xs
xsm
sm
md
lg

“ทอน” ดันทุรัง! ขอตรวจสัญญา บ.ในหลวง ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือไม่ “บูด” ขวาง “หมอวรงค์” ตั้งพรรคอิงเจ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  จากแฟ้ม
เอาแล้ว หมูไม่กลัวน้ำร้อน “ทอน” จี้รัฐบาลต่อ แจงให้ชัด สัญญาให้สิทธิพิเศษ บ.ในหลวง หรือไม่ “ปิยบุตร” ขวาง “หมอวรงค์” ตั้งพรรคยึดอุดมการณ์ ปกป้องสถาบัน “ช่อ” เละ “ทิพานัน” สับไม่เลี้ยง ถาม “คนไทยหรือเปล่า?”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (20 ม.ค. 64) เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความระบุว่า

“ต่อให้ดิสเครดิตหรือเอาคดีความมาก่อกวนมากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้ข้อสงสัยที่ผมตั้งไว้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น

ทำไมรัฐต้องรับหน้าแทนบริษัทเอกชนมากขนาดนี้ ยอมรับแล้วหรือไม่ว่า เราให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทเอกชนนี้จริงๆ?

ถ้าอยากจบเรื่องนี้ก็ต้องชี้แจงด้วยเอกสาร-หลักฐานให้กระจ่าง โดยผมขอให้เปิดเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น

1. สัญญาจ้างผลิตระหว่าง AstraZeneca กับ Siam Bioscince ว่า ตกลงแล้วจะรับผลิตกี่โดส ราคาต้นทุนการผลิตของบริษัทเท่าไหร่ ราคาขายให้ AstraZeneca เท่าไหร่ มีรายละเอียดในสัญญาอย่างไรบ้าง

2. สัญญารับงบประมาณระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กับ Siam Bioscience ว่า มีรายละเอียดเงื่อนไขอย่างไร มีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ และเอาไปใช้ทำอะไร ตรงตามที่เคยแถลงไว้หรือไม่

3. บันทึกการประชุมของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการวางเงื่อนไข คุณสมบัติ และรายละเอียดของเอกชนที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการผลิตวัคซีน เพื่อให้ประชาชนแน่ใจว่า การเลือกสนับสนุน Siam Bioscience เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามหลักการ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ยิ่งเปิดเผยมากยิ่งโปร่งใส

ขอยืนยันอีกครั้งว่า ผมเห็นด้วยทุกประการที่รัฐหรือเอกชนไทยจะได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัคซีน แต่ผมตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดเลือกเอกชน การใช้ประเด็นเรื่องวัคซีนมาสร้างความนิยมทางการเมือง และวิธีการบริหารจัดการที่ไม่มีการกระจายความเสี่ยง ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนช้าและครอบคลุมประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า หากยึดตามไทม์ไลน์ของรัฐบาล กว่าเราจะกลับทำมาหากินได้ตามปกติไม่ต้องเปิดๆ ปิดๆ แบบนี้ ก็อย่างน้อยปี 2565 ซึ่งประชาชนรอไม่ไหว!”

ก่อนหน้านี้ ไม่กี่ชั่วโมง จากกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดทางเพจคณะก้าวหน้าในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?” ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงสถาบันฯ จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และมีหลายกลุ่มแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับนายธนาธรในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เรื่องนี้พีอาร์คณะก้าวหน้า ได้แจ้งต่อสื่อมวลชน ว่า นายธนาธร ได้นัดแถลงชี้แจงเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 21 ม.ค. เวลา 12.00 น. ที่ อาคารไทยซัมมิท สนง.คณะก้าวหน้า ชั้น 5 ไปก่อนหน้าแล้ว

นอกจากนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยังมอบหมายให้ นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพย์ ผู้ช่วย รมว.ดิจิทัลฯ ร่วมกับ นายทศพล เพ็งส้ม และ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยื่นแจ้งความที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

เพื่อเอาผิด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว

ภาพ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณี “กลุ่มไทยภักดี” ตั้งพรรคการเมืองว่า

“การตั้งพรรคโดยชูเรื่องปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าหวังดีต่อสถาบันฯ หรืออ้างเพื่อทำลายผู้อื่น

แต่ทั้งหมด คือ การนำสถาบันฯ เข้ามาอยู่ใน “แดนทางการเมือง” หากประชาชนเลือกพรรคนั้นน้อย จะหมายความอย่างไร?

การปกป้องสถาบันฯ ที่ถูก ต้องช่วยกันรักษาสถานะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันฯ”

ทั้งนี้ ที่ทำการกลุ่มไทยภักดี ถ.พระราม 5 “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี แถลงข่าวการจัดตั้ง ‘พรรคไทยภักดี’ หลังจากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มไทยภักดีก่อตั้งมาเป็นระยะเวลากว่า 5 เดือน ซึ่งเบื้องต้น นพ.วรงค์ จะรับตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค ก่อนจะมีการประชุมหารือกันอีกครั้ง

นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตลอด 5 เดือนที่ตั้งกลุ่มไทยภักดีขึ้น ทางกลุ่มต้องต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบันฯ อันเป็นที่รักของคนไทย และอยากมีเครือข่ายในการต่อสู้เพื่อสถาบันทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาต้องประกาศจัดตั้งพรรคไทยภักดี เพื่อต่อสู้กับพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และม็อบสามนิ้ว บนพื้นฐานความเชื่อว่า สังคมไทยจะสงบสุขได้ต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ กับนักการเมืองที่มีคุณธรรม

ภาพ หมอวรงค์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากแฟ้ม
พร้อมยืนยันว่า พรรคไทยภักดี ไม่มีกลุ่มทุน นายทุน และเจ้าของพรรค โดยทุกอย่างอยู่ที่ประชาชนจะให้โอกาสในการทำหน้าที่ นอกจากนี้ นพ.วรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า พรรคไทยภักดีเป็นของคนทุกกลุ่ม เมื่อก่อตั้งแล้วต้องมีการเลือกตั้ง อีกทั้งยังระบุว่า หัวใจของตนเองเป็นนักการเมือง และหลังจากนี้จะดำเนินการตามรูปแบบพรรคการเมืองที่ กกต. กำหนด ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ อาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน พร้อมประกาศเชิญชวนผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มาร่วมงานกันกับหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง...

ที่น่าสนใจ ไม่แพ้กัน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ “ช่อ” แกนนำคณะก้าวหน้า ได้เผยแพร่ข้อมูลทางเฟซบุ๊กและไลฟ์ในหัวข้อ “7 ประเด็นกระทรวงสาธารณสุขแถลงกรณีวัคซีนพระราชทาน เราอยากถามต่อ” ว่า เพราะยังล้าหลัง ทั้งข้อมูลและจิตใจ ทุกประเด็นที่ตั้งคำถามล้วนตั้งป้อมโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์และคณะทำงานทุกคน บิดเบือน รวมถึงคนที่ตั้งใจทำงานแก้ปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ที่ใช้ทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานตัดสินใจทั้งสิ้น เพื่อเป็นวิทยาทานให้ น.ส.พรรณิการ์ และคณะก้าวหน้า และเพื่อไม่ให้สังคมและผู้ติดตามเพจคณะก้าวหน้าสับสน จะขออธิบายซ้ำอีกครั้งในเบื้องต้นว่า

1. บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับเลือกจาก AstraZeneca โดยพิจารณาจากศักยภาพทั้งด้านความพร้อมของโรงงานและความสามารถของบุคลากรที่มีมาตรฐานทั้ง PIC/S และ GMP และเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีศักยภาพด้านชีววัตถุ ส่วนเรื่องที่บริษัทไม่มีกำไรจากผลประกอบนั้นก็ไม่ใช่เกณฑ์ที่ AstraZeneca จะนำมาพิจารณา อีกทั้ง 2 บริษัทยังมีหลักการร่วมกันในการผลิตวัคซีน คือ No-profit และ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า มีศักยภาพ เพราะที่ผ่านมาได้ผลิตยาคุณภาพเพื่อคนไทยในราคาที่ถูกได้

2. รัฐสนับสนุนทุนในการวิจัยและผลิตวัคซีน 595 ล้านบาท ให้แก่ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ นั้น ไม่ได้หมายความว่า บ.ไม่มีความพร้อมในการผลิตวัคซีน ศักยภาพความพร้อมในการผลิตวัคซีนที่ AstraZeneca พิจารณาไม่ได้ดูจากปัจจัยนี้ ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจะสนับสนุนใดๆ ต้องมั่นใจถึงความพร้อมของบริษัทนั้นๆเพราะเงินล้วนเป็นภาษีประชาชน

3. รัฐไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว รัฐสนับสนุนทุนในการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิดให้กับหลายรายที่สนใจด้วย เช่น กระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การเภสัชกรรม ลงนามความร่วมมือกับ บจก.ใบยา ไฟโตฟาร์ม สตาร์ทอัปโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บจก.คินเจน ไบโอเทค ผนึกกำลังเป็นทีมไทยแลนด์ ในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องโรคโควิด-19 จากใบพืช ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นตามที่คณะก้าวหน้ากล่าวหาว่า “เอาภาษีประชาชนแบกบริษัทเอกชนรายเดียวให้พร้อมผลิตวัคซีนให้ได้” และทุนวิจัยที่รัฐสนับสนุน บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่ได้เป็นการให้เปล่า โดยจะต้องมีการคืนทุนให้เป็นวัคซีนในจำนวนที่เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับทุน

4. คณะก้าวหน้ากล่าวหาลอยๆ โดยไม่ได้แสดงข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ มีเพียงตารางภาพที่คณะก้าวหน้าจัดทำขึ้น และการกล่าวอ้างของ น.ส.พรรณิการ์ว่า ข้อมูลมาจาก นสพ. เช่น The Economist โดยไม่ได้แสดงรายละเอียดเงื่อนไขการตกลงราคา เช่น ระยะเวลาจอง ช่วงเวลาที่ปลอดภัยในการนำมาใช้ ทุกอย่างล้วนสะท้อนถึงคุณภาพและราคา ดังนั้น การกล่าวหาว่า ประเทศไทยซื้อวัคซีนแพงกว่าประเทศอื่น จึงเป็นการสรุปที่ไม่น่าเชื่อถือ เลื่อนลอย

5. ไม่รีบและเน้นปลอดภัย คือ รัฐบาลไม่ได้รีบจองโดยยังไม่ทราบผลสำเร็จหรือผลข้างเคียง ซึ่งจะเป็นการเสี่ยงทั้งสุขภาพและงบประมาณของประเทศ บางประเทศที่ต้องการเริ่มฉีดวัคซีนเร็ว มีการตัดสินใจใช้วัคซีนที่อาจจะยังทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่ครบถ้วนเพราะสถานการณ์ติดเชื้อในประเทศเลวร้ายไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งประเทศไทยไม่ยอมรับความเสี่ยง ไม่ยอมให้รีบร้อนฉีดวัคซีนที่ยังทดสอบไม่ครบถ้วน และไม่ยอมเป็นประเทศทดลอง วัคซีนทั้งหมดจะต้องผ่านมาตรฐานองค์การอาหารและยา (อย.) ทั้งของไทยและต่างประเทศ...

6. รัฐไม่ได้ผูกขาดวัคซีนจากรายเดียว ขณะนี้นอกจาก AstraZeneca และ SinoVac แล้ว ยังมีการเจรจากับอีก 4 บริษัท และยังมีการพัฒนาอีกหลายบริษัทภายในประเทศ ดังนั้น จึงไม่ควรเบี่ยงประเด็นโจมตี AstraZeneca เพื่อต้องการด้อยค่ารัฐบาล และ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งแม้ว่าในปีแรกจะมีการใช้วัคซีนของ AstraZeneca ประมาณ 88% ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นการผูกขาดจากรายเดียวหรือทำให้ไม่มีความมั่นคงทางวัคซีน เพราะในปีถัดๆ ไป อาจมีการตกลงจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทอื่นได้ โดยที่ในปีถัดๆ ไปตลาดวัคซีนจะเป็นของผู้ซื้อ ผู้ซื้อมีสิทธิ์เลือกมากขึ้น...

7. รัฐบาลบริหารประเทศได้ดี สามารถรับมือโควิดได้ดี มีการบริหารจัดการงบประมาณให้ครอบคลุมทุกกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ การที่ได้รับพระราชทานอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงรถโมบายตรวจหาเชื้อนิรภัย ช่วยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกได้อย่างรวดเร็วจากทรัพย์ส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 รวมกว่า 4 พันล้านบาทนั้น เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ทำให้ทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการทำงานมากยิ่งขึ้น และยังเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย

ภาพ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ จากแฟ้ม
“ทั้ง 7 ข้อ ล้วนเป็นคำถามมุ่งโจมตีมากกว่าตั้งคำถามเพื่อความก้าวหน้า ทั้งทีมแพทย์-สาธารณสุข นักรบเสื้อกาวน์ ขณะนี้ทุกคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องทำเร่งด่วนร่วมกันเพื่อให้ประเทศชาติพ้นวิกฤตโควิด ทุกคนกำลังทำงานหนักเพื่อรักษาชีวิตและสุขภาพของประชาชน เพื่อความหวังการรักษาโรค นักการเมืองที่ไม่ยอมลงมือช่วยทำอะไรให้เกิดประโยชน์ ก็ขอให้หยุดทำตัวคล้ายๆ คนถ่วงความเจริญของชาติเถอะ ทั้งนี้ “สังคมตั้งคำถามเดียวคือ บุคคลในคณะก้าวหน้าเป็นคนไทยหรือเปล่า จ้องแต่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนไทย และทำลายความหวังของคนไทยใช่หรือไม่” (จากไทยโพสต์)

แน่นอน, ประเด็นร้อน ยังคงอยู่ที่ กรณี นายธนาธร ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดทางเพจคณะก้าวหน้าในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?” ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงสถาบันฯ จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

และไม่เพียงเท่านั้น วันนี้เอาอีก จี้รัฐบาลให้เปิดเผยเอกสารทั้งหมด รวมถึงสัญญากับบริษัทเอกชนรายเดียว (กรณีพาดพิงสถาบัน) ว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เอาให้ชัดเจนโปรงใส โดยขู่ด้วยว่า ถ้าอยากให้จบเรื่องนี้

แต่ที่หลายคน หลายฝ่าย ตั้งคำถาม และเรียกร้องให้นายธนาธร ชี้แจงมาก่อนหน้านี้ อย่าง เรื่อง เรือยอชต์ที่ถูกไฟไหม้ และจดทะเบียนบนเกาะหนีภาษี ซึ่งสื่อขุดคุ้ยมาได้ว่า เป็นของนายธนาธร น้องชายและหุ้นส่วน

เรื่องที่น้องชาย ยัดใต้โต๊ะเจ้าหน้าที่ 20 ล้าน หวังฮุบที่ดินสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และ กรณีมารดานายธนาธร ถูกแจ้งความดำเนินคดี กรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และครอบครองที่ดินไม่ถูกต้องอีกหลายร้อยไร่ เมื่อไหร่จะชี้แจง ทำความโปร่งใส เอาพยานหลักฐานมายืนยัน เอาเอกสารมาแจกแจงให้ประชาชนหายสงสัย

และหากทำพร้อมกันไปกับการเรียกร้องรัฐบาลอยู่นี้ เชื่อว่า ภาพลักษณ์ที่เสียหายจนแทบไม่เหลือความน่าเชื่อถือ อีกต่อไปแล้ว อาจได้กลับคืนมาบ้าง อย่าปล่อยให้เสียงวิจารณ์เป็นจริง กับคำว่า “ดีแต่อยากตรวจสอบคนอื่น” ตัวเอง ไม่เคยยอมรับการถูกตรวจสอบเลยแม้แต่น้อย?


กำลังโหลดความคิดเห็น