จบไม่ลง “อัษฎางค์” ตีแสกหน้า “ตี๋หนึ่ง” ให้ร้ายในหลวง เรื่อง วัคซีนพระราชทาน “อดีตรองอธิการ มธ.” ชี้ ทั้งคำพูด “ทอน” และระหว่างบรรทัด ชัดเจนมากเข้าข่าย “กล่าวหา” ตั้งข้อสังเกต “ก้าวหน้า-3 นิ้ว-ก้าวไกล” มุ่งโจมตีสถาบัน
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (28 ม.ค. 64) เฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค ของ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุว่า
“วัคซีนพระราชทาน
คำให้ร้ายในหลวงของตี๋หนึ่ง
ที่มักแสดงความหวังดีแต่ความจริงประสงค์ร้าย
คำว่า วัคซีนพระราชทาน ตามภาษาชาวบ้านน่าจะต้องหมายถึงการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นตัวตั้งตัวตีในการสั่งซื้อ ผลิตและจำหน่ายจ่ายแจก
แต่ความเป็นจริงที่ตี๋หนึ่งไม่พูด ซึ่งอาจจะมาจากการหวังดีประสงค์ร้าย หรือไม่รู้จริงแต่ชอบพูดให้ร้าย คือ...
วัคซีนแอสตราเซนเนกา ซึ่งได้รับการวิจัยและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ร่วมพัฒนากับบริษัท แอสตราเซนเนกา จากประเทศอังกฤษนั้น เป็นผู้เลือก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ให้เป็นฐานการผลิตวัคซีน ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 โดยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา ใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์ มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุด้วยเทคโนโลยีนี้
สิ่งที่ สยามไบโอไซเอนซ์ ต้องทำคือ การปรับแผนการผลิตยาชีววัตถุเดิม เพื่อการผลิตวัคซีนให้ได้ตรงตามมาตรฐานของแอสตราเซเนกาในเวลาอันรวดเร็วที่สุด
เพราะฉะนั้นจะปลุกปั้นผู้คนด้อยปัญญาว่า เป็นวัคซีนพระราชทาน ที่ใช้เงินจากภาษีของประชาชน แต่ให้เครดิตเป็นวัคซีนพระราชทานนั้น คือ การให้ร้ายกันอย่างชัดเจน
ถึงแม้ สยามไบโอไซเอนซ์ จะมีในหลวงถือหุ้นบริษัท แต่วัคซีนตัวนี้มาจากประเทศอังกฤษ ไม่ใช่จากสถาบันพระมหากษัตริย์ และบริษัทจากอังกฤษเป็นผู้คัดเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ด้วยตนเอง เพราะเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของบริษัท รวมทั้งเห็นว่าเป็นบริษัทที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่เป็นกิจการที่มุ่งหวังในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งการที่แอสตราเซนเนกาเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 นี้ ยังจะช่วยให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนใช้ได้เอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งวัคซีนจากต่างประเทศอีกด้วย
............................................................................
มาทำความเข้าใจกับวัคซีนกันหน่อยตี๋หนึ่ง
การฉีดวัคซีน เป็นการกระตุ้นให้คนสร้างภูมิคุ้มกัน แต่...
การมีภูมิคุ้นกันไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันโรคได้ 100% รวมทั้งวัคซีนโควิด 19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ข้อมูลใดๆ ที่สามารถยืนยันว่าป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อโควิดได้ แต่....
สิ่งที่สามารถบอกได้เมื่อฉีดวัคซีน คือ โอกาสติดเชื้อน้อยลง โอกาสป่วยน้อยลง ถ้าเกิดติดเชื้อและป่วยก็จะมีอาการไม่รุนแรง หายป่วยไว รวมทั้งโอกาสเสียชีวิตน้อยลง กว่าการไม่ฉีดวัคซีน
ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซนเนกา ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดของอังกฤษ ร่วมพัฒนากับบริษัท แอสตราเซนเนกา ในช่วงแรกมีข่าวว่า มีประสิทธิภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 70% ซึ่งปัจจุบันบางข่าวแจ้งว่า เกือบ 90% ซึ่งในทางการแพทย์ วัคซีนใดๆ ที่มีประสิทธิภาพ 50% ขึ้นไป ไม่ว่าจะ 70 หรือ 90 ก็ถือว่าผ่านมาตรฐานและใช้ได้เหมือนกัน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดที่เราใช้กันมานานแสนนานก็มีประสิทธิภาพเพียง 50% เท่านั้น
ผู้ที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน คือ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน
สาเหตุที่ต้องฉีดให้กับคนเหล่านั้นก่อน เพราะบุคลากรทางการแพทย์ มีหน้าที่ต้องดูแลผู้ป่วย ส่วนผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวนั้นถ้าติดเชื้อโควิดมักมีอาการรุนแรงถึงชีวิต
ดังเช่นที่ในช่วงแรกมีข่าวว่า รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค นั้น ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อใช้ป้องกันหรือควบคุมโควิด แต่เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานอยู่กับผู้ป่วย
............................................................................
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีการฉีดวัคซีนแล้ว เราก็จะยังคงประมาทไม่ได้อยู่ดี เพราะวัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะมันไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อและการระบาดได้ 100%
เพราะฉะนั้น ที่เรายังคงต้องทำต่อไป คือ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และอยู่ห่าง แบบนี้ไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งมาตรการนี้ อาจจะให้ผลดีและน่าเชื่อถือกว่าวัคซีนตัวไหนๆ ในโลกในขณะนี้เสียอีก”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุว่า
“แค่สงสัยการทำงานเรื่องวัคซีนของรัฐบาลก็กลับถูกดำเนินคดี คุณคิดว่าที่เขากล่าวหาในแต่ละจุดนั้น เข้าข่ายความผิดจริงหรือไม่? ไปย้อนดูแล้วช่วยตัดสินกันหน่อยครับ”
คุณธนาธร โพสต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วใน face book หลังจากออกมา “พูดสด” หัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย”
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ยังไม่ทันจะต้องคิดอะไร ก็รู้สึกว่า ข้อความนี้บิดเบือนเสียแล้วครับ เพราะคุณธนาธรไม่ใช่แค่ “สงสัย” การทำงานเรื่องวัคซีนของรัฐบาล แต่ คุณธนาธร พูดและโยงไปถึงอะไรต่ออะไรมากกว่านั้นมาก ผมย้อนกลับไปดูอีกครั้งแล้ว ขอสรุปเหมือนเดิมว่า คุณธนาธรตั้งข้อกล่าวหา สรุปความได้ง่ายๆ ดังนี้
“รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจทำข้อตกลงซื้อวัคซีนโควิด จากบริษัท Astra Zeneca เป็นหลัก เพียงบริษัทเดียว โดยให้บริษัท Siam Bioscience ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ เป็นเจ้าของ เป็นผู้ผลิตวัคซีนในประเทศไทยให้กับ Astra Zeneca
รัฐบาลเลือกบริษัท Siam Bioscience โดยไม่ได้มีการพิจารณาให้โอกาสบริษัทอื่นๆ รวมทั้งองค์การเภสัช ทั้งที่บริษัท Siam Bioscience รวมทั้งบริษัทลูกทุกบริษัท ยังไม่เคยประสบผลสำเร็จทางธุรกิจเลย มีตัวเลขขาดทุนทุกปี นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้เงินช่วยเหลือ บริษัท Siam Biosciene อีก 1,490 ล้านบาทด้วย
ผลจากการทำเช่นนี้ คือ ประชาชนได้รับวัคซีนช้าเกินไป และครอบคลุมจำนวนประชาชนได้น้อย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาติดต่อหลายบริษัท และฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เร็วกว่า ครอบคลุมได้มากกว่า ดังนั้น ประเทศเหล่านี้จะปลอดจากโควิดได้ก่อนประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไป”
นั่นคือ ข้อกล่าวหาชัดๆ นะครับ ส่วน implication หรือนัยยะที่ต้องอ่านระหว่างบรรทัด คือ
“รัฐบาลทำเช่นนี้ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท Siam Bioscience ซึ่งไม่เคยประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ ที่ตั้งขึ้นจากพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทรงเป็นเจ้าของ และยังช่วยเสริมพระบารมีด้วยว่า วัคซีนนี้คือ “วัคซีน พระราชทาน” โดยละเลยประโยชน์ที่ประชาชนควรจะได้รับ ประชาชนจึงกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ และที่ได้ประโยชน์คือ บริษัท Siam Bioscience”
นั่นคือ ข้อกล่าวหาของคุณธนาธร ทั้งที่ชัดเจนและที่ต้องอ่านระหว่างบรรทัด
ล่าสุด คุณธนาธร ก็ยังไม่หยุด ยังคงออกมาตั้งคำถามที่ความจริงมีคนทั้งที่เป็นแพทย์และผู้ที่รู้จริงอื่นๆ ออกมาอธิบายไปทุกประเด็นแล้ว แต่ คุณธนาธร ยังพยายามไม่เข้าใจ ยังคงยืนยันว่า จะต้องให้ประชาชนได้รับวัคซีนเร็วที่สุด ครอบคลุมจำนวนประชากรให้ได้มากที่สุด โดยไม่กล่าวถึงประเด็นเรื่องความเสี่ยงของวัคซีนที่มีเวลาการพัฒนาและทดสอบน้อยมาก และไม่พูดถึงประเด็นเรื่องการจัดการปัญหาโควิดได้ดีของประเทศไทย จนมีผู้ติดเชื้อน้อยมาก แต่กลับกล่าวหาว่า รัฐบาลประมาท และ ยัง “ไม่สามารถจัดการกับการแพร่ระบาดได้อย่างเบ็ดเสร็จตามที่คาดไว้”
คุณธนาธร ยังอดย้ำข้อกล่าวหาเดิมไม่ได้ โดยเขียนข้อความว่า
“แต่สิ่งที่ผมกำลังตั้งคำถาม คือ กระบวนการคัดเลือกบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งมาทำภารกิจนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการเปรียบเทียบคุณสมบัติกับรายอื่นๆ อย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่”
ยังคงต้องการโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ผมได้คุยกับหลานซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัท โอเวชั่น สตูดิโอ จำกัด ซึ่งเคยไปถ่ายทำวิดีโอให้กับบริษัท Siam Bioscience เขาเล่าว่า บริษัทนี้มีแต่คนเก่งๆ ทุกคนทำงานด้วยใจ และมีความภูมิใจที่ทำงานที่นี่
เมื่อพิจารณาจากการกระทำและเจตนาของคุณธนาธร วิญญูชนที่แม้ไม่ใช่นักกฎหมายน่าจะบอกได้ว่า เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อปีที่แล้ว ม็อบ 3 นิ้วรุกหนัก โดยคณะก้าวหน้าไม่ได้เปิดตัวมากไปกว่าการไปปรากฏตัวในม็อบ และการให้ความเห็นสนับสนุนเมื่อมีโอกาส แต่หลังจากปีใหม่เป็นต้นมา บทบาทของคณะก้าวหน้าเปลี่ยนไป
ช่วงนี้คณะก้าวหน้า เป็นผู้ออกหน้าด้วยการเปิดประเด็นก่อน เริ่มจากคุณธนาธรเปิดประเด็นเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน”
จากนั้น อ.ปิยบุตร (แสงกนกกุล) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามเชิงคัดค้านเรื่องโครงการราชทัณฑ์ปันสุขของพระเจ้าอยู่หัว ว่าไม่มีกฎหมายรองรับ และออกมาตั้งคำถามว่า เหตุใดพระมหากษัตริย์จึงไม่ต้องปฏิญาณตนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เหมือนอย่างประธานาธิบดี หรือประมุขของประเทศอื่นๆ
จากนั้น ม็อบขนาดเล็กในยามโควิดก็เกิดขึ้น เพนกวิน ไปประท้วงบริษัท Siam Bioscience ที่สำนักงานของบริษัท ด้วยประเด็นเดียวกัน และข้อมูลชุดเดียวกันกับของคุณธนาธร
ไมค์ ระยอง ก็ไปประท้วงที่กระทรวงการคลัง ให้ตัดงบประมาณที่ให้พระมหากษัตริย์ มาช่วยประชาชนในช่วงโควิดแพร่ระบาด
รุ้ง กับ ทราย ก็เอาผ้าอนามัยและชุดชั้นในไปให้ทัณฑสถานหญิง เรือนจำคลองเปรม เหมือนเป็นการประชด แต่ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าไปภายในเรือนจำโดยเจ้าหน้าอ้างว่าเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด
ยอมรับได้แล้วว่า คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และแกนนำม็อบ 3 นิ้ว เคลื่อนไหวร่วมกัน ทำงานสอดรับกันเป็นทีม จะเรียกว่าเป็นเนื้อเดียวกันก็ว่าได้
ภารกิจของคณะก้าวหน้า และม็อบ 3 นิ้วขณะนี้ ดูเหมือนจะมุ่งอยู่เรื่องเดียว คือ เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ จะโจมตีในทุกโอกาส ในทุกช่องทางที่มี ส่วนพรรคก้าวไกลก็ไปมุ่งเน้นเรื่องการเสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
เลิกพูดได้แล้วว่า ทำเพราะความหวังดีต่อสถาบันเพราะคนที่เขาหวังดีต่อกันเขาไม่ปฏิบัติต่อกันแบบนี้
ยิ่งไม่ต้องอ้างว่า ทำเพื่อประชาชน
หากผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่ผ่านมา ยังไม่ทำให้เข้าใจอีกว่า ประชาชนต้องการอะไร ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ทุกๆ ครั้ง ในทุกระดับ ประชาชนจำเป็นจะต้องส่งสัญญาณและพิสูจน์กันให้ชัดกว่านี้ จนกว่าพวกเขาจะเข้าใจ และเลิกหาเรื่องตอแยกับองค์พระมหากษัตริย์ทุกๆพระองค์เสียที”
แน่นอน, ยิ่งคุ้ยแคะแกะประเด็นมากขึ้นเท่าใด ยิ่งเห็นได้ชัดในเจตนาของ “ธนาธร” ในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ วัคซีนของรัฐบาล จนนำไปสู่การถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยเฉพาะ ความผิดหมิ่นเบื้องสูง ตาม ม.112
นอกจากนี้ ประเด็นของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการ มธ. ที่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ก็น่ารับฟัง กรณีพักหลังคณะก้าวหน้า ไม่ทำตัวอยู่เบื้องหลัง เหมือนเมื่อปีที่ผ่านมาอีกแล้ว จนดูเหมือน คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และแกนนำม็อบ 3 นิ้ว เคลื่อนไหวอย่างสอดรับกัน ทำงานสอดรับกันเป็นทีม จนเรียกได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน
อย่างนี้แล้ว จะถือเป็นการเปิดหน้าชนอย่างเต็มที่แล้วได้หรือไม่ ถ้าใช่ การเมืองไทย กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายระดับสูงอย่างแน่นอน เพราะการต่อสู้จะไม่เพียงแย่งอำนาจรัฐเหมือนที่ผ่านมา หากแต่ยังเดิมพันสูงด้วยการเปลี่ยนแปลงประเทศอีกด้วย อย่างที่พวกเขาเคยประกาศไว้ เตรียมรับมือกันเอาไว้แล้วหรือยัง!?