วันนี้ (11 พ.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาคัดค้านไม่ควรบรรจุร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า เรื่องนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายดูอยู่ว่ากฎหมายใดจะเข้าสภาเมื่อใด อย่างไร แต่มีคนค้านว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ แต่จากที่ได้อ่านดูรายละเอียดในรายงานเห็นว่าได้ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว ทั้งนี้ การพิจารณาต้องเป็นไปตามกฎหมาย การประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาได้กี่อย่างมีกำหนดไว้อยู่แล้ว ตนจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเข้าข้อบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลเสนอมาให้พิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา
เมื่อถามว่าถ้ามีการบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นวาระพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา แล้วฝ่ายค้านนำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยจะทำให้การออกกฎหมายล่าช้าหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญบางเรื่องสมาชิกอาจเข้าชื่อกันแล้วยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย แต่บางเรื่องก็ต้องยื่นผ่านประธานรัฐสภาเพื่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อ เช่น ยื่นให้ศาลวินิจฉยคุณสมบัติ ส.ส.
นายชวนยังกล่าวถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์กรณีที่มีคำถามว่าได้ติดต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ว่าตนคุยกับอดีตนายกฯ ที่อยู่ในประเทศไทย ได้คุยหมดแล้ว ยกเว้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร เพราะท่านป่วยจึงไม่ได้คุย และเท่าที่มีเวลาได้ติดต่อประสานงานพูดคุยกับคนที่ทำงานด้านนี้ เพราะคิดว่าเฉพาะหน้าเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ไป แต่ในระยะยาวต้องป้องกันความขัดแย้ง ความขัดแย้งทางการเมืองต้องมีตลอดไปซึ่งไม่ได้แปลกอะไร แต่ประชาชนขัดแย้งกันเอง ถ้าย้อนหลังไปดูจะมีบางช่วงที่เกิดขึ้นจริงๆ เกิดจากการกระทำ ส่วนใหญ่คือฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้กระทำให้เกิดความขัดแย้ง ชนิดที่คนหนึ่งเข้าจังหวัดนั้นไม่ได้ จังหวัดนี้ไม่ได้ ซึ่งต้องศึกษาว่าจะป้องกันอย่างไร เพราะเรื่องอดีตบางเรื่องสามารถนำมาศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นได้