xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ รับทราบตัวเลข ศก.ขยับตัวดีขึ้น กำชับเร่งมาตรการกระตุ้น ศก.ต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
โฆษกรัฐบาล เผย “ประยุทธ์” รับทราบตัวเลขเศรษฐกิจไทยขยับตัวดีขึ้น กำชับหน่วยงานเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ

วันนี้ (22 พ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่นำเสนอโดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.4 ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 12.1 และหากรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลดร้อยละ 6.7 ทั้งนี้ การปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยเนื่องมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและการผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางภายในประเทศ

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของทั้งปี 2563 นั้น สศช. คาดว่าจะมีแนวโน้มที่จะลดลงร้อยละ 6.0 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีแรงสนับสนุนจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีการปรับตัวสูงขึ้นภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ

ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 ได้แก่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศซึ่งอาจมีความยืดหยุ่นและรุนแรงมากขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าโลก ภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับเงื่อนไขด้านการจ้างงาน และฐานะการเงินภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

นายอนุชากล่าวว่า “ถึงแม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะบ่งบอกว่าไทยมีแนวโน้มด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ท่านนายกฯ ได้กำชับให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อที่จะช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น กระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยเหลือลูกหนี้บุคคล และลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหนี้ SME และเร่งดำเนินการมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยเร็ว”


กำลังโหลดความคิดเห็น