกินข้าวอีกด้วย

สู่สมรภูมิ ‘ไพลินที่สิ้นแสง’

เสร็จจากทริปข่าวครั้งนั้นแล้ว ไม่กี่เดือนต่อมา (ประมาณเมษายน2537) ผมและนนท์ตั้งเป้าหมายว่าจะไป ‘เมืองไพลิน’ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นอีกแห่งของเขมรแดงให้ได้ เมืองไพลินถือว่าเป็นเมืองเศรษฐกิจของเขมรแดง อยู่ติดชายแดนไทยด้าน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เพราะที่นี่เป็นแหล่งพลอยแดงที่มีชื่อเสียง นักลงทุนไทยเข้าไปทำเหมืองพลอยมานานนับสิบปี บางรายเข้าไปทำไม้ ค้าขายจนร่ำรวยทั้งเขมรแดงและคนไทย รัฐบาลฮุนเซนจึงส่งกำลังเข้ามาตีเมืองไพลิน

ไปทำข่าวครั้งนี้ นอกจากผมกับนนท์แล้ว ยังมี ‘น้อย’ เจิดศักดิ์ แสงทองเจริญ จากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก (ศรีราชา) นสพ.ผู้จัดการร่วมเดินทางด้วย

ก่อนข้ามชายแดน 1 คืน นนท์มีท่าทางตกใจ บอกทีมงานว่า “ตายห่า ผมเบิกเงินทำข่าวผิด ทำไงดี เพราะเงินที่เบิกมาคงไม่พอไปไพลินแน่”

ผมจำไม่ได้ว่านนท์เบิกเงินจากสำนักงานเพื่อใช้เป็นค่าที่พัก อาหาร ค่าเดินทางเท่าไหร่ เพราะนนท์เป็นคนตั้งเรื่องเบิกเงินสำรอง แต่ก็รับรู้ร่วมกันว่าเงินคงจะไม่พอแน่ๆ เพราะเหลือเงินไม่ถึงหมื่นบาท และยังไม่รู้ว่าเราจะต้องใช้จ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกหรือเป็น ‘ค่าเบิกทาง’ อะไรอีกบ้าง เพราะสถานการณ์ในยามสงครามมันเอาแน่นอนอะไรไม่ได้

แต่ปัญหาก็แก้ไม่ยาก วันรุ่งขึ้น น้อยนิมนต์หลวงพ่อที่ห้อยออกมา แล้วนำสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท (ตอนนั้นราว 6,000 บาท)เอาไปขายที่ร้านทองในเมืองอรัญฯ ก่อนข้ามด่านปอยเปตของเขมรเข้าไป แต่ครั้งนี้ไปตามช่องทางปกติ เพราะว่าเราจะต้องผ่านด่านตรวจของเขมรฝ่ายรัฐบาลหลายด่าน หากไม่ทำเอกสารข้ามแดนติดตัวอาจถูกจับได้

ภาพจากแฟนเพจ Indochina Publishing Group
ครั้งนี้เทพีแห่งโชคยังเข้าข้างเหมือนเดิม เพราะตอนแรกเราวางแผนว่าจะไปหาแหล่งข่าวที่เป็นทหารฝ่ายรัฐบาลเพื่อประสานการเดินทางเข้าเมืองไพลิน แต่ไม่เจอ แต่โชคดีเหมือนที่บอก เพราะเจอทหารนายหนึ่งพูดไทยชัด เขาชื่อ “สุทน” เมื่อรู้ความประสงค์ของเรา เขาจึงอาสาพาไป และเขาจะได้ไปเยี่ยมญาติที่พระตะบองก่อนถึงเมืองไพลินด้วย
รุ่งเช้าเรา 4 คน เช่ารถแท็กซี่เขมรเดินทางไปเมืองพระตะบองระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร สภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ รถยนต์วิ่งด๊อกแด๊กหลบหลุมขนมครกยักษ์เกือบตลอดเส้นทาง ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ตอนเย็นหาโรงแรมราคาถูกพัก จิบเบียร์เขมรยี่ห้อ ‘อังกอร์’ พร้อมวางแผนการเดินทางเข้าไพลินแต่เช้า

เราฝากความหวังไว้ที่สุทนเพราะเขาเป็นทหารคงเจรจากันไม่ยาก และโชคก็เข้าข้างอีกครั้ง เพราะในช่วงนั้นทหารฝ่ายรัฐบาลยึดเมืองไพลินได้แล้ว และกำลังส่งทหาร เสบียง น้ำมัน ฯลฯ เข้าไปเสริมทัพที่เมืองไพลิน

เช้าวันนั้นเราซื้อเสบียง เอาแบบที่พอจะหอบหิ้วไปได้ เพราะรู้มาว่าอาจจะต้องเดินเท้าเข้าเมืองไพลิน จึงเลือกของแห้งๆ และมีน้ำหนักเบา คือ ขนมปังบาแกต ปลากระป๋อง บะหมี่แห้ง น้ำขวด และมีเสื้อผ้าสำรองคนละชุด

หลังจากรอสุทนไปติดต่อที่ค่ายทหารในเมืองพระตะบองนานหลายชั่วโมง พอสายๆ จึงได้ออกเดินทาง โดยมีรถบรรทุกน้ำมันเป็นพาหนะ พวกเรา 4 คน พร้อมทหาร 1 หมู่ ประมาณ 12-13 คน เกาะรถน้ำมันเข้าไป หาที่ปีนป่าย ยึดเกาะให้สะดวกมือ เส้นทางที่ผ่านเป็นป่าละเมาะ ทหารเขมรตัดเส้นทางใหม่ เพราะเส้นทางเดิมเขมรแดงคงจะวางทุ่นระเบิดดักเอาไว้หมดแล้ว

ระยะทางจากพระตะบอง-เมืองไพลิน ตามเส้นทางปกติ ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร แต่วันนี้เราเดินทางไปไม่ถึง เพราะรถบรรทุกน้ำมันจะมาส่งแค่ฐานปืนใหญ่ อยู่ห่างจากเมืองไพลินประมาณ 20 กิโลเมตร ประกอบกับช่วงนั้นใกล้ค่ำแล้ว หัวหน้าทหารที่ฐานให้พวกเรานอนพักที่นี่ แถมยังมีน้ำใจจัดข้าวปลาอาหารมื้อค่ำให้พวกเราด้วย เรางัดเสบียงออกมาสมทบ เสร็จจากอาหาร ฐานปืนใหญ่แบบลากจูงโชว์มโหรสพให้พวกเราได้ดูเป็นขวัญตา

น้อยเตรียมตั้งกล้องถ่ายภาพไม่ไกลจากฐาน แต่แรงสะเทือนจากอำนาจปืนใหญ่ที่ยิงติดต่อกันเกือบสิบนัด ทำให้น้อยเซเหมือนโดนช้างถีบ กล้องเกือบหลุดจากมือ นนท์หัวเราะชอบใจเมื่อเห็นอาการของน้อย ปืนใหญ่ชุดนี้ทหารเขมรยิงกดดัน และข่มขวัญทหารเขมรแดงที่อาจจะเกาะติดอยู่รอบๆ เมืองไพลิน

รุ่งเช้า มีเสียงปืนดังประปราย ตอนแรกเราคิดว่าคงจะมีการปะทะกันด้วยปืนเล็ก แต่เป็นเสียงปืนจากทหารที่ออกไปล่าสัตว์ พวกเรากินอาหารเช้าจากเสบียงที่เหลืออยู่ แล้วออกเดินเท้าพร้อมกับทหาร 1 หมู่ ที่แปลกตาสำหรับพวกเราก็คือ ในขบวนทหารนี้ มี ‘แม่ค้าสงคราม’ หลายนาง หาบกระจาดใส่ข้าวของต่างๆ เอาไปขายในสนามรบด้วย มีทั้งน้ำอัดลมกระป๋อง เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มชูกำลัง ขนม ของขบเคี้ยวต่างๆ

อันที่แม่ค้าสงครามเหล่านี้ต่างเป็นลูกเมียของทหาร เมื่อหัวหน้าครอบครัวไปรบ พวกเธอจึงติดสอยห้อยตามเอาข้าวของไปขายด้วย บางนางที่เราคุยด้วย เป็นคนพิการ ขาขาดเพราะเหยียบกับระเบิด แต่ความจนทำให้เธอต้องดิ้นรนแบกหามเอาข้าวของไปขายในสนามรบ

กลางวันแดดตรงหัว อากาศร้อนจัด น้ำดื่มในขวดพลาสติกที่เตรียมมาเหลือหยดสุดท้าย ตอนแรกพวกเราเตรียมควักเงินจะซื้อน้ำอัดลมจากแม่ค้าสงคราม แต่พอมองเห็นทหารหนุ่มๆ งัดเอากระติกน้ำสนามออกมากรอกน้ำจากแอ่งน้ำบนเส้นทางลากไม้ที่เกิดจากล้อรถยนต์ พวกเราจึงซื้อไม่ลง และทำตามทหารหนุ่มบ้าง

นนท์เป็นคนแรกที่เอาขวดพลาสติกที่ว่างเปล่ามากรอกน้ำจากแอ่งนั้น มันมีสีน้ำตาลเหมือนกับน้ำตาลสดที่วางขายแถวเมืองเพชรบุรี รสชาติมันไม่แย่นัก พอดื่มดับกระหายได้ พวกเราทุกคนอาศัยน้ำจากแอ่งนี้ประทังชีวิต และล้างหน้าตาพอให้สดชื่นเพราะอากาศในเดือนเมษายนร้อนราวกับอยู่ใกล้ขุมนรก

บางช่วงทหารที่นำทางส่งสัญญาณให้ทุกคนหยุดนิ่ง แล้วพาเดินมุดดงไม้เข้าไป คราวนี้เขาสั่งให้ทุกคนหยุดอยู่กับที่ เขาคงได้ยินสัญญาณอันตรายบางอย่าง ทุกคนทำตามอย่างว่าง่าย แม้แต่เสียงลมหายใจก็แทบจะหยุดยิ่งไปด้วย...นานเท่านาน...จนเขาสั่งให้ทุกคนเดินต่อไป และโผล่ออกมาตรงถนนที่พ่อค้าไม้ชาวไทยตัดเอาไว้เพื่อชักลากซุง พวกเราเห็นกองซุงขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 3 คนโอบนอนนิ่งสนิท พ่อค้าคงขนไม้ออกทางชายแดนไทยด้านจันทบุรีไม่ทันก่อนทหารรัฐบาลยึดเมืองไพลิน

เส้นทางก่อนเข้าเมืองไพลินพ้นเขตอันตราย ทหารบางคนเดินผิวปากอารมณ์ดีราวกับจะไปตากอากาศในสนามรบ บางคนหิ้วปลอกลูกปืนใหญ่ที่ทำจากทองเหลืองเพื่อรวบรวมเอาไปขายเป็นรายได้พิเศษ เพราะเงินเดือนระดับพลทหารไม่เกิน 200-300 บาท บางคนจับตะกวดมาได้ มันยังไม่ตาย เขาเอาเชือกมามัดแล้วเอาคล้องไว้ที่ไหล่ นนท์ถ่ายภาพนี้ (ภายหลังผมเขียนสกู๊ปลงในนิตยสารไฮคลาส บก.ใช้ภาพนี้เป็นภาพใหญ่เปิดเรื่อง)

เราถึงไพลินในตอนเย็น พวกเราพากันอาบน้ำในลำธารอย่างสดชื่น ตอนค่ำทหารเขมรมาเชิญพวกเราไปกินข้าวกับหัวหน้าทหารเขมรเป็นนายพล ชื่อ‘ไล้ วีระ’ ก่อนนั้นเราเห็นทหารเขมร 2 คน ช่วยกันหิ้ว ‘สุนัข’ที่โดนทุบหัวจนแน่นิ่งผ่านหน้าเราไป คงจะเอาไปทำอาหารมื้อเย็น เราภาวนาว่าคงจะไม่ใช่อาหารพิเศษสำหรับเรา

แต่นนท์ทำท่าทางเหมือนจะลูบปาก เพราะเขาเคยเหล่าให้ฟังว่าเคยกินอาหารพิเศษพวกนี้เหมือนกัน และตอนเขาไปทำข่าวเรื่องเปิบเนื้อสุนัขที่สกลนคร เขายังบอกว่าคนที่ชำแหละสุนัขหยิบเอา ‘อุ้งตีนหมา’ ที่ย่างเสร็จใหม่ๆ ส่งกลิ่นหอมฉุยส่งมาให้เขากิน นัยว่าเป็นการ ‘ลองใจ’ จากเจ้าถิ่นว่าจะรังเกียจหรือเปล่า ? และเขาก็ ‘ซื้อใจ’ เจ้าถิ่นจนได้สกู๊ปชิ้นเยี่ยมออกมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์

ค่ำคืนนั้นในบังเกอร์ของนายพลไล้ วีระ เราไม่ได้กินอาหารพิเศษ แต่ได้กินเป็ดผัดแห้งๆ เหมือนเป็ดพะโล้รสชาติอร่อย คืนนั้นเรานอนในบ้านเขมรแดงร้างเพื่อความปลอดภัย เพราะเขมรแดงที่เกาะติดเมืองไพลินอาจจะยิงปืนถล่มตอนกลางคืนได้ เพราะยังมีเศษกระจกแตกเกลื่อนบ้าน คงจะโดนสะเก็ดปืนจากฝ่ายไหนก้ไม่รู้ เราช่วยกันเก็บกวาดแล้วนอนกับพื้นด้วยความอ่อนล้า ไม่มีเสื่อหรือหมอนมุ้ง เพราะไม่เจ้าของบ้านหรือทหารเขมรคงจะหอบหิ้วเอาไปหมดแล้ว ส่วนนายพลไล้ วีระ นอนในบังเกอร์ที่ทำจากท่อนซุงแข็งแรง

รุ่งเช้า เราออกเดินสำรวจตรวจตราในเมืองไพลิน มีโรงแรมรองรับแขกเมืองของเขมรแดงเป็นอาคารสูง 3 ชั้น เรายังได้ไปเดินดูวัดไพลิน มีรูปทรงแบบวัดของชาวไทใหญ่หรือ ‘กุลา’ ที่เข้ามาขุดหาพลอยในเมืองไพลินตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อน ยังสำรวจไม่ทั่วเมือง เราต้องรีบเตรียมตัวไปยังลานจอด ฮ.ที่จะมารับคนเจ็บกลับไปเมืองพระตะบอง เพราะหากไม่ไปกับ ฮ.เที่ยวนี้แล้ว เราก็ไม่รู้ว่าจะติดอยู่ที่เมืองไพลินอีกนานแค่ไหน

ระหว่างทางนนท์เก็บลูกมะม่วงลูกเล็กๆ ที่หล่นอยู่ใต้ต้นออกมาให้พวกเราได้แทะพอได้ขบเคี้ยวอะไรบ้าง เพราะเสบียงที่เตรียมมาหมดแล้ว ส่วนลูกมะม่วงบนต้นก็ไม่เหลือแล้ว

ภาพจากแฟนเพจ Indochina Publishing Group
กลับจากไพลินครั้งนี้ นนท์นำเรื่องราวมาเขียนเป็นสกู๊ปเต็มหน้าลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ช่วงกลางเดือนเมษายน 2537 ใช้ชื่อเรื่องว่า ‘เดินทางกลางดงควันปืน สู่สมรภูมิไพลินที่สิ้นแสง’ บรรยายเรื่องราวความยากลำบากในการเดินทางไปทำข่าวครั้งนี้

หมดจากทริปนี้แล้ว ผมกับนนท์ยังตระเวนทำข่าวชายแดนอีกหลายครั้ง มีทั้งข้ามช่องทางธรรมชาติ และช่องทางปกติ บางครั้งไปพนมเปญ กัมปงโสม ชายแดนเวียดนาม ชายแดนพม่า ข้ามไปเมืองมอญด้านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ข้ามแม่สายไปเชียงตุง ฯลฯ พบปะผู้คน ย่ำราตรีดูชีวิตแมลงกลางคืน หมดเหล้าหมดเบียร์ไปนับร้อยไหพันจอก

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้นหลายปี นนท์ก็เคยมีเรื่องราวระทึกใจเมื่อครั้งไปทำข่าว ‘เนิน 491’ ที่ชายแดนไทย-พม่าด้าน อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร โดยในช่วงปี 2535 ทหารพม่าขับไล่กองกำลังกะเหรี่ยงและบุกยึดเนิน 491 ซึ่งเป็นเขตแดนไทย จนทำท่าจะรบกันขึ้น แต่ภายหลังไทยกับพม่าได้เจรจากันจนพม่ายอมถอนกำลังออกมา และนนท์ได้เข้าไปทำข่าวหลังจากนั้น โดยใช้ช่องทางธรรมชาติ แต่ไม่รู้หรือมองเขตแดนไม่เห็น นนท์เดินพลัดเข้าไปในฐานของทหารพม่า ขณะที่โชเฟอร์รถยนต์ที่ไปด้วยได้ถอยหลังกลับทันที แล้วรีบขับไปแจ้งยังฐาน ตชด.ของไทย

ตชด.จึงวิทยุไปบอกทหารพม่าให้ช่วยปล่อยตัวออกมา พร้อมกับนำข้าวสาร 1 กระสอบเป็นค่าไถ่ตัว ภายหลังเมื่อนนท์กลับมาถึงกรุงเทพฯ จึงนำเรื่องราวระทึกใจครั้งนั้นมาเขียนเป็นสกู๊ป บอกเล่าเหตุการณ์ว่าได้พูดคุยกับหัวหน้าทหารพม่าด้วยความเข้าใจว่าไม่ได้เจตนา แถมยังได้นั่งชมการเล่นวอลเล่ย์บอลของทหารพม่าฆ่าเวลาระหว่างรอรถหุ้มเกราะของ ตชด.มารับตัวกลับไปด้วย

หลังจากปี 2542 ศูนย์ข้อมูลอินโดจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการยุบตัวเองเพราะพิษเศรษฐกิจ นนท์ยังทำสกู๊ปข่าวและข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนให้กับ นสพ.ผู้จัดการรายวัน มีข่าวชิ้นโบว์แดงที่ส่งผลสะเทือนต่อสังคม เช่น ข่าวทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน จ.สมุทรปราการ จนในภายหลังนักการเมืองคนดังแห่งเมืองปากน้ำต้องใช้ ‘ช่องทางธรรมชาติ’ หนีคดีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ถือเป็นนักข่าวที่มากประสบการณ์ มีฝีมือ ทำข่าวได้หลายรูปแบบ เป็นตำราที่อยู่เหนือตำรา ข้าน้อยขอคารวะ 1 จอก !!

1 กุมภาพันธ์ 2564
บุญล้ำ ลำตะคอง

โพสต์ต้นฉบับ “ไปทำข่าวกับนนท์ตามช่องทางธรรมชาติ”


กำลังโหลดความคิดเห็น