รมช.แรงงาน มอบหมายให้คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ลุยแพร่ หารือร่วมรองผู้ว่าฯ เดินหน้าสร้างแรงงานดิจิทัล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนพัฒนาประเทศ
วันที่ 26 ธันวาคม 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า มอบหมายให้นายพิรัส ศิริขวัญชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านยุทธศาสตร์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตนเองรับผิดชอบในการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เพื่อร่วมหารือแนวทางการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ร่วมหารือด้วย
นายพิรัส กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้มีโอกาสเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้การย้อมผ้าหม้อห้อม “ป้าเหงี่ยม” โครงการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่สักจังหวัดแพร่ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น และโครงการต้นแบบหมู่บ้านนาคูหา ต.สวนเขื่อน อ.เมือง ร่วมถึงได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาแรงงานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ (สนพ.แพร่) ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ เพื่อรับฟังความต้องการช่วยเหลือในด้านการพัฒนาทักษะฝีมือ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ รมช.แรงงาน โดยเฉพาะการพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อสร้างความน่าสนใจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เกิดการซื้อขายที่มากขึ้น นำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อไป
นายพิรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเยี่ยมชมโครงการต้นแบบหมูบ้านนาคูหา ซึ่งเป็นหมู่บ้านในโครงการส่งเสริมธุรกิจสินค้าเด่นของกลุ่มจังหวัดแพร่ เป็นโครงการภายใต้แนวทางการสร้างความเข้มแข็งความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ ตั้งอยู่ยอดดอยสูงใน ต.สวนเขื่อน อ.เมือง ซึ่งชาวบ้านในชุมชนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความเป็นธรรมชาติ เช่น สัมผัสชีวิตค้างคาวในถ้ำห้วยต้นผึ้ง การเก็บเตาบนภูเขาหนึ่งเดียวในประเทศไทย การเดินป่าขึ้นผ้าสิงห์ชมวิวหมู่บ้าน การเยี่ยมสมสวนห้อม สาธิตการสกัดสีจากต้นห้อมธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดเพื่อนำไปสู่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ด้วยการผลักดันให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม และไม่กระทบต่อวิถีดังเดิมของชุมชนโดย สนพ.แพร่ จะจัดฝึกอมรมการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่แรงงานในชุมชน รวมถึงการฝึกอบรมด้านดิจิทัลด้วย อาทิ การขายสินค้าออนไลน์
“การผลักดันแนวนโยบายต้องบูรณาการกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาแรงงาน ด้วยการจัดหาหลักสูตรเพื่อพัฒนาแรงงานให้ทันต่อเทคโนโลยี เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในการสร้างรายได้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สู่การขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอย่างนั่งยืนต่อไป” นายพิรัส กล่าวตอนท้าย