“สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภาฯ รับข้อร้องเรียนชาวบ้านเขาหินซ้อน วอนทบทวนประชาพิจารณ์แบบก่อสร้างทางหลวง 304 ช่วงเขาหินซ้อน เหตุตัด “อุโมงค์ทางลอด-สะพานลอย” ออกจากแบบเดิม หวั่นเดือดร้อน โอดจำเป็นต้องข้ามฝั่งเพื่อเดินทาง-ติดต่อราชการ “สุชาติ” รับปากทางจุดลงตัวที่ทุกฝ่ายพอใจ เพื่อประโยชน์สุงสุดของท้องถิ่น-ชาวบ้าน
ที่อาคารรัฐสภา นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ (จ.ฉะเชิงเทรา) พรรคพลังประชารัฐ รับยื่นหนังสือจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงหมายเลข 304 สายฉะเชิงเทรา-เขาหินซ้อน ที่มีการตัดในส่วนของอุโมงค์ทางลอดบริเวณสะพานข้ามแยก รวมถึงไม่มีความชัดเจนในการกำหนดจุดสร้างสะพานลอยคนข้าม สำหรับเดินเท้าข้ามถนน โดยมี นายวิชญ์ธวัช ศรีวิกาญจน์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย น.ส.พุทธอร พันธ์ทอง ตัวแทนชาวบ้าน และคณะ เข้าชี้แจงรายละเอียด
โดยตัวแทนชาวบ้านให้ข้อมูลว่า เนื่องจากแขวงทางหลวงฉะเชิงเทราได้มีการเชิญให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดรูปแบบโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 ดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 ณ สำนักงานเทศบาล ต.เขาหินซ้อน ปรากฏว่า กลุ่มชาวบ้านมีความเห็นแตกต่างเป็น 2 ฝ่าย ทั้งผู้ที่เห็นด้วยในแบบก่อสร้างเดิม ที่มีการกำหนดจุดอุโมงค์ทางลอด สำหรับกลับรถและทางเดินเท้าข้ามฝั่งถนนไว้ และกลุ่มที่เห็นคัดค้านขอเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างใหม่ โดยไม่ให้ทำอุโมงค์ทางลอด และไม่มีความชัดเจนเรื่องตำแหน่งสะพานลอยคนข้าม ขณะเดียวกัน กลับใช้เวทีชี้แจงรูปแบบก่อสร้าง รวบรัดทำประชาพิจารณ์ และตัดสิทธิ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกไปเป็นจำนวนมาก ให้สิทธิ์เฉพาะกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ที่หน้าตลาดเขาหินซ้อน ในการออกเสียงประชาพิจารณ์ ส่งผลให้ผู้ที่มีเห็นด้วยกับแบบก่อสร้างใหม่ที่ไม่มีอุโมงค์ทางลอด และไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับจุดสะพานลอยคนข้ามชนะไปด้วยเสียงข้างมาก ทั้งที่ประชาชนที่ไม่ได้อาศัยอยู่บริเวณหน้าตลาดก็มีความเดือดร้อน หากไม่มีอุโมงค์ทางลอด หรือสะพานลอยคนข้าม เนื่องจากถนนช่วงดังกล่าวกว้างถึง 10 เลนจราจร จุดกลับรถอยู่ไกลถึง 4 กิโลเมตร อีกทั้งฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งทั้งสถานีตำรวจ, โรงพยาบาล, สถานีอนามัย และศูนย์เด็กเล็ก รวมไปถึงการเดินทางเพื่อไปทำงาน จึงมีความจำเป็นต้องสัญจรไปมาระหว่างฝั่งถนนเป็นประจำ ดังนั้น จึงขอให้มีการตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องในการทำประชาพิจารณ์ และขอให้แขวงการทางฉะเชิงเทราดำเนินการชี้แจงรายละเอียดแบบก่อสร้างใหม่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบทั้งหมด ตลอดจนทบทวนการแบบก่อสร้างให้มีอุโมงค์ทางลอด หรือกำหนดจุดสร้างสะพานลอยคนข้ามให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการลงเสียงประชาพิจารณ์อีกครั้งให้ถูกต้อง
ภายหลังรับฟังและสอบถามรายละเอียดเบื้องต้น นายสุชาติ ระบุว่า ขอรับเรื่องดังกล่าวไว้เพื่อศึกษาข้อมูลโดยละเอียดอีกครั้ง โดยเห็นว่า กรณีนี้มีความจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของอีกฝ่ายเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายคณะทำงานศึกษารายละเอียด และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน หาจุดที่ลงตัวที่เป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ท้องถิ่น และชาวบ้าน