คณะอวดฉลาดเอาใหญ่! “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” จวก “ทอน” โชว์โง่ แขวะวัคซีนพระราชทาน “ปิยบุตร” เสนอ 7 ข้อ “กษัตริย์” ไม่ควรทำธุรกิจ-บริหารราชการฯ “ช่อ” ก็ข้องใจ “หมอวรงค์” จงใจกระทบสถาบันฯ “อดีตเพื่อน” จับไต๋ ชงประเด็น “ม็อบ”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (19 ม.ค. 64) เฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ของนายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความตอบโต้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ประเด็นวัคซีนพระราชทาน
โดยระบุว่า “ตกใจกับวิธีคิดของคนที่อยากเป็นผู้นำทางการเมืองของประเทศไทย เก่งแต่ประดิษฐ์วาทกรรม สรรหาคำที่คิดว่าสวยหรู แต่โชว์โง่
วัคซีนพระราชทานอยากจะสื่ออะไร ทำไมต้องข้องแวะกับคำว่าพระราชทาน ที่หมายถึงสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงให้แก่ประชาชน
อยากจะตำหนิรัฐบาลเรื่องการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิดน้อยไป ช้าไป ไม่ทันกาลก็ว่าไป ตำหนิได้ บ่นได้ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ หรืออยากจะบ่นว่ารัฐบาลทำไมซื้อแต่วัคซีนจากอังกฤษ ทำไมไม่ซื้อของพี่ใหญ่จากมะกัน อยากพูดอะไรเอาให้ชัดๆ เรื่องแค่นี้ก็ยังพูดให้กำกวม แต่เสือกมาแขวะวัคซีนพระราชทาน มันเรื่องอะไร
บริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ เป็นองค์กรที่ในหลวง ร.๙ ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกล ทรงเตรียมสยามไบโอฯ เพื่อเตรียมการวิจัยและผลิตยาให้คนไทย ไม่ต้องงอมืองอเท้าหวังพึ่งจมูกต่างชาติ มันดีเสียยิ่งกว่าดี ไม่ต้องรอพึ่งต่างชาติ
สยามไบโอฯ จะร่วมมือผลิตกับใครไม่สำคัญ สำคัญที่เราคนไทยจะมีวัคซีนใช้ เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่จะผลิตได้เอง แทนที่นักการเมืองจะภูมิใจเหมือนคนไทยทั่วประเทศที่ภาคภูมิใจ กลับมาแขวะวัคซีนพระราชทาน
ไม่น่าเชื่อว่า คำพูดอย่างนี้จะออกมาจากคนที่อยากเป็นผู้นำการเมืองไทย ผู้นำของคนรุ่นใหม่ สิ้นคิด
คนเหล่านี้ พยายามด้อยค่าสิ่งดีๆ ที่พระมหากษัตริย์ทรงทำเพื่อประชาชน”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ก็โพสต์หัวข้อ “[ทำไมกษัตริย์ต้องไม่มีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ?]”
โดยระบุว่า 1. ในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy ผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และต้องเป็นผู้รับผิดชอบ คือ คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ส่วนกษัตริย์เป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ต้องรับผิด แต่รัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯ ต้องเป็นผู้รับผิด
2. หลักการประชาธิปไตยเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจและใช้อำนาจต้องถูกตรวจสอบ มีความรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ หากไม่ต้องการให้กษัตริย์ต้องรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมาย ก็ต้องไม่ให้กษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ
3. รัฐธรรมนูญไทยกำหนดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” เพื่อให้บทบัญญัติดังกล่าวบังเกิดผลได้จริง ก็จำเป็นต้องรักษาสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้มีความเป็นกลางทางการเมือง ป้องกันมิให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ เพราะ ถ้ากษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ ก็ต้องมีความรับผิดชอบตามมา นำมาซึ่งการถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องได้ การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ ส่งผลกระทบในวงกว้าง ย่อมมีคนชอบและมีคนชัง ย่อมมีคนเห็นด้วยและเห็นต่าง ย่อมมีคนได้คนเสีย หากปล่อยให้กษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ ก็อาจกระทบกับสถานะอันเป็นที่ “เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ได้
4. ยกตัวอย่าง หากกษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดิน ในโครงการหรือนโยบายต่างๆ หากมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยหรือได้รับผลร้ายจากโครงการหรือนโยบายนั้น ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ประชาชนต้องพุ่งเป้าไปที่กษัตริย์ หรือหากกษัตริย์เข้ามาประกอบธุรกิจ หากมีผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นคู่แข่ง เขาก็ย่อมตั้งคำถามได้ว่า ธุรกิจของกษัตริย์นั้นได้รับการเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลหรือไม่ กระทบต่อหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการหรือหลักการแข่งขันที่เป็นธรรมหรือไม่ เช่นกัน ผู้บริโภคก็ย่อมเรียกร้อง วิจารณ์ ฟ้องร้องกับธุรกิจเหล่านั้นได้ กรณีทั้งหมดนี้ ย่อมกระทบถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์
5. ใครก็ตามที่อ้างว่าจงรักภักดีจริง ใครก็ตามที่ต้องการปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์จริง จำเป็นต้องช่วยกันป้องกันมิให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ
6. เช่นเดียวกัน หากกษัตริย์ต้องการดำรงรักษาสถานะ “อันเป็นที่เคารพสักการะ” ต้องการมีความคุ้มกันในการไม่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องดำเนินคดี กษัตริย์ก็ต้องไม่เข้าไปมีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ
7. บรรดารัฐมนตรี นักการเมือง สื่อมวลชน ประชาชน ที่สนับสนุนให้กษัตริย์มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ หรืออ้างถึงกษัตริย์อยู่เสมอ หากพวกเขาประสงค์ดี ความประสงค์ดีเช่นว่าอาจส่งผลร้ายต่อสถานะของกษัตริย์ แต่ถ้าหากพวกเขากระทำลงไปเพราะต้องการแอบอิงเพื่อให้ฝักฝ่ายของตนได้ประโยชน์หรือเพื่อทำลายฝักฝ่ายตรงข้ามของตนแล้วล่ะก็ พวกเขาย่อมไม่ใช่ผู้รักษาสถาบันกษัตริย์”
รวมทั้ง น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า
“ฟังแถลงเรื่องวัคซีนพระราชทานของปลัด ก.สาธารณสุขและคณะ แล้วข้องใจมาก “ถ้าไม่ได้รับพระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ เราก็คงไม่พร้อมรับมือโควิด” หมายความว่า รัฐบาลยอมรับว่าล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์โควิด? งบไม่พอ ต้องรอรับบริจาค? แล้วเงินที่กู้มาเอาไปใช้ทำอะไร? #วัคซีนพระราชทาน”
ด้านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“นายธนาธร มีความจงใจกระทบไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ ที่เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องใหญ่และใหม่มาก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่หมายถึงโลกใบนี้ คุณไม่ควรจะเอาการเมืองมายุ่ง จนถึงวันนี้ ถ้าคุณยังไม่รู้จักประเทศไทย ไม่รู้ความรู้สึกของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วยไม่ได้จริงๆ”
เช่นเดียวกับ นายพิชิต ไชยมงคล อดีตโฆษกกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และเคยเคลื่อนไหวร่วมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ครั้งเป็นนักศึกษา ในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “ไม่พูดจะดีกว่า”
เนื้อหาระบุว่า “ถ้าผมเป็น ธนาธร ตอนนี้กับสถานการณ์โควิด-19 ผมจะอยู่นิ่งๆ อันเนื่องมาจากโควิดรอบแรก ธนาธรเคยพูดว่า ได้เตรียมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ แต่มันก็หายไปพร้อมกับลมปากที่ธนาธรพูดจบ
เมื่อวาน ธนาธรออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องโควิดอีกครั้ง
อย่าลืมว่า โควิดรอบแรก ธนาธรติดลบความรับผิดชอบในสิ่งที่พูดอยู่ก่อนเป็นต้นทุน
รอบนี้ ต้นทุนจึงไม่มีในการพูดเรื่องนี้ เพราะมันเหมือนออกมาพูดเพราะกลัวตกกระแสการเมืองในเรื่องดังกล่าว
สิ่งที่พูดก็เหมือนนักวิจารณ์ทั่วไป บวกกับต้นทุนติดลบจากเมื่อก่อน ผมว่าอยู่นิ่งๆ เงียบปากไว้จะดีสุด
สิ่งที่ธนาธรควรพูดกลับไม่พูด เรื่องน้องชาย 20 ล้าน เรื่องแม่รุกที่ป่าสงวน ธนาธร น่าจะแสดงบทบาทผู้นำมากกว่านี้ กลับนิ่งเฉย
แต่มีสิ่งที่ผมแอบคิด คือ ธนาธร ไม่ได้สื่อสารเรื่องโควิดแบบตรงๆ ถึงรัฐบาลอย่างเดียว ผมว่าเขาสื่อสารเรื่องนี้ถึงผู้ชุมนุมเพื่อนำไปเป็นประเด็นเคลื่อนไหวต่างหาก สิ่งที่เขาเสนอเสมือนต้องการเปิดประเด็นเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการพาดพิงบริษัทอื่น นี่เป็นการชี้นำการชุมนุมชัดๆ”
ทั้งนี้ เมื่อช่วงดึก วันที่ 18 ม.ค. 64 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดทางเพจคณะก้าวหน้าในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?” เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่าด้วยการจัดหาและผลิตวัคซีนโควิดในประเทศไทย ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง, ทำไมประเทศไทยได้วัคซีนช้า, และทำไมรัฐบาลถึงจัดหาวัคซีนได้ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีการพาดพิงสถาบันอย่างชัดเจน ดังตัวอย่างบางตอนต่อไปนี้
“...รัฐบาลไทยได้วางการจัดหาวัคซีนสนับสนุนแบ่งเป็นสองทาง นั่นคือ 1) การซื้อจากต่างประเทศ และ 2) การผลิตเองในประเทศ โดยในส่วนของการซื้อจากต่างประเทศ ตอนนี้มีการเซ็นสัญญาไปแล้วสองบริษัท ก็คือ AstraZeneca 26 ล้านโดส และ Sinovac 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่ม CP เข้าไปถือหุ้นอยู่ 15.03%
กรณีที่สำคัญก็คือกรณีของบริษัท AstraZeneca เพราะมีปริมาณการสั่งซื้อมาก มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า ในการเซ็นสัญญาขายวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย เงื่อนไขหนึ่งในสัญญาก็คือการที่ AstraZeneca ทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing Organization - CMO) กับบริษัท Siam Bioscience ที่มีในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ถือหุ้นอยู่ 100% โดยมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย SCG สนับสนุนการดำเนินงานเซ็นสัญญา โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว Siam Bioscience จะต้องจัดให้มีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี โดย 174 ล้านโดสจะส่งไปขายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีก 26 ล้านโดส ขายในประเทศไทย
AstraZeneca เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ต้องการหาผู้ผลิตในหลายภูมิภาคทั่วโลก กระจายวัคซีนออกไปให้ได้มากที่สุด โดยมีคู่ค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ Siam Bioscience ที่เป็นฮับของการผลิตวัคซีนในครั้งนี้
...นอกจาก Siam Bioscience จะได้ทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างผลิตวันซีน 200 ล้านโดสต่อปีให้กับ AstraZeneca แล้ว ยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ในโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนแบบ Viral Vector 1,449 ล้านบาทอีกด้วย เรียกว่า นอกจากจะเสียเงินค่าวัคซีน รัฐบาลยังนำภาษีของประชาชนไปสนับสนุนเอกชนรายเดียวในการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนอีกด้วย...
“และนำมาซึ่งคำถามสุดท้าย ว่าในเมื่อผู้ถือหุ้น Siam Bioscience เป็นในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ โดยตรงเช่นนี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติข้อตกลงอย่างนี้ จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าวัคซีนมีการผลิตช้ากว่ากำหนดเวลา หรือมีปัญหาในการแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม หรือถ้าประชาชนเกิดอาการแพ้ หรือถ้ามีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา ประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับบริษัท Siam Bioscience ที่ถือหุ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 10” นายธนาธรกล่าว...(อ่านรายละเอียดจากไทยโพสต์ออนไลน์)
แน่นอน, นี่คือ การนำเรื่องโควิด-19 มาโยงเป็นเรื่องการเมือง และกระทบชิ่งไปถึง “สถาบันฯ” อย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนข้อเท็จจริง เรื่องวัคซีนต้องฟังจาก นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า
การจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้า ได้ใช้ข้อมูลหลายองค์ประกอบ ต้องพิจารณาข้อมูลรูปแบบของวัคซีนที่ได้มีการพัฒนาอยู่ ไม่ได้พิจารณาตามชื่อของบริษัทหรือตามตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว
อย่างกรณี บริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ไม่ใช่การจองซื้อโดยทั่วไป แต่เป็นการจองซื้อที่มีข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ประเทศไทยด้วย ซึ่งผู้ที่มีศักยภาพคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่มีความพร้อมที่สุดในด้านการผลิตและบุคลากร...
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยว่า ในสัญญาผูกพันที่รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำนวน 600 ล้านบาท ไปแล้วนั้น เมื่อสามารถผลิตวัคซีนได้แล้วตามมาตรฐานของแอสตร้าเซนเซก้า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะคืนวัคซีนในจำนวนเท่ากับมูลค่าที่รัฐบาลสนับสนุน
“ราคาวัคซีนที่จัดหาล่วงหน้าเป็นราคาที่ถูกที่สุดในตลาดและสะท้อนต้นทุน ข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอยและคลาดเคลื่อนควรจะหมดไป และไม่ควรจะไปโยงกับเรื่องของการทำงานของสถาบันฯ ที่พวกเราเคารพรัก”...
ก็ต้องลองพิจารณาดูว่า สิ่งที่นายธนาธรพยายามจะโยงให้เห็นความไม่ชอบมาพากล กับสิ่งที่เป็น “ข้อเท็จจริง” ของคนที่มีส่วนรับผิดชอบ เหตุผลใครจะน่าเชื่อถือกว่ากัน!?