กรณีที่กระทรวงมหาดไทยเตรียมผลักดันเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ออกไปอีก 30 ปี หลังครบอายุสัมปทานในปี 2572 ซึ่งเมื่อขยายอายุสัมปทานแล้วจะครบอายุสัมปทานในปี 2602
โดยอ้างอิงมาตรา 44 ซึ่งมีข้อยกเว้น พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน จนกลายเป็นข้อครหาว่าจะเกิดความไม่โปร่งใส และถือว่าไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารด่วนที่สุด ที่ นร.1115/7214 ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ทำหนังสือขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เรื่องการกู้เพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เพื่อประกอบการพิจารณาของครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561
โดยสภาพัฒน์ได้มีความเห็นว่า เห็นควรให้ความเห็นชอบการกู้เงินเพื่อใช้ในการโอนโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
นอกจากนี้ยังเห็นควรให้ กทม.เร่งเสนอรูปแบบการลงทุนและบริหารจัดการเดินรถตามขั้นตอน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อให้ กทม.สามารถเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในเดือนธันวาคม 2561 ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายใต้การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อเปิดดูสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวในเมือง เส้นหมอชิต-ตากสิน-อ่อนนุช หรือเส้นทางที่ถูกขนานนามว่า “ไข่แดง” เป็นสัมปทานรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ครบสัญญาในปี 2572
ขณะที่สัญญาส่วนต่อขยาย ทั้งทางด้านเหนือ (ไปคูคต) และทางด้านใต้ (ไปสมุทรปราการ) เป็นรูปแบบ PPP Gross Cost โดยจ้างเอกชนบริหารเดินรถ และรัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้ ครบสัญญาในปี 2585 แต่กลับพบว่า กทม.ได้หลบเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยให้บริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในเครือของ กทม.ดำเนินการเป็นคู่สัญญากับ BTSC แทน เพราะบริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ จนถูกร้องเรียนและอยู่ในชั้นสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
จึงมีการตั้งคำถามว่า เหตุใดกระทรวงมหาดไทย และ กทม.ถึงยังจะต่อขยายสัมปทานให้แก่ BTS อีก และเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จึงออกมาตรา 44 โดยไม่ถือเป็นการร่วมทุนตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งๆ ที่สภาพัฒน์ให้ความเห็นต่อ ครม.อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนว่าให้ กทม.ดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 โดยปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และ ครม.เองก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใดด้วย