xs
xsm
sm
md
lg

จับตายัดไส้ “ยุติสรรหา กสทช.” เข้าวาระจร ครม.พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จ่อดันวาระจร “ยุติสรรหา กสทช.” เข้า ครม.นัดแรกปี 64 เหตุ “ตัวเต็ง” อาจหลุดชั้นคุณสมบัติ กาง กม.ยันนายกฯ-ครม.ไร้อำนาจสั่งเลิกสรรหา กสทช.ที่เดินหน้าตามมติ ครม.16 มิ.ย. 63 ชี้คนละประเด็น พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ใกล้คลอด ที่เป็นเรื่อง “ฝ่ายนิติบัญญัติ” หวั่นถูกร้องอาญา-ปกครอง อาจถึงหลุดจากตำแหน่งทั้ง ครม.

จากกระแสข่าวที่ระบุว่า มีความพยายามที่จะเสนอวาระให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ชะลอการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ที่กำลังดำเนินการอยู่ออกไปก่อน โดยจะเสนอเป็นวาระจรเข้า ครม.ตั้งแต่นัดแรกของปี 2564 ในวันที่ 5 ม.ค.นี้นั้น

วันนี้ (4 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวาระจรดังกล่าวได้มีการมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องด้านกฎหมายร่างและนำเสนอต่อ ครม. โดยจะให้เหตุผลอ้งไปถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 8/2562 ที่เคยกำหนดให้ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช.ไว้ก่อนจนกว่าจะมีร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่ใช้บังคับหรือจนกว่า นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม. จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตลอดจนมีข้อท้วงติงว่า หาก พ.ร.บ.กสทช.ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นวุฒิสภาพิจารณาแล้วเสร็จ อาจจะกระทบสิทธิ กสทช.ที่กำลังสรรหาอยู่ เนื่องจากในร่าง พ.ร.บ.กสทช.ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปนั้น กำหนดให้มีการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ตามกฎหมายใหม่ ภายใน 15 วัน อาจทำให้ กสทช.ชุดใหม่ ทำงานได้เพียง 6 เตือนต้องสรรหาใหม่

ทั้งนี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ.กสทช.นั้นได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และเพิ่งเห็นชอบในหลักการวาระที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีที่กำหนดพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันที่ 4 ธ.ค.ที่สภาผู้แทนราษฎรส่งร่างกฎหมายมาให้

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า อย่างไรก็ดีมีข้อกังวลเช่นกันว่า อำนาจตามคำสั่ง คสช.ที่ 8/2562 ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากที่นายกฯ โดยความเห็นชอบของ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 63 ให้เริ่มกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ เมื่อกระบวนการสรรหาได้เริ่มขึ้นแล้ว นายกฯ หรือ ครม. จึงไม่อาจสั่งการเป็นอื่นได้ โดยเฉพาะเรื่องการสั่งยุติการสรรหา กสทช. ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้บุคคลเป็นกรรมการ กสทช. ตามกระบวนการที่ พ.ร.บ.กสทช. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2560 ได้ เนื่องจากกฎหมายได้บัญญัติถึงวิธีการสรรหาไว้โดยเฉพาะ และเป็นอิสระ แม้นายกฯจะเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ แต่ พ.ร.บ.ก็ไม่ได้ให้อำนาจยกเลิกการสรรหาที่ดำเนินการไปแล้วได้ และกระบวนการยังต้องดำเนินการต่อไปตามกฎหมายปัจจุบันจนกว่าจะได้ตัวกรรมการ กสทช. อีกทั้ง กสทช.ยังถือเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 274 มิได้ขึ้นกับการบริหารราชการปกติตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกฯไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้เช่นกัน

โดยตาม พ.ร.บ.กสทช. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2560 ฉบับที่บังคับใช้อยู่นั้นกำหนดว่า เมื่อมีเหตุให้ต้องมีการเลือกและแต่งตั้งกรรมการ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาให้ทำหน้าที่แล้ว ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นการสรรหาตามที่ พ.ร.บ.มาตรา 14-17 กำหนดไว้ มิได้มีบทบัญญัติให้ฝ่ายบริหารหรือแม้แต่คณะกรรมการสรรหายุติการสรรหาได้ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การสรรหาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยในมาตรา 15 วรรคสี่ บัญญัติว่าแม้จะมีการฟ้องต่อศาลปกครองก็ไม่เป็นเหตุให้ระงับหรือชะลอการดำเนินการใดได้ ดังนั้น นายกฯ โดยความเห็นชอบของ ครม.จึงมิอาจออกคำสั่งให้ยุติการสรรหาที่ดำเนินการแล้ว อันเป็นการขัดหรือแย้งหรือเพิ่มเติมอำนาจที่มิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับปัจจุบัน ขัดกับหลักนิติธรรมและละเมิดสิทธิของผู้สมัครปัจจุบันได้

สำหรับกระบวนการสรรหา กสทช.นั้น ได้เริ่มต้นตั้งแต่ไปเมื่อการประชุม ครม.วันที่ 16 มิ.ย. ขณะนี้คณะกรรมการสรรหาอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่เข้าสมัครเข้ารับการสรรหาทั้งสิ้น 80 ราย

ผู้สื่อข่าวระบุอีกว่า ส่วนประเด็นบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.กสทช.ที่วุฒิสภาพิจารณาอยู่ และอาจจะกำหนดในบทเฉพาะกาลให้สรรหา กสทช.ภายหลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ที่อาจจะกระทบต่อ กสทช.ที่กำลังสรรหาอยู่นั้น ก็ถือเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่นายกฯ หรือ ครม.ในฐานะฝ่ายบริหาร ไม่ได้มีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขให้มีการกำหนดบทเฉพาะกาลให้กรรมการ กสทช.ที่อาจได้รับการแต่งตั้งชุดใหม่หรือการสรรหากรรมการ กสทช.สิ้นสุดลงเมื่อร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ ตามมติ ครม.เมื่อ 16 มิ.ย. 63 ได้ เนื่องจากเป็นกระบวนการทางนิติบัญญัติซึ่งต้องดำเนินการโดยรัฐสภา มติ ครม.มิอาจขัดรัฐธรรมนูญในเรื่องการบัญญัติกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ที่ต้องดำเนินการโดยรัฐสภาได้

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สาเหตุที่แท้จริงที่มีความพยายามล้มการสรรหา กสทช.อีกครั้งนั้น เนื่องจากพบว่าผู้สมัครเข้ารับการสรรหาบางรายที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจใน คสช.และในรัฐบาลปัจจุบันที่ถูกวางตัวให้เป็น กสทช.ชุดใหม่มีคุณสมบัติต้องห้ามบางประการ โดยเฉพาะมาตรา 7 ข. (12) ของ พ.ร.บ.กสทช.ในส่วนของคุณสมบัติต้องห้าม ที่ระบุว่า “เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลา 1 ปีก่อนได้รับการเสนอชื่อ” ส่งผลให้ผู้มีอำนาจต้องการให้มีการชะลอกระบวนการสรรหา กสทช.ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแสดงความเป็นห่วงต่อกรณีนี้ว่า เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายทั้งหมดแล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่า นายกฯ และ ครม.ไม่มีอำนาจในการยกเลิกการสรรหากรรมการ กสทช.ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งหากยังมีการดำเนินการย่อมต้องถูกผู้สมัครที่ได้รับความเสียหาย หรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองใช้เป็นข้อกล่าวหาในการฟ้องร้องทั้งทางอาญาและทางปกครอง หรือเป็นประเด็นให้ผู้ชุมนุมนำไปใช้เป็นประเด็นทางการเมืองได้ ที่สำคัญอาจกลายเป็นประเด็นเกี่ยวกับการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องของนายกฯ และ ครม. และถูกฟ้องร้องกระทบการดำรงตำแหน่งได้


กำลังโหลดความคิดเห็น