ก.แรงงานจับมือเอกชนสัญชาติสวิส หนุน MARA พัฒนาคนด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติ ยกระดับพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับอุตสาหกรรมEEC
เมื่อเร็วๆนี้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.กระทรวงแรงงาน ได้เป็นประธานรับมอบเครื่องสแกน 2 มิติ มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท จาก บริษัท Sylvac SA จำกัด และร่วมกับเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เปิดงานสาธิตการทำงานระบบอัตโนมัติ ด้วยเครื่องมือวัดร่วมกับหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นความร่วมมือในรูปแบบไตรภาคี ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบัน MARA ร่วมกับ บริษัท Sylvac SA จำกัด โดย บริษัท Max Value Technology จำกัด และบริษัท Unical Works จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรของ Sylvac SA ในประเทศไทย
ทั้งนี้นางนฤมล เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของกพร. ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องเตรียมความพร้อมและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC แรงงานฝีมือที่มีทักษะสูง จะเป็นการสร้างโอกาส และความเข้มแข็งด้านแรงงาน รวมถึงความน่าสนใจในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
ด้านนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าบริษัท Sylvac SA จำกัด ผู้ผลิตเครื่องมือวัดละเอียดซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านไมโครเทคโนโลยีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ บริษัท Max Value Technology จำกัด และบริษัท Unical Works จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรของ Sylvac SA ในประเทศไทย ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอันตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) จัดกิจกรรมสาธิตการทำงานในระบบอัตโนมัติร่วมกับหุ่นยนต์และเครื่องสแกน 2 มิติ (SYLVAC SCAN รุ่น F60T) ซึ่งเป็นเครื่องวัดขนาดชิ้นงานทางอุตสาหกรรม เป็นการรวมองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ กลศาสตร์ และมาตรวิทยา ทำให้เป็นเครื่องมือวัดขนาดทางอุตสาหกรรมที่มีความแม่นยำสูง และจะได้มอบเครื่องสแกน 2 มิติดังกล่าว (มูลค่าประมาณ 2,000,000 บาท) ให้แก่สถาบัน MARA เพื่อใช้ฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติให้แก่แรงงาน ผู้ประกอบกิจการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อไปด้วย
“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจของกพร. ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้เป็นแรงงานคุณภาพสูงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีศักยภาพและความพร้อมในการทำงานยุค 4.0 โดยแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการพัฒนากำลังแรงงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านไมโครเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ ที่ต้องการความแม่นยำสูงมากๆ เครื่องจักร เครื่องมือมีราคาสูง ดังนั้น การร่วมมือกับภาคเอกชนเจ้าของเทคโนโลยี จึงเป็นแนวทางที่จะสามารถพัฒนากำลังแรงงานตามเป้าประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล ซึ่งกพร. เปิดกว้างสำหรับทุกองค์กรที่ต้องการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย พัฒนาทักษะฝีมือ สร้างโอกาสและความมั่นคงทางอาชีพให้แก่แรงงานไทย
นอกจากนี้สถาบัน MARA ยังมีหลักสูตรการฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้านระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมอีกหลายหลักสูตร อาทิ เทคนิคการสร้างต้นแบบโดยใช้เครื่องสแกนเนอร์ 3 มิติ เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ ช่างควบคุมเครื่องกัด CNC เป็นต้น และผู้สนใจฝึกอบรมที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดการฝึกอบรมได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือโทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีกพร. กล่าวทิ้งท้าย