เมืองไทย 360 องศา
นาทีนี้ต้องถือว่าพรรคก้าวไกลมาไกลมาก แต่ “มาไกล” ในลักษณะที่ถูกมองว่ามี “เจตนาซ่อนเร้น” หรือ “เจตนาป่วน” หรือเปล่า เพราะเมื่อพิจารณาจากท่าทีและความเห็นของแต่ละพรรคการเมือง แทบจะทุกพรรคไม่เว้นแม้แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันก็ไม่เอาด้วย หรือไปคนละทาง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่มีการยื่นญัตติด่วนเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เกี่ยวกับการ “เปิดประตู” สำหรับการแก้ไข และการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยยื่นร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ โดยพรรคก้าวไกลได้มีการถอนชื่อออกไปในภายหลัง
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่พรรคก้าวไกล มีการถอนชื่อออกไป หรือไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติดังกล่าวร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากมีการระบุว่า เป็นเพราะในร่างญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้น มีการเขียนระบุว่า จะไม่มีการแก้ไขใน หมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 ที่รับรู้กันว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ที่ผ่านมา หากมีการย้อนกลับไปที่อาจเรียกว่าเป็น “ธรรมเนียม” สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบทุกครั้ง ยิ่งในระยะหลังหากมีการเสนอขอแก้ไข มักจะไม่แตะต้องหมวดที่เกี่ยวข้องกับ “พระมหากษัตริย์” และสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากท่าทีที่เห็นตรงกันทุกพรรคการเมืองในเวลานี้ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยกเว้นพรรคก้าวไกลก็คือ มีความเห็นร่วมกันที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยืนยันตรงกันว่า จะไม่มีการแก้ไข หมวดที่ 1 และ 2 ที่เป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
การที่พรรคก้าวไกล ยังยืนกรานว่า จะต้องมีการแก้ไขในหมวดดังกล่าว ทำให้ต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า “เจตนาแท้จริง” คือ ต้องการอะไรกันแน่ เพราะอย่างที่รับรู้กันดี และได้เห็นจากท่าทีจากทุกพรรคการเมืองก็พอจะมองเห็นแนวโน้มได้ดีว่า หากมีการเสนอขอแก้ไขในเรื่องดังกล่าวพ่วงไปด้วย ก็ไม่มีทางสำเร็จ หรือเป็นไปไม่ได้เลย
และที่สำคัญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความร่วมมือจาก สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. อย่างน้อย 84 คน เพราะไม่ว่าจะชอบ หรือไม่ชอบอย่างไร ก็ต้องพึ่งพาเสียงของพวกเขาแบบเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีเสียงยืนยันออกมาจาก ส.ว.หลายคนแล้วว่า หากมีการแก้ไขในหมวดที่ 1-2 พวกเขาก็จะไม่โหวตให้แก้ไขอย่างเด็ดขาด ที่ประกาศชัดเจน ก็คือ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และอีกหลายคนที่มีท่าทีไม่ต่างกัน
นอกเหนือจากที่ไม่มีการแตะต้องแล้ว ในร่างแก้ไขก็มีการระบุชัด รวมไปถึงในอนาคตในการกำหนดให้มี ส.ส.ร. ก็น่าเชื่อว่าจะต้องมีกรอบที่ชัดเจนว่าจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญในแบบใด และเริ่มในหมวดถัดไป เหมือนกับการการแก้ไข หรือยกร่างแทบทุกครั้งที่ผ่านมา
แน่นอนว่า หากพิจารณากันในรายละเอียดแล้วจากความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของพรรคก้าวไกล ที่มีเจตนาจะแก้ไขในหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นั้นมีเจตนาที่แท้จริงแล้วเป็นแบบไหนกันแน่ เพราะรู้อยู่แล้วว่าหากเสนอในแนวทางแบบนี้ โอกาสที่ประสบความสำเร็จนั้นแทบไม่มีเลย นอกจากจะสร้างความไม่พอใจกับประชาชนอีกกลุ่มใหญ่ที่ต้องการปกป้องเอาไว้ และหากยังดึงดันต่อไป มันก็มีโอกาสที่จะเกิดความวุ่นวาย บานปลายเป็นความรุนแรงก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลในวันนี้ หากมีการเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของพวกนักศึกษาบางกลุ่ม ที่มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่พุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหลายคนมองเห็นว่ามีความเชื่อมโยงถึงกันอย่างบังเอิญ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจาก “แบ็กกราวนด์” ของบุคคลที่เคยมีบทบาทในพรรคอนาคตใหม่ ที่กลายมาเป็นพรรคก้าวไกลในวันนี้ เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่มีทัศนคติกับสถาบันฯ ไปอีกทางหนึ่ง รวมไปถึงเชื่อมโยงไปถึง “บางคน” ที่หลบหนีคดีในต่างประเทศ เป็นต้น
ดังนั้น นาทีนี้ก็ต้องจับตาดูว่าในเบื้องต้นจะมี ส.ส.และพรรคการเมืองไหนมาลงชื่อสนับสนุนร่างญัตติด่วนแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล เพราะลำพังเสียงพรรคเดียวมีไม่เพียงพอต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 98 เสียง และหากสามารถยื่นร่างแก้ไขได้สำเร็จโดยยังยืนยันให้แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ก็ต้องตั้งคำถามว่ามีเจตนาจะสร้างสถานการณ์ให้เกิดความปั่นป่วน ใช่หรือไม่ !!