xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” เปิดโครงสร้าง คกก.สมานฉันท์ 21 คน 1 ธ.ค.ประชุมรัฐสภา ถกตีความ ม.256 หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.สภาฯ ประชุม 3 ฝ่าย เปิดโครงสร้าง คกก.สมานฉันท์ 21 คน มอบหมายเลขาธิการสภาฯ ประสานทุกฝ่าย สามารถเดินหน้าทำงานได้ ไม่จำเป็นต้องพบทุกฝ่าย นัดประชุมรัฐสภา 1 ธ.ค.นี้ พิจารณาญัตติจะยื่นศาล รธน.ตีความ ม.256 หรือไม่

วันนี้ (24 พ.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล, นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เพื่อพิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์

โดยนายชวนแถลงหลังการประชุม โดยได้ข้อสรุปโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ 21 คน ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาล 2 คน, ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน, ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน, ผู้แทนฝ่ายวุฒิสภา 2 คน, ผู้แทนฝ่ายผู้ชุมนุม 2 คน, ผู้แทนผู้ที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ประกอบด้วย บุคคลที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเสนอ 3 คน บุคคลที่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเสนอ 1 คน บุคคลที่ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเสนอ 1 คน บุคคลที่มีประสบการณ์ทำงานด้านความปรองดองสมานฉันท์ โดยกรรมการเท่าที่มีอยู่เลือกมาด้วยมติ 2 ใน 3 จำนวน 4 คน ซึ่งสามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้แทนครบทุกกลุ่ม และเบื้องต้นได้มอบหมายให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรประสานหาตัวแทนกลุ่มต่างๆ แล้ว ซึ่งการนัดประชุมครั้งแรกนี้ก็ต้องรอดูว่าหากมีการตอบรับก็สามารถประชุมได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีผู้ตอบรับจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง

ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ นายชวนบอกว่า โดยเริ่มต้นให้เป็นชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่เมื่อคณะกรรมการเกิดขึ้นแล้ว เห็นว่าชื่อควรจะเปลี่ยนหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของคณะกรรมการ และย้ำว่าประธานคณะกรรมการชุดนี้ให้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการ ไม่ได้เป็นประธานรัฐสภา

ส่วนเงื่อนไขหากผู้ชุมนุมไม่เข้าร่วมคณะกรรมการ นายชวนบอกว่า ไม่มีปัญหา เพราะเป็นภารกิจที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ คณะกรรมการจะตอบรับเข้าร่วมกี่ฝ่ายก็เอาเท่าที่มีไปก่อน ส่วนที่เหลือก็ประสานงานกันต่อไป แต่ก็พยายามให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม หากบางฝ่ายไม่อยากร่วมก็ต้องให้เวลา แต่ขณะเดียวกันคณะกรรมการก็ต้องทำงานไป

ส่วนคณะกรรมการรูปแบบที่ 2 นายชวนกล่าวว่า ที่คิดไว้เบื้องต้นยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยจะมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดูแล เบื้องต้นมีการหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ และอดีตนายกรัฐมนตรีเกือบทุกคน และทุกฝ่ายก็ให้ความเห็นในทิศทางที่เป็นบวก สนับสนุนให้ทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเชิญบุคคลเหล่านี้เข้ามาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้ใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายองค์กรที่จะหารือต่อไป

สำหรับอำนาจของคณะกรรมการจะเป็นฉันทมติผูกพันกับทุกฝ่ายได้หรือไม่นั้น นายชวนกล่าวว่า ต้องให้โอกาสคณะกรรมการเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อคณะกรรมการทำงานแล้วก็จะมีโอกาสรายงานให้ทราบต่อไป

นายชวนยังกล่าวถึงความรู้สึกของประชาชนหลังจากการลงพื้นที่ว่า ประชาชนคาดหวังให้บ้านเมืองสงบลดความขัดแย้ง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย เพราะความขัดแย้งเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางเรื่องสามารถป้องกันได้ โดยรูปแบบที่คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ 4 คณะในอดีตเคยทำมาก็ทำได้ดี แต่ที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติเพราะข้อเสนออาจจะไม่ตรงกับเรื่องที่เกิดขึ้น มองว่าฝ่ายการเมืองจะทราบเงื่อนไขไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการทำงานไม่ตรงกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พร้อมระบุถึงการใช้โซเชียลมีเดีย ถ้าใช้เพื่อการสร้างความเข้าใจใช้ในทางปรองดองก็จะเป็นเรื่องดี แต่ก็จะมีโทษมหันต์หากใช้สร้างความขัดแย้ง ก็จะมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความรู้ความเห็น

ส่วนที่บางฝ่ายวางเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นายชวนกล่าวว่า การประชุมวันนี้ไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องเหล่านี้ โดยให้คณะกรรมการเป็นผู้ศึกษารูปแบบที่จะสร้างความปรองดอง

นายชวนเปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย ยังมีมติร่วมกันให้นัดประชุมรัฐสภาวันที่ 1 ธันวาคม เพื่อพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กระทรวง ทบวง กรม และร่างแก้ไข พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ และญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ รวบรวมรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ รวมถึงอยู่ระหว่างรอเรื่องที่รัฐบาลจะส่งมาให้รัฐสภาพิจารณา ไม่เห็นชอบให้งดประชุมวันที่ 9 ธันวาคม เพื่อให้เป็นวันหยุดต่อเนื่อง และนัดชดเชยประชุมวันที่ 18 ธันวาคม

ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่า กรรมการสมานฉันท์ชุดนี้พอมีความหวังอยู่บ้านที่จะแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการเชิญตัวแทนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะฝ่ายผู้ชุมนุมและคนที่คิดต่างจากฝ่ายผู้ชุมนุม ซึ่งในอดีตโครงสร้างกรรมการปรองดองจะไม่มีส่วนนี้ และหลังจากนี้เชื่อว่าผู้ชุมนุมคงจะได้มีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ แต่ก็อยากให้ฟังดูก่อน เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่หลังจากนี้จะมีการหารือกันว่าจะส่งตัวแทนเข้าร่วมหรือไม่ แต่อย่างน้อยๆ วันนี้ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ได้ร่วมวางกรอบ สำหรับหน้าที่ของกรรมการชุดนี้จะเน้นไปที่การศึกษาในปัญหาต่างๆ เพื่อเสนอแนะเป็นแนวทางให้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหมดไปพิจารณาแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต




กำลังโหลดความคิดเห็น