ปธ.วิปรัฐบาล เผยสภายอมเสียเวลา 1 สัปดาห์รอพิจารณาร่างไอลอว์พร้อม 6 ฉบับ ตั้ง ส.ส.ร.ยึดร่างรัฐบาลเป็นหลัก หารือ “ชวน” พรุ่งนี้ เผยท่าที ส.ว.เริ่มดีขึ้น แขวะฝ่ายค้านมือไม่พาย คอยติอย่างเดียว หนุนไอเดีย “ไพบูลย์” ทำประชามติตามหยุดม็อบ
วันนี้ (2 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระรับหลักการ 6 ฉบับ ว่าหากพิจารณาในวันนี้โดยไม่รอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน หรือไอลอว์ ก็สามารถบรรจุได้เลย เพราะรายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่หากรอร่างของไอลอว์ก็สามารถบรรจุในวาระการประชุมได้หลังวันที่ 12 พ.ย. คาดว่าน่าจะประมาณวันที่ 17 พ.ย. หรือ 18 พ.ย. แต่ถ้ามีปัญหาก็อาจจะล่าช้าออกไปได้เล็กน้อย และเมื่อพิจารณาแล้วอาจจะใช้เวลาครึ่งวันในการรับทราบรายงานของ กมธ. จากนั้นก็จะสามารถโหวตได้เลย
นายวิรัชกล่าวต่อว่า เห็นว่าหากเสียเวลารอร่างของไอลอว์ จะเสียเวลาเพียงแค่อีก 1 สัปดาห์ก็จะมีโอกาสพิจารณาพร้อมกันทั้ง 3 ร่างที่มีเนื้อหาคล้ายกัน คือ ร่างของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และร่างของไอลอว์ที่ให้แก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนท่าทีของ ส.ว.สัญญาณเริ่มดีขึ้นจากการพิจารณาของประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ดังนั้นจึงอยู่ที่การลงมติว่าจะออกมาอย่างไร อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าวันนี้เราไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เป็นไปตามระบบขั้นตอนที่เราได้กำหนดไว้
นายวิรัชกล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบ ส.ส.ร.ในรายงานของ กมธ.ได้มีการพูดคุยกันมากว่าควรเอาร่างของรัฐบาลเป็นหลัก โดยให้มาจากการเลือกตั้ง ใช้เขตจังหวัดจำนวน 150 คนและส่วนอื่นเป็นองค์ประกอบตามที่กำหนดไว้ เมื่อถามย้ำว่าดูเหมือนข้อเสนอเรื่อง ส.ส.ร.จะไม่สอดคล้องกับร่างของฝ่ายค้านและไอลอว์จะมีปัญหาหรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า ถ้าเหมือนกันคงไม่ต้องเดินขบวน เพราะเห็นต่างกันแต่เราไม่แตกแยก อะไรที่คิดว่าจะแก้ไขก็ไปทำในวาระที่ 2 ได้ถ้าจำนวนและที่มาของ ส.ส.ร.ไม่ตรงกันก็ไปแก้ไขในวาระ 2 ได้ ซึ่งอาจจะเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือผสมผสานกันก็ได้
ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศนั้น นายวิรัชกล่าวว่า ได้รับการประสานจาก นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานภสาผู้แทนราษฏร ว่าให้ไปพูดคุยกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 พ.ย.ซึ่งเท่าที่ทราบมี 3 รูปแบบที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอมา คือแบบแรก จะมีตัวแทนจาก7 ฝ่ายเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ แบบที่ 2 ตัดผู้ชุมนุมและผู้คัดค้านออกเหลือ 5 ฝ่าย โดยมีประธานรัฐสภาเป็นคนกลาง และแบบที่ 3 เป็นเรื่องที่ประธานรัฐสภาต้องไปหาคนกลาง และประกอบด้วยคนภายนอกทั้งหมด จึงเริ่มมีความชัดเจนขึ้นตามที่สภาบันพระปกเกล้าเสนอมา จึงต้องมาร่วมกันพิจารณา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะ ส.ส. รวมถึง ส.ว. และรัฐบาลด้วย จึงคิดว่าจะเห็นรูปร่างที่ชัดเจนนับจากวันนี้ไปไม่น่าจะเกิน 1 สัปดาห์ก็น่าจะเรียบร้อย
เมื่อถามว่าท่าทีของฝ่ายค้านดูเหมือนจะไม่ตอบรับกับคณะกรรมการฯชุดนี้ นายวิรัชกล่าวว่า ฝ่ายค้านก็เหมือนกับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนแรกก็บอกว่าไม่เห็นด้วย แต่พอมาตอนหลังก็บอกว่าให้เแสดงความจริงใจ รีบเอาเข้าพิจารณา รัฐบาลก็แสดงความจริงใจทุกอย่างว่าหากรออีก 1 สัปดาห์ก็จะได้ร่างของไอลอว์ด้วย ส่วนฝ่ายค้านไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่คอยจะติว่าทั้งหมดทำถึงไหน จึงอยากให้ฝ่ายค้านไปอ่านดูว่าสิ่งที่รัฐบาล และ ส.ว.ทำไปนั้นได้มากน้อยแค่ไหน
“ในส่วนของรัฐบาลไม่ขัดข้อง จะเป็นแบบไหนก็ได้ ถ้าเรามาร่วมกันแก้ปัญหา แต่คงต้องรอประธานสภา รวมทั้งตัวแทนของทุกฝ่ายว่าจะเห็นชอบรูปแบบไหน แต่หากคิดว่าตรงนั้นไม่ร่วม ตรงนี้ไม่ร่วมบ้านเมืองก็เดินไม่ได้ ดังนั้น อะไรก็ตามขอให้ร่วมและอะไรที่คิดว่าไม่ดีก็มาแก้ไข ในเมื่อบอกว่าสภาถือเป็นทางออกเราก็ต้องมาเอาสภาเป็นทางออก”
เมื่อถามต่อว่าฝ่ายค้านระบุว่าเงื่อนไขเดียวที่จะปรองดองได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกอย่างเดียว นายวิรัชกล่าวว่า ยิ่งตั้งเงื่อนไขว่านายกฯ ต้องลาออก หาก ส.ส.เขาย้อนกลับไปว่าฝ่ายค้านก็ลาออกด้วยก่อนหรือไม่ ก็จะทำให้ยุ่งไปใหญ่ ฉะนั้นอะไรที่เป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้ก็ควรจะทำ และอะไรที่เป็นเงื่อนไขเป็นความขัดแย้งก็อย่าไปทำ เมื่อเขาเสนอให้นายกฯ ลาออก ตนก็เสนอไปแล้วว่านายกฯ ต้องอยู่ต่อเพื่อแก้ไขปัญหา และยังเป็นผู้มีเสียงสนับสนุนจากสภามากที่สุด ส่วนผู้ชุมนุมก็เป็นผู้ชุมนุมวันนี้เราต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 67 ล้านคน หากให้นายกฯ ลาออกแล้วสภาเลือกกลับเข้ามาใหม่จะทำอย่างไร มีอะไรตรงไหนที่ไม่ให้นายกฯ มาลงสมัครรับเลือกตั้ง
นายวิรัชกล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ทำประชามติว่าสมควรให้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง 2 ปี ว่าตนยังไม่รู้เรื่องนี้ แต่ถ้าจะทำประชามติเรายังมีช่องที่อาจลงทุนน้อยที่สุดคือพ่วงไปกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ทุกเรื่อง อยู่ที่แต่ละเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจ บางอย่างจะไปรวมกันไม่ได้ หากจะถามว่าผู้ชุมนุมควรหยุดหรือไม่ก็สามารถทำประชามติได้