xs
xsm
sm
md
lg

กางแผน 2 ล้มสรรหา กสทช. ส่งไม้ “สภาฝักถั่ว” คลอด กม.ใหม่ก่อนกำหนด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บิ๊กรัฐบาล” ไม่ละความพยายามคว่ำสรรหา กสทช. หลังแผนใช้อำนาจ ครม.ไปไม่รอด ใบสั่ง “สภาฝักถั่ว” ผ่าน กมธ.วุฒิสภาเร่งดันร่าง กม.กสทช.แบบไม่แก้ไข หวังให้เสร็จก่อนกำหนด ทั้งที่ “อนันตพร” ปธ.กมธ.เคยอภิปรายค้านร่าง กม.หลายจุด เผยล็อบบี้ 8 ส.ว.ถอนคำแปรญัตติ หวัง กม.ใหม่ผ่านแซงกระบวนการสรรหา-คว่ำอัตโนมัติ แฉเหตุผลเดิม “เด็กในคาถา” ปิ๋วคุณสมบัติรอบนี้ หวังยื้อให้ได้อย่างน้อย 1 ปี วิจารณ์หึ่งฝ่ายบริหารแทรกแซงนิติบัญญัติ แถมขัดระเบียบวิธีเสนอ กม.เพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 11 ม.ค. 64 คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม (กมธ.ไอซีที) วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ วุฒิสมาชิก (ส.ว.) เป็นประธาน ได้กำหนดการประชุม กมธ. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กสทช.) ในวาระที่ 2 ซึ่ง กมธ.ไอซีทีได้รับมอบหมายจากที่ประชุมวุฒิสภา ให้ทำหน้าที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันที่รับร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 63

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า ผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้ประสานมายัง พล.อ.อนันตพร เพื่อให้เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช.ในวาระที่ 2 ให้แล้วเสร็จโดยเร็วก่อนบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา และลงมติในวาระที่ 3 เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ได้มีการกำชับว่าไม่ให้มีการแก้ไขหรือแปรญัตติใดๆ จากร่างกฎหมายที่ผ่านชั้นสภาผู้แทนราษฎรมา เพราะไม่ต้องการให้มีเหตุทำให้ล่าช้า แม้ว่าตัว พล.อ.อนันตพร รวมทั้ง กมธ.บางส่วนได้เคยอภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.กสทช.ในวาระที่ 1 ไว้ในหลายประเด็น อีกทั้งยังมี ส.ว.อีก 8 รายที่ได้สงวนคำแปรญัตติไว้ โดยนัดหมายให้ 8 ส.ว.ดังกล่าวมาเข้าร่วมประชุมในวันที่ 11 ม.ค.นี้ด้วย เพื่อที่จะเกลี้ยกล่อมให้ถอนคำแปรญัตติ เพื่อให้การลงมติในวาระที่ 3 ราบรื่น

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ที่ผ่านมา กมธ.ไอซีที ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช.ในวาระที่ 2 ไปแล้วหลายมาตรา โดยมีการลงมติให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช.ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ไปแล้วบางส่วน คาดว่าจะมีการทบทวนเพื่อกลับมติในการประชุมวันที่ 11 ม.ค.เช่นกัน

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่มีการเร่งรัดมายัง กมธ.ไอซีที วุฒิสภา เนื่องมาจากความพยายามล้มกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) ชุดใหม่ โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารแทรกแซงองค์กรอิสระซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีการเสนอให้ปรับแผนมาใช้ช่องทางวุฒิสภาเพื่อที่จะผลักดันให้กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งยังทำให้กระบวนการสรรหา กสทช.ตามกฎหมายเดิมต้องสิ้นสุดโดยอัตโนมัติ และให้บอร์ดชุดเดิมรักษาการออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้คนที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลวางตัวไว้ให้เป็น กสทช.อย่างน้อย 1 คน พ้นเงื่อนไขว่าต้องเว้นวรรคจากการดำรงตำแหน่งในหน่วยงานที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.อย่างน้อย 1 ปี อันเป็นเหตุผลเดิมที่มีความพยายามล้มกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ เนื่องจากผู้ที่ถูกวางตัวไว้ติกเงื่อนไขดังกล่าว และถือว่าขาดคุณสมบัติในการเข้ารับการสรรหารอบปัจจุบันที่กำลังดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกว่า การที่ฝ่ายบริหารใช้วิธีสั่งการผ่าน พล.อ.อนันตพร ซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน และเคยเป็น รมว.พลังงาน ในรัฐบาล คสช. เพื่อให้ กมธ.ไอซีที ดำเนินการใดๆ อีกทั้งหากมีการเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้ 8 ส.ว.ถอนคำแปรญัตติ รวมไปถึงการกลับมติที่ประชุม กมธ.ไอซีที ที่เห็นชอบให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช.ไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นกัน



จากการสืบค้นผลการประชุมวุฒิสภา เพื่อลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กสทช.ในวาระ 1 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 ที่ประชุมมีมติรับหลักการ ด้วยเสียง 159 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง โดยในช่วงอภิปรายได้มี ส.ว.หลายรายอภิปรายท้วงติงร่างกฎหมายในหลายประเด็น อาทิ คุณสมบัติของกรรมการ กสทช. ซึ่ง พล.อ.อนันตพร เป็นผู้หนึ่งที่อภิปรายว่า การกำหนดคุณสมบัติเพียง 4 ด้านรวมกับด้านอื่นๆ อาจทำให้กรรมการสรรหาพิจารณาไม่รอบคอบ ไม่ถ่องแท้ และเสนอให้ปรับคุณสมบัติจาก 4 เป็น 6 ด้าน คือ ด้านดาวเทียม, ด้านสื่อสาธารณะ, ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค, ด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ, ด้านกฎหมายมหาชน และด้านข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศ แทน เช่นเดียวกับ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ระบุว่า พ.ร.บ.กสทช. ปี 53 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติไว้ 7 ด้านถือว่าครอบคลุมแล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับแก้ไขและตัดออก ทั้งด้านวิศวกรรม, ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านกฎหมาย เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น