เมืองไทย 360 องศา
ผ่านไปแล้วแบบแฮปปี้สำหรับเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แทบทุกพรรคการเมืองได้ประโยชน์แบบวิน-วิน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ว่าออกหน้าไหน ตัวเองก็ได้ประโยชน์ มีแต่พรรคก้าวไกลของ “ทีมธนาธร” เท่านั้น ที่ได้น้อยกว่าใคร หรืออาจจะ “เข้าเนื้อ” เมื่อประเมินสถานการณ์ในวันหน้า
จากที่รัฐสภาโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือ ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่นำโดย พรรคเพื่อไทย กับร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดย พรรคพลังประชารัฐ ให้แก้ไข มาตรา 256 นำไปสู่การมี ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่แตะ หมวด 1 ที่เกี่ยวกับระบบการปกครอง และ หมวด 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ ราว 38 มาตรา
ขณะที่ร่างที่เหลืออีก 5 ฉบับ ที่เป็นแบบรายมาตรา และ ร่างที่เสนอโดยการลงชื่อของภาคประชาชนที่เรียกว่า กลุ่ม “ไอลอว์” ที่มี นายจอน อึ๊งภากรณ์ เอ็นจีโอ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ต้องตกไป
โดยที่ประชุมรัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 45 คน ที่มาจากวุฒิสภา พรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน พิจารณาแปรญัตติภายใน15 วัน โดยให้ใช้ร่างของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา
สาเหตุที่ต้องบอกว่า การผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ถือว่าเป็นเรื่อง “วิน-วิน” สมประโยชน์กันทุกฝ่าย โดยเฉพาะพรรคการเมือง และนักการเมือง เพราะร่างแก้ไขฉบับนี้จะว่าไปแล้ว เป้าหมายหลักก็คือ ให้นำไปสู่ระบบการเลือกตั้งแบบเดิม เช่น การมีบัตรเลือกตั้งสองใบ ที่พวกเขาเคยชิน และมั่นใจว่าได้เปรียบ อย่างน้อยที่แฮปปี้ที่สุดก็น่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ ขณะที่เรื่องอื่นที่อ้างกันเรื่องประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องรอง เพราะไม่ว่าฉบับใหม่หรือเก่าเนื้อหาไม่ได้ต่างกันมากนัก
และที่น่าสังเกตก็คือ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ ถือว่าพรรคเพื่อไทยจริงจังและลุ้นให้เกิดผลสำเร็จมากที่สุด เพราะมีการเสนอเข้ามาล้อมเอาไว้ทุกทาง ทั้งแก้ไข มาตรา 256 ยกร่างทั้งฉบับ และมาแบบรายมาตรา และเมื่อพิจารณาจากเสียงสนับสนุนในการโหวต เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่มีเสียงท่วมท้น ในจำนวนนั้นมาจาก ส.ว.ถึงกว่าร้อยเสียง ทั้งที่ต้องการเพียงแค่หนึ่งในสาม ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วก็ต้องใช้ในวันนั้น จำนวน 82 เสียง
ขณะที่ฝ่ายที่ “ไม่ได้” หรือมีแนวโน้มขาดทุนกว่าใคร ก็คือ พรรคในเครือข่ายของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวก ที่แม้ว่าหลายคนมองว่าการเคลื่อน “ม็อบสามนิ้ว” และเปิดศึกโจมตีพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ถือว่า “มาไกล” และชนะแล้วนั้น มันอาจมองง่ายเกินไป เพราะหากพิจารณาในภาพรวมแล้ว พรรคก้าวไกลได้ประโยชน์จากระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ย่อมไม่ได้เปรียบ ฐานเสียงก็จะกลับพรรคเพื่อไทย อาจได้เสียงจากฐานเสียงของพวก “ม็อบสามนิ้ว” ที่แยกเป็นพวกเยาวชน แต่ในนั้นหากมองให้ดีจะเห็นว่าเป็นมวลชน “เสื้อแดง” ที่คาดว่ามีการ “หยิบยืม” กันมา
สำหรับภารกิจเฉพาะหน้า
แต่เมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาสังคมที่เหมือนเป็นพลัง “เกือบเงียบ” ของคนที่จงรักภักดีกับ “สถาบันฯ” ที่แสดงความไม่พอใจพรรคก้าวไกล และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเดินตามถนนไม่ได้แบบปกติเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะถูกตราหน้าเป็นพวก “ล้มเจ้า” อย่างชัดเจน
แม้ว่าเส้นทางข้างหน้ายังมีอีกหลาย “ด่านหิน” แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มและคะแนนเสียงที่เห็น มันก็น่าจะผ่านได้ไม่ยากเหมือนกัน หากยังเดินตามหลักการตามที่ระบุเอาไว้ข้างต้น นั่นคือ ไม่แตะในหมวด 1-2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงอย่าพยายามตุกติก หาทาง “นิรโทษฯ” ให้กับคนโกง คนทำผิดอย่างเด็ดขาด
นั่นก็หมายความว่า หากเส้นทางแบบนี้ ประตูสำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวก ที่เป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิ์การเมือง ก็ยัง “ปิดตาย” เช่นเดิม และความหวังที่จะเข้ามาทางสมาชิก ส.ส.ร. ก็คงเป็นแค่ความฝัน เพราะเชื่อว่าหากเปิดทางให้เข้ามาก็มีหวังโดนคว่ำในวาระสามอีกนั่นแหละ
หากมองภาพแบบนี้มันก็ทำให้เห็นแนวโน้มเหมือนกับสถานการณ์ได้หยุดพักชั่วคราว จากผลของญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านรับหลักการทั้งสองฉบับหลัก ซึ่งเหมือนกับกลับเข้าสู่เส้นทางมาตรฐาน นั่นคือ แก้ไขในเรื่องหลักการประชาธิปไตย โดยไม่ไปแตะเรื่องสถาบันฯ ให้บานปลาย อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของ “คณะกรรมาธิการ” ก็จะเห็นว่ามาจากทุกพรรค และ ส.ว. ในจำนวนนั้นมาจากพรรคก้าวไกล 3 คน ก็ถือว่าพวกเขาก็ยอมรับแล้ว หลังจากนี้ ก็จะเป็นการรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไป
ขณะเดียวกัน สำหรับพวก “ม็อบสามนิ้ว” หากยังดันทุรังเดินต่อแบบเอาหัวชนกำแพง ก็เชิญตามสะดวก แต่อย่างที่บอกนั่นแหละ เมื่อหันมามองข้างหลัง คนอื่นเขาเข้ามาอยู่ในแถวแล้ว หากตัวเองยังลุยถั่วแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ ก็ไม่ว่ากัน แต่เอาแค่ม็อบหน้าสภา วันที่ 17 พฤศจิกายน บรรดา “หัวโจก” ก็มีข้อหาเพิ่มอีกบาน หากไม่หยุดก็เสี่ยงคุกเร็วขึ้น !!