จับไต๋ได้คามือ “อดีตรองอธิการ มธ.” หยิบบางช่วงบางตอน “ธนาธร-ช่อ” อ้างผลประโยชน์ประชาชน จ้องโจมตีสถาบัน “แก้วสรร” ชี้ชัด “บริษัทพระราชทาน” ไม่ใช่ “วัคซีนพระราชทาน” สรุปไม่ใช่เรื่องปาก “ปัญหาอยู่ที่สมองและหัวใจ”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 ม.ค. 64) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า
“ได้ดูที่คุณช่อ พรรณิการ์ “พูดสด” สืบเนื่องจากกรณีที่คุณธนาธร “พูดสด” เช่นกัน เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย” แล้วอ่อนใจ มีคำถามจากนักข่าวว่า ที่คุณธนาธรออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องวัคซีน กลับไปนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาตี อย่างนี้จะเป็นปัญหากับการดำเนินงานของคณะก้าวหน้าต่อไปหรือไม่ คุณช่อตอบคำถามนี้ ความว่า
“คณะก้าวหน้ายืนยันค่ะว่า ไม่ได้ตั้งเป้าจะไปล้มล้าง โจมตีสถาบันกษัตริย์ อันเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของสังคมไทย เราทำงานตามอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่เดิม ก็คือ .........โควิดเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นความเป็นความตายของประชาชนทั้งประเทศ .......เราจำเป็นต้องพูดในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศ และเรื่องนี้ เราไม่ได้โยงไปเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์โดยตัวของเราเองนะคะ
พลเอก ประยุทธ์ พูดเองว่า ในหลวงพระราชทานให้ Siam Bioscience ผลิตวัคซีนแจกจ่าย .....เรื่องนี้ไม่ใช่เราแน่นอนนะคะที่ผูกโยงเรื่องให้ไปเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ หน่วยงานรัฐ รัฐบาลพูดกันเป็นการทั่วไปว่า นี่เป็นวัคซีนที่เป็นการพระราชทานของในหลวง เป็นวัคซีนที่เป็นโรงงานผลิตวัคซีนของในหลวง......เรายืนยันค่ะว่า เราทำงานเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน ทำงานเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้วัคซีนเร็วที่สุด ปลอดภัยที่สุด ในราคาที่คุ้มค่าที่สุด ........เรื่องนี้เราจำเป็นต้องทำนะคะ เราไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยอยู่ได้ ในเมื่อมีข้อมูลเพียงพอที่บอกได้ว่า deal นี้ สัญญานี้ที่รัฐบาลไปทำ มันอาจจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น”
มีคำถามว่า โกรธไหมที่คุณอนุทินพูดเรื่อง ไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คุณช่อตอบว่า “ไม่ได้รู้สึกโกรธใดๆ คุณอนุทิน......แต่การที่คุณอนุทินยกเรื่องการไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขึ้นมาตอบคำถาม ที่เราตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความโปร่งใส ของการดำเนินงานของรัฐ อันนี้ดิฉันคิดว่ามีปัญหานะคะ ผู้ที่อ้างเรื่องพระมหากรุณาธิคุณในการตอบคำถามที่เป็นความรับผิดชอบของตัวเอง ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์แน่นอน และไม่เป็นผลดีต่อประชาชนด้วย เราไม่อยากได้รัฐมนตรีที่พูดถึงเรื่องมีหรือไม่มีสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เราอยากได้รัฐมนตรีที่ตอบปัญหาค่ะ คำถามที่เราถามไปว่า ตกลง deal นี้ เอื้อประโยชน์เอกชนรายเดียวหรือไม่ ตกลงการที่รัฐบาลแทงม้าตัวเดียว ทุ่มเทความหวังไว้ที่ Astra Zeneca เกือบจะเจ้าเดียว ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนช้า เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าหรือไม่......
ลำพังเพียงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างเดียว ไม่สามารถกอบกู้ประเทศชาติจากวิกฤตโควิดได้ ....”
ทีนี้เรามาลองดูคำพูดบางส่วนของคุณธนาธรบ้าง
“...... ถ้าเราฉีดวัคซีนได้เร็ว ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ นักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวที่ประเทศไทยครับ นักธุรกิจ...... ประชาชนจะใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น”
“รัฐบาลประมาท ไม่ได้เร่งจัดหา เจรจาเพื่อซื้อวัคซีนสำหรับคนไทยทุกคนแต่เนิ่นๆ หลายประเทศเริ่มเจรจาจัดหาวัคซีนตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว กว่าจะเริ่มเจรจาและหาข้อสรุปก็ปาเข้าไปเดือนตุลาคม ปี 2563 และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ก็คือเจรจาเพื่อจัดซื้อน้อยเกินไป และอยู่ในมือของเจ้าเดียวคือ Astra Zeneca ......รัฐบาลนิ่งนอนใจ...
เมื่อรู้สึกตัวก็สายเกินไป”
“รัฐบาลเอาปัญหาการฉีดวัคซีนโควิด มาผนวกกับปัญหาความนิยมของรัฐบาล อยากจะใช้การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อสร้างความนิยมให้กับตัวเองเกินไป จนละเลยการคิดหาทางออกที่เหมาะสม ที่ดีที่สุดให้กับประเทศ”
ทั้งคุณธนาธรและคุณช่อ คงทำเป็นลืมไปว่า ในการระบาดของโควิดระลอกแรก รัฐบาลจัดการปัญหาโควิดได้ดี จนกระทั่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มน้อยมากจนเป็น 0 มีผู้เสียชีวิตน้อยมาก ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้เกือบเป็นปกติ จนแนวร่วมของคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกลสามารถก่อม็อบโจมตีพระมหากษัตริย์ได้ชนิดรายวัน
ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิดได้เลย ผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ความหวังทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับการใช้วัคซีน แม้ในระยะแรกเนื่องจากมีเวลาน้อย จะมีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงไม่น้อยก็ตาม และก็มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจริง
แม้มีการระบาดระลอกใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมีแนวโน้มลดลง ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดตั้งแต่เริ่มระบาดระลอกแรกจนถึงเมื่อวานนี้มีเพียง 71 คน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า คุณช่อสามารถบิดคำถามของนักข่าวได้อย่างยอดเยี่ยม โยนความผิดไปให้พลเอกประยุทธ์ได้อย่างหน้าตาเฉยว่า เป็นผู้เริ่มต้นคำว่า วัคซีนพระราชทาน ไม่ใช่คณะก้าวหน้า แต่ไม่พูดสักคำว่า ทำไมประโยคต่อมา จึงถามว่า “ใครได้ใครเสีย”
ความจริง เนื้อหาที่ทั้งคุณช่อและคุณธนาธรพูด พยายามจะบอกอยู่แล้วว่า ใครได้ใครเสีย สรุปคือ ประชาชนและประเทศคือฝ่ายเสีย ไม่มีประโยชน์ที่จะบิดประเด็นไปมา เพราะสิ่งที่พูดมันชัดยิ่งกว่าชัด
กรณี คุณอนุทิน คุณช่อก็สามารถบิดประเด็นไปได้อีกว่า ไม่ยอมตอบคำถาม แต่ไปพูดเรื่อง ไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ความจริงที่คุณอนุทินพูดว่า “....รู้ไปทุกเรื่อง..” น่ะ แปลว่าเขาได้ตอบแล้ว แต่เขาโต้กลับว่า การออกมาโจมตีพระมหากษัตริย์ เท่ากับเป็นการไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คุณช่อคงแกล้งไม่เข้าใจ
คำถามหรือ “ข้อกล่าวหา” ของคุณช่อ และคุณธนาธร คือ การที่รัฐบาลตัดสินใจซื้อวัคซีนจากบริษัท Astra Zeneca เป็นหลักเพียงเจ้าเดียว โดยมีบริษัท Siam Bioscience เป็นผู้ผลิตภายในประเทศ ให้กับ Astra Zeneca โดยรัฐบาลจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัท Siam Bioscience ประมาณ 600 ล้านบาท (คุณธนาธรบอก 1,490 ล้านบาท) เพื่อให้ไปจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมที่จะผลิตวัคซีนได้
การตัดสินใจข้างต้นของรัฐบาล เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน คือ Siam Bioscience เพียงรายเดียวหรือไม่ หากจะตอบคำถามนี้ ต้องกลับไปดูประวัติความเป็นมา และพันธกิจของบริษัท Siam Bioscience บริษัท Siam Bioscience จัดตั้งขึ้นจากพระราชปณิธาณของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อ 11 ปีที่แล้ว โดยมีพันธกิจคือ “ให้คนไทยได้รับยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง สร้างความมั่นคงทางยา เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย”
บริษัท Siam Bioscience ดำเนินการวิจัยพัฒนา ผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ โดยมีการวิจัย พัฒนา ผลิตครบวงจร ตั้งแต่ตัวยาสำคัญ สารออกฤทธิ์ จนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ผลิตยาชีววัตถุ หรือ ไบโอฟาร์มา ซึ่งเป็นยาที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง
จะเห็นว่าบริษัท Siam Bioscience ไม่ได้ต้องการกำไร แต่ต้องการสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ เพื่อดูแลรักษาคุณภาพคนไทย การสร้างรายได้ก็เพียงให้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น น้อยคนที่จะทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ยังได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งมูลนิธิทันตนวัตกรรม ทรงมอบให้ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกำพุช เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อผลิตอาหารอ่อนที่มีสารอาหารครบถ้วน เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มีปัญหาทางช่องปาก ไม่สามารถรับประทานอาหารปกติได้ นับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศที่ผลิตอาหารแบบนี้
เมื่อทราบว่า บริษัท Siam Bioscience จัดตั้งขึ้นเพื่ออะไรแล้ว ไม่ควรมีคำถามด้วยซ้ำว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพียงรายเดียวหรือไม่ ยอมรับเถิดว่า พวกคุณคอยจับจ้องอยู่ตลอดเวลา คอยโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกโอกาสที่มี โดยอ้างว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน อย่าพยายามบิดไป บิดมา อยู่เลยครับ
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง “บริษัทพระราชทาน” ไม่ใช่ “วัคซีนพระราชทาน” ผ่าน www.thaipost.net
ที่สำคัญเริ่มจาก...
ถาม ไลฟ์สด ของธนาธร เรื่อง “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย” โดนรัฐบาลส่งคนไปแจ้งความเอาผิด มาตรา 112 ได้อย่างไร ใครวิพากษ์รัฐบาลก็โดน 112 ปิดปากเอาได้ง่ายๆ ยังงี้หรือ ?
ตอบ บทไลฟ์สดที่ว่านี้ คุณต้องแบ่งเนื้อความเป็นสองส่วน ส่วนที่วิพากษ์นโยบายจัดซื้อวัคซีน โควิด ของรัฐบาล กับส่วนที่พาดพิงสถาบัน
ส่วนวิพากษ์นั้น คุณธนาธรเขาเห็นว่า
1. การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลช้าเกินไป ไม่กระจายความเสี่ยง สั่งจองกับ แอสตราซีเนกาเจ้าเดียว มีวัคซีนของจีนเจือมาบ้างนิดหน่อย แถมยังสั่งไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรอีกด้วย
2. บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่แอสตราฯจ้างผลิตวัคซีนนั้น ขาดทุนต่อเนื่องไม่น่าไว้วางใจให้มาดูแลผลิตวัคซีนเกือบทั้งหมดให้ประเทศไทย
ถาม พูดแค่นี้ก็ผิดแล้วหรือครับ
ตอบ ยังครับ มันมีส่วนที่สองที่พาดพิงสถาบันว่า
1. เป็นการไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่งที่รัฐบาล ออกเงินให้สยามไบโอฯ ปรับปรุงโรงงานเครื่องจักรเครื่องมือในงานผลิตวัคซีนนี้ด้วยกว่า 1,500 ล้านบาท (มีสัญญาให้ชำระคืนในรูปของวัคซีนในภายหลัง )
2. นโยบายที่ผิดพลาด และการให้เงินสนับสนุนที่ไม่ชอบมาพากลนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น คุณธนาธรไม่บรรยายตรงๆ ว่าในหลวงสั่งการ แต่บอกข้อมูลว่า สยามไบโอฯ นี้มีในหลวงถือหุ้น 100 % แล้วใช้คำในหัวข้อว่า “วัคซีนพระราชทาน”
3. แล้วเขาเสริมด้วยนะครับว่า การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นในไตรมาสที่สามของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ม็อบเยาวชนปลดแอก กำลังโจมตีสถาบันอย่างหนักพอดี การให้บริษัทในหลวงโผล่มาผลิตวัคซีนให้ประชาชน จึงเป็นนโยบายซ่อมแซมความเสียหายทางเกียรติภูมิให้สถาบันด้วย
ถาม การบอกโดยปริยาย ใช้ถ้อยคำและเดินเรื่องให้ผู้ฟังเข้าใจได้เองเช่นนี้ ถือเป็นการใส่ความได้แล้วหรือยังครับ
ตอบ ประเด็นตัดสินในคดีก็อยู่ตรงนี้แหละครับ ว่า ท้องเรื่องและคำนี้ชัดพอไหมที่จะถือเป็นการใส่ความในหลวง ที่ผ่านมาก็มีคนใช้คำในทำนองนี้มาแล้ว เช่น ใช้คำว่า “กระสุนพระราชทาน” เพื่อสื่อว่า ในหลวงรู้เห็นในการใช้อาวุธกับฝ่ายตนด้วย
ถาม เห็นธนาธรเขาอ้างว่า เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว ในคราวชี้แจงเรื่องการจัดซื้อวัคซีนนั้น นายกฯลุงตู่ก็พูดพาดพิงไว้แล้วในครั้งนั้นว่า งานนี้ “ในหลวงได้พระราชทานบริษัทในพระปรมาภิไธยให้มาผลิตวัคซีนด้วย”
ดังนั้น การที่เขาพูดตามคำพูดลุงตู่ข้างต้นว่า “วัคซีนพระราชทาน” จึงไม่แปลก
ตอบ นายกฯลุงตู่เขาบอกว่าในหลวง “พระราชทานบริษัท” ไม่ใช่ “พระราชทานวัคซีน” สองคำนี้ให้ความเข้าใจต่างกันคนละเรื่องเลย ที่ลุงตู่พูดน่าจะหมายถึงการกราบทูลขอให้เจ้าของบริษัท ทรงเห็นด้วยกับการที่สยามไบโอฯจะรับงานผลิตวัคซีนตามโครงการที่ผู้เกี่ยวข้องได้ไปเจรจากับแอสตราซีเนกาเท่านั้นก็ได้ การที่ลุงตู่ใช้คำว่า “ในหลวงพระราชทานบริษัทในพระปรมาภิไธยให้รับผลิตวัคซีน” จึงถูกต้องแล้ว ส่วนควรจะพูดหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถาม คดี 112 ของธนาธร จึงมีประเด็นชี้ขาดอยู่ตรงการใช้คำคำนี้
ตอบ ครับ เวลาอัยการเขียนคำฟ้อง ก็ต้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยขึ้นต้นหัวข้อก็บอกไว้แล้วว่า “ใครได้ใครเสีย” จากนั้นในท้องเรื่องก็ชี้ถึงมาตรการที่ไม่ชอบมาพากล ไม่สมเหตุผล แล้วมีบริษัทของในหลวงได้ประโยชน์ ส่วนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเจ้ากี้เจ้าการนั้น จำเลยก็จบด้วยคำที่ขึ้นต้นไว้ก่อนแล้วว่า “วัคซีนพระราชทาน”
ถาม จำเลยคงปฏิเสธท่าเดียวว่า ตนเองวิพากษ์นายกฯลุงตู่เท่านั้นว่าแอบอ้างในหลวงมาคุ้มกันนโยบายที่ผิดพลาดของตน
ตอบ ถ้าต้องการแค่นี้ มันไม่จำเป็นต้องวิพากษ์พาดพิงถึงในหลวงเลยก็ได้ ตั้งหัวข้อว่า
“นโยบายจัดหาวัคซีนโควิดของรัฐบาล : ใครได้ใครเสีย?” เปลี่ยนหัวข้อแค่นี้ก็รอดตัวแล้วครับ น่าเสียดายที่เกินเลยจนจะเข้าคุกอย่างนี้
ถาม ทำไมต้องเสียดายครับ
ตอบ คนรุ่นใหม่ควรเป็นความหวังใหม่ ส่งผู้แทนดีๆ เก่งๆ มาช่วยติดตามตรวจสอบแก้ไขความเลวในแผ่นดินนี้ได้ดีกว่ารุ่นผม แต่ผู้นำที่ชักใบเรือขึ้นมารับลมรับพลังเยาวชนไทยในยุคนี้ ได้พลังแล้วกลับถือท้ายพาเรือมุดเข้าป่าชายเลนไปเลย
นโยบายจัดหาวัคซีนโควิดครั้งนี้ของรัฐบาลก็เช่นกัน ผมเห็นด้วยว่ามีจุดที่ควรตรวจสอบซักถามอยู่จริงๆ แต่แทนที่พวกธนาธรเขาจะสืบสาวกันให้จริงจัง กลับเกินเลยพุ่งมาพาดพิงสถาบัน ถึงขั้นเป็นคดีใส่ความให้ในหลวงเสียหายไปเสียได้
ถาม เข้าตำรา “ปากหมาพาโชค”
ตอบ มันเป็นปัญหาที่สมองและหัวใจครับ ไม่ใช่ปาก”
แน่นอน, สองเรื่องราวจากสองนักวิชาการผู้รู้ดังกล่าว ถือว่า ได้ให้ความกระจ่างกับสังคมเอาไว้หลายประเด็น โดยเฉพาะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และยังมีการดันทุรังที่จะไม่รับผิดชอบในคำพูดของฝ่ายนายธนาธร หรือ ยังมีคำแก้ตัวที่ทำให้สังคมสับสนตามไปด้วย
อย่างนี้แล้ว ดีที่สุด คือ ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด และทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด แต่ต้องเตือนไว้ก่อนว่า ต้องยอมรับคำตัดสิน และต้องไม่ดันทุรังต่อว่า ถูกผู้มีอำนาจครอบงำ อยุติธรรม และกลั่นแกล้งรังแก เพราะมันจะกลายเป็นหนังบทเก่าที่ฉายแล้วฉายอีกอยู่นั่นเอง หรือไม่จริง?