xs
xsm
sm
md
lg

ชง2โมเดลตั้งคณะกก.ปรองดอง “ชวน”จีบอดีตนายกฯ-ปธ.รัฐสภาร่วม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-สถาบันพระปกเกล้า ชง 2 โมเดลตั้งคณะกรรมการปรองดอง เผยมีทั้งรูปแบบผู้แทน 7 ฝ่าย และมีคนกลาง “ชวน”ย้ำต้องใช้คนไม่มาก เน้นมีประสิทธิภาพ เข้าใจปัญหา เร่งทาบทามอดีตนายกฯ อดีตประธานรัฐสภาเข้าร่วม ปัดตอบตั้งได้เมื่อไร เหตุต้องใช้เวลา พร้อมขอเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าประสานตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าร่วม ส่วนประเด็นถกขึ้นอยู่กับมติคณะกรรมการ “วิรัช”หนุนใช้สภาแก้ปัญหา แนะอย่าตั้งแง่ ตั้งเงื่อนไข ฝ่ายค้านย้ำนายกฯ คือตัวปัญหา ต้องลาออกอย่างเดียว

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการหารือเพื่อออกแบบโครงสร้างและวิธีการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ กับนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และผู้บริหารสถาบัน ว่า สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 เป็นไปตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ โดยมีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย เช่น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่น แต่ก็มีจุด่อน คือ หากฝ่ายใดปฏิเสธไม่ร่วมองค์ประชุมก็จะไม่ครบ หรือหารือพูดคุยไม่นาน ก็อาจเสร็จเร็ว หรือจะล่มได้ รวมทั้งถ้ามองผิวเผินจะมีแค่ฝ่ายรัฐบาล กับวุฒิสภา ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ ก็ถือว่าน่ากังวล

ส่วนรูปแบบที่ 2 มีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่ากรรมการที่ไปทาบทามจะรับหรือไม่ เพราะเขาก็ต้องดูว่าปัญหาที่จะเข้ามาทำ คือ อะไร

อย่างไรก็ตาม จะไปประสานกับฝ่ายต่างๆ ตามรูปแบบที่ 1 ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็จะมาในรูปแบบที่ 2 หรือนำรูปแบบที่ 1 กับ 2 มาประสานกัน และในส่วนของตัวบุคคล อาจต้องไปถามตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ว่า จะเข้าร่วมหรือไม่ คนนอกจะมาร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องไปคัดคน เอาจำนวนไม่มาก แต่มีประสิทธิภาพ เข้าใจปัญหา ซึ่งตนก็จะไปพูดคุยกับผู้นำฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เป็นการภายใน

นายชวนกล่าวว่า ส่วนตัวได้ประสานกับอดีตนายกรัฐมนตรี 3 คน อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งต่างก็ห่วงบ้านเมือง พร้อมจะให้ความเห็น หรือถ้ามีโอกาส ก็จะมาร่วม รวมถึงพูดคุยกับบุคคลต่างๆ เพื่อดูว่าใครสนใจในเรื่องนี้บ้าง ซึ่งยังไม่ได้กำหนดเวลาว่าคณะกรรมการฯ จะต้องเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะต้องใช้เวลาในการประสานแต่ละคน ส่วนตัวแทนของผู้ชุมนุม ถ้าเข้าร่วมด้วย ก็จะเป็นประโยชน์มาก

“ได้ให้ทางเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปประสาน ซึ่งไม่อยากให้สื่อตั้งเงื่อนไขว่าผู้ชุมุนมจะเข้าร่วมหรือไม่ เอาเป็นว่าเราเป็นฝ่ายยื่นมือเข้าไปเชิญชวนให้เขามาร่วมแก้ไขปัญหาส่วนรวม และไม่อยากให้ไปตั้งเป้าหมายว่า มันไม่มีประโยชน์ หรือไม่สำเร็จ ทุกอย่างมันเริ่มต้นจากการที่คนส่วนใหญ่ในประเทศอยากเห็นบ้านเมืองสงบ วิธีไหนทำให้บ้านเมืองสงบได้เราก็จะพยายาม ซึ่งในการหารือ ก็จะพูดคุยกันเฉพาะเรื่องของโครงสร้างคณะกรรมการฯ ไม่ได้มีการพูดคุยถึงข้อเรียกร้องต่างๆ รวมถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของผู้ชุมนุม หรือที่ทางพรรคก้าวไกลระบุว่า ต้องมีการคุยในประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ จึงจะเข้าร่วม เพราะเห็นว่าใครจะตั้งธงอย่างไรก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการว่าจะหารือพูดคุยในเรื่องอะไรบ้าง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้า ได้เผยแพร่เอกสาร ระบุถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยมีรายละเอียดว่า จำนวนกรรมการที่เหมาะสม อยู่ระหว่าง 7-9 คน โดยรูปแบบที่ 1 ผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งในรูปแบบนี้ มีข้อห่วงกังวล คือ 1.ตัวแทน 7 ฝ่าย อาจมีองค์ประกอบที่ไม่สมดุล น้ำหนักเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล ทำให้มีกรรมการจะไม่ได้รับความไว้วางใจ 2.ต้องระมัดระวังในการจัดหาผู้เอื้อกระบวนการ ซึ่งควรเป็นคณะทำงานจากหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วน ไม่ควรผูกขาด , การจัดวาระการประชุม และการยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการ 3.โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมมีสูง และ 4.การหาตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นไปได้ยาก

ส่วนรูปแบบที่ 2 การมีคนกลางนั้น มีข้อดี คือ ทำให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ของการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ ส่วนข้อห่วงกังวล คือ การยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการ และกรรมการ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอมาว่า ในส่วนของรัฐบาลไม่ขัดข้อง จะเป็นแบบไหนก็ได้ ถ้าเรามาร่วมกันแก้ปัญหา แต่คงต้องรอประธานสภา รวมทั้งตัวแทนของทุกฝ่ายว่าจะเห็นชอบรูปแบบไหน แต่หากคิดว่าตรงนั้นไม่ร่วม ตรงนี้ไม่ร่วม บ้านเมืองก็เดินไม่ได้ ดังนั้น อะไรก็ตาม ขอให้ร่วม และอะไรที่คิดว่าไม่ดี ก็มาแก้ไข ในเมื่อบอกว่าสภาถือเป็นทางออกเราก็ต้องมาเอาสภาเป็นทางออก

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านระบุว่า เงื่อนไขเดียวที่จะปรองดองได้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องลาออก นายวิรัช กล่าวว่า ยิ่งตั้งเงื่อนไขว่านายกฯ ต้องลาออก หาก ส.ส.เขาย้อนกลับไปว่า ฝ่ายค้านก็ลาออกด้วยก่อนหรือไม่ ก็จะทำให้ยุ่งไปใหญ่ ฉะนั้นอะไรที่เป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้ก็ควรจะทำ และอะไรที่เป็นเงื่อนไขเป็นความขัดแย้ง ก็อย่าไปทำ เมื่อเขาเสนอให้นายกฯ ลาออก ตนก็เสนอไปแล้วว่า นายกฯ ต้องอยู่ต่อเพื่อแก้ไขปัญหา และยังเป็นผู้มีเสียงสนับสนุนจากสภามากที่สุด ส่วนผู้ชุมนุมก็เป็นผู้ชุมนุม วันนี้เราต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้ง 67 ล้านคน หากให้นายกฯ ลาออกแล้วสภาเลือกกลับเข้ามาใหม่จะทำอย่างไร มีอะไรตรงไหนที่ไม่ให้นายกฯ มาลงสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอให้ทำประชามติว่าสมควรให้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง 2 ปีหรือไม่นั้น ตนยังไม่รู้เรื่องนี้ แต่ถ้าจะทำประชามติ เรายังมีช่องที่อาจลงทุนน้อยที่สุด คือ พ่วงไปกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ทั่วประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะทำได้ทุกเรื่อง อยู่ที่แต่ละเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจ บางอย่างจะไปรวมกันไม่ได้ หากจะถามว่าผู้ชุมนุมควรหยุดหรือไม่ ก็สามารถทำประชามติได้

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้เกิดจากตัวนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก หลังบริหารประเทศมา 5-6 ปี มีแต่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีความปรองดองเกิดขึ้นเลย อีกทั้งเศรษฐกิจยังล้มเหลว ฝ่ายค้านจึงเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมาคงเปล่าประโยชน์ ต้องถอดสลักสำคัญออก ซึ่งได้มีการอภิปรายในสภาไปแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ฝ่ายค้านเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความขัดแย้ง และยังมองไม่เห็นช่องทางในการประนีประนอมหรือยุติลงได้ ฝ่ายค้านจึงได้ระดมความคิดว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองไปสู่ความสงบ โดยมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันคนกลุ่มหนึ่งถูกใช้กฎหมายดำเนินการจับกุมดำเนินคดี ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายเล็กเหนือกฎหมายใหญ่ ใช้กฎหมายเหนือความยุติธรรม

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือ ปัญหา ดังนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกไป การพูดคุยหรือการคลี่คลายปัญหาคงจะง่ายขึ้น หากจะมีคณะกรรมการขึ้นมา ตรงนี้จะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถเสนอข้อเรียกร้องสู่สาธารณะได้ แล้วหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ และกรรมการชุดนี้ต้องสรุปจุดร่วมและจุดต่างเพื่อนำมาหาช่องทางในการทำงานร่วมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น