xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : แฮตทริกเหตุนองเลือด เผือกร้อนในมือ ปชป.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 3 พศจิกายน 2563 ตอน แฮตทริกเหตุนองเลือด เผือกร้อนในมือ ปชป.



ขณะนี้ การเมืองในรัฐสภา กลับมาเปิดฤดูกาลอีกครั้งตั้งแต่ สัปดาห์นี้เป็นต้นไป เป็นการเปิดสภาสมัยประชุมสามัญเมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีหลายประเด็นให้ต้องติดตาม แต่ละเรื่อง ล้วนร้อนแรง แตกต่างกันไปตามสภาพ

แต่เรื่องใหญ่ อันดับหนึ่ง เป็นเรื่องใด ไปไม่ได้ ย่อมคือ การลงมติ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ซึ่ง ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา จับมือกันเล่นเกมซื้อเวลา ไม่ยอมให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมหกร่าง เมื่อปลายเดือนกันยายน
ลากยาวมาได้หนึ่งเดือนเศษ ด้วยการตั้งกรรมาธิการร่วมฯ แถ-ถู-ไถ จนได้ผล การพิจารณาที่ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เสียเวลาไปเปล่าๆ หนึ่งเดือน

เพราะเหตุนี้ ทำให้การเมืองนอกรัฐสภา ม็อบสามนิ้ว ระอุ และกลายเป็นไฟลามทุ่ง จนเรื่องแก้ไขรธน. เป็นเชื้อฟืนไฟขับไล่ บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ

ประชุมรัฐสภามารอบนี้ จึงเป็นไฟท์บังคับ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผ่านเรื่องการแก้ไขรธน. ถือเป็นของร้อน ของรัฐสภา ในสมัยประชุมนี้ และอีกหนึ่งเรื่องร้อนและด่วนมาก คือเรื่องที่ฝ่ายรัฐสภา รับหน้าเสื่อ เป็นเจ้าภาพ โดยเชื่อมโยงกับม็อบสามนิ้ว ก็คือ การตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกประเทศ”

กรรมการสมานฉันท์ฯ มีข้อเสนอออกมาตอนแรกที่เรียกว่า โมเดลตั้งกรรมการ7 ฝ่าย คือดึงตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ มาร่วมเป็นกรรมการ ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล-ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล-ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน

-ตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา-แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม -ตัวแทนฝ่ายเห็นแตกต่างกับผู้ชุมนุมเช่น กลุ่มไทยภักดี -ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการสายรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์

ซึ่ง นาย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รับลูกแนวคิด และให้สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะฝ่ายวิชาการและฝ่ายวิจัย ของรัฐสภา ที่มีภาพความเป็นกลาง ไปวางพิมพ์เขียวออกมา

แต่การตั้งกรรมการสมานฉันท์ ก็อยู่ท่ามกลาง การตั้งป้อมแข็งขัน จากฝ่ายค้านและแกนนำม็อบ ที่ยื่นเงื่อนไขสำคัญสองเรื่อง คือ หากพลเอกประยุทธ์ ไม่ลาออก และไม่มีการนำเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นหนึ่งในหัวข้อการพูดคุย ก็จะไม่ร่วมสังฆกรรม กับคณะกรรมการสมานฉันท์

ทำให้ เค้าลาง การมีกรรมการสมานฉันท์แก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง ยังไม่ทั้งเริ่มต้นก็เห็นแล้วว่า คงเกิดยาก เดินลำบาก แน่ๆ

ทว่าสุดท้าย สถาบันพระปกเกล้า ผู้รับมอบหมาย ก็ชงพิมพ์เขียวโมเดล กรรมการปรองดองสมานฉันท์ ออกมา 2 รูปแบบ ส่งมาให้เคาะว่าจะเอาแบบไหน

รูปแบบแรก คือ มี ผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย แต่มีปัญหาคือ โมเดลนี้ หากไม่มีตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านและตัวแทน ฝ่ายผู้ชุมนุม การทำงานก็จบยากเพราะตั้งได้ ก็ทำงานยาก มีปัญหาเรื่องการยอมรับ หากเพราะกรรมการมีแค่คนของ ฝ่ายรัฐบาลกับ ส.ว.ที่เป็นเนื้อเดียวกันทางการเมือง

ส่วนรูปแบบที่สอง คือ ให้ประธานรัฐสภา ซึ่งก็คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานฝ่ายนิติบัญญัติ แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ตามชื่อที่เห็นว่าเหมาะสมขึ้นมาทำงานเลย

หรืออีกวิธี คือ ให้ฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายค้าน ฝ่ายแกนนำม็อบ ไม่ต้องส่งคนของตัวเองมาร่วมก็ได้ เพื่อจะได้ไม่เสียหลักการที่ประกาศไปแล้วว่า ไม่เอาด้วยกับการตั้งกรรมการ แต่ให้ฝ่ายค้านกับแกนนำม็อบ เสนอชื่อ คนกลาง หรือคนนอก ที่เห็นว่าเหมาะสม มาให้ แล้วประธานรัฐสภา ก็ตั้งคนที่ถูกส่งชื่อมา เป็นกรรมการ

วิธีนี้มีข้อดี คือ ทำให้รัฐสภา เป็นพื้นที่ของการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา ยิ่งหากตัวประธานคณะกรรมการเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็จะทำให้ การทำงานของกรรมการสมานฉันท์เกิดขึ้นได้

จุดสำคัญของกรรมการสมานฉันท์ ถึงตอนนี้ สังคมขานรับ สนับสนุนแนวคิด เพราะการมี กรรมการสมานฉันท์ สร้างความปรองดอง เป็นเรื่องดีแน่นอน เนื่องจากทุกคน อยากเห็นการหาทางออกวิกฤตการเมืองผ่านกลไกล การพูดคุย ถกแถลง สู้กันด้วยเหตุผลและคุยกันอย่างสันติ ดีกว่า การก่อม็อบ หรือการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา

เพียงแต่ จะทำอย่างไร ให้ฝ่ายค้านและฝ่ายแกนนำม็อบเอาด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะหากไม่มีคนของฝ่ายค้านและแกนนำม็อบร่วมวงถกแถลงหาทางออกด้วย ถึงต่อให้มีกรรมการสมานฉันท์ ก็แทบไม่มีความหมายใดๆ

นี่คือโจทย์ใหญ่ของชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และสถาบันพระปกเกล้า จะคลายล็อกปัญหานี้อย่างไร โดยเฉพาะ ลำดับแรกสำคัญสุด ในการคลายล็อก ก็คือ ต้องทำให้ ฝ่ายค้าน และแกนนำม็อบสามนิ้ว เชื่อได้ว่า การตั้งกรรมการ ไม่ใช่เกมลับลวงพราง ในการซื้อเวลา ต่ออายุให้บิ๊กตู่

ภารกิจสมานฉันท์ครั้งนี้ สำคัญเป็นอย่างมากกับนายชวนและพลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะในอดีต กับเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาฯ2519 สมัยนั้นมีนายกรัฐมนตรีเป็นคนของประชาธิปัตย์ 

และอีกครั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองปี2553 ส่งผลให้มีคนตายนับร้อยราย

เป็นสองเหตุการณ์ใหญ่ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มาคราวนี้แม้คนจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายชวน ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานรัฐสภา ก็มีบทบาทและอำนาจที่จะคลี่คลายสถานการณ์ร้อนก่อนที่จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ในปี2519กับ2553

ไม่อยากให้ประเทศไทยเข้าสู่สงครามกลางเมือง ที่ต้องมาเข่นฆ่ากันเอง และไม่อยากเห็นประชาธิปัตย์ทำแฮททริก เป็นรัฐบาลในเหตุคนไทยฆ่าคนไทยเป็นหนที่สาม ต้องเอาใจช่วย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น