ผอ.ไอลอว์ แจงหลักแก้ รธน.ชี้ ปี 60 ออกแบบ คสช.ครองอำนาจ โกหก ปชช.ถือเป็นโมฆะ จี้ให้ความสำคัญ อย่ารีบปัด ย้ำ พ้นวิกฤตต้องเร่งมี ปชต. “ไพบูลย์” ย้อนรับเงินต่างชาติ ไม่ควรเสนอแก้ คุณสมบัติ ส.ส.ร.ไม่ห้ามอะไรเลย อัดปฏิปักษ์สถาบัน รู้กันคณะราษฎร
วันนี้ (17 พ.ย.) เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ประชุมรัฐสภา ได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ที่เสนอโดยกลุ่มไอลอว์ โดย นายจอน อึ้งภากรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ชี้แจงหลักการผู้แทนภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ของไอลอว์อย่างที่เรียกกัน แต่เป็นของประชาชนที่ร่วมลงชื่อภายในเวลา 1 เดือน ที่ได้รับรอง 98,824 ชื่อ สาเหตุที่ต้องแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบให้ คสช.มีอำนาจอยู่ เห็นได้ชัดว่า มีการนำ คสช.เป็นรัฐมนตรีหลายคน แม้รัฐธรรมนูญนี้เขียนไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่เป็นเรื่องโกหกจึงเป็นโมฆะ เพราะประชาชนมีสิทธิเลือกแค่ผู้แทนราษฎร โดยไม่มีโอกาสตั้งรัฐบาล เนื่องจากมีองค์ประกอบอื่นไม่ได้มาจากประชาชนเข้ามาเป็นตัวกำหนด
นายจอน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่รอไม่ได้แล้ว เพราะต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย เราจึงตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาลงชื่อ ซึ่งประชาชนกระตือรือร้นในการลงชื่อเป็นจำนวนมาก
“ผมหวังว่า สมาชิกรัฐสภาจะให้ความสำคัญกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ใช่ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรก แต่ควรให้ข้อดีๆทั้งหลายเข้าไปร่วมพิจารณากับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ที่สำคัญ ถ้าประเทศไทยจะพ้นวิกฤต และมีพัฒนาการใกล้เคียงกับอารยประเทศได้ เราจะต้องพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด สมาชิกรัฐสภาทราบดีว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา จึงทำให้ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ในฐานะผู้แทนริเริ่มเสนอกฎหมาย กล่าวว่า เรามีความฝัน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. เราฝันว่าจะมีการปกครองที่ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและผู้นำประเทศได้ อย่างน้อยด้วยการเลือกทางอ้อมผ่านสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชน 2. เราฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่รัฐบาลโปร่งใสและถูกตรวจสอบได้ โดยมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบโดยตรง ซึ่งมีที่มาเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร 3. เราฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเอง ผู้สมัครเลือกตั้งต้องแถลงนโยบายว่าจะพาประเทศไปทางไหนและให้ประชาชนเลือก 4. เราฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการยกเว้นความผิดให้กับใคร และ 5. เราฝันว่าจะอยู่ในกติกาสูงสุดที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขียนขึ้นโดยประชาชน โดยคนที่จะมาทำจะยึดโยงจากประชาชนทุกคนภายใต้บรรยากาศที่ปลอดภัย
“ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานมาก ซึ่งประเทศไทยก็เคยเป็นเช่นนั้นมาก่อน เชื่อว่า สมาชิกรัฐสภาต่างมีความฝันเหล่านี้เช่นกัน ไม่ใช่ข้อเรียกร้องสุดโต่ง รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอุปสรรคขัดขวางของพวกเราจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายยิ่งชีพ กล่าว
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องดำเนินการโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% โดยสามารถหยิบทุกปัญหาในสังคมที่มีความขัดแย้งกัน โดยเฉพาะปัญหาที่อึดอัดจนต้องลงบนถนนมาพูดคุยกันในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้เราได้กติกาใหม่ที่อยู่ร่วมกันได้และเป็นกติกาที่ใช้กันยาวๆ
“เราเพียงเรียกร้องให้แก้ไขความผิดปกติของระบอบการเมืองปัจจุบัน ให้กลับเป็นระบบการเมืองที่ปกติธรรมดาเท่านั้นเอง หากรัฐสภาลงมติรับหลักการก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาประชาธิปไตย และทำให้ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนถนนได้มีพื้นที่พูดคุยอย่างมีเหตุผล หากรัฐสภาไม่รับไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป สมาชิกรัฐสภาจะต้องอธิบายต่อประชาชนนับแสนคน รวมทั้งประชาชนอีกหลายคนที่รอฟังคำอธิบายต่อไป” นายยิ่งชีพ กล่าว
จากนั้นสมาชิกรัฐสภาทยอยอภิปรายแสดงความเห็น โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นกลุ่มที่ได้รับทุนจากต่างชาติ ซึ่ง นายสุชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เคยกล่าวไว้ว่า ได้รับทุนจาก นายจอร์จ โซรอส ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยไม่สบายใจ เพราะองค์กรซึ่งต่างชาติสนับสนุน ไม่เหมาะทำงานด้านการเมือง โดยเฉพาะการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่หนักกว่านั้นคือ ประชาชนที่เข้าชื่อมีแกนนำของคณะราษฎร 63 รวมอยู่ด้วย และเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีหลักการปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ ที่คณะราษฎร 63 เสนอมาตลอด ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมาไม่ได้กำหนดห้ามแก้ไขหมวด 1 และ 2 ไว้ และเปิดทางให้มีการฟ้องร้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 255 และมาตรา 6 ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์
นายไพบูลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการเตรียม ส.ส.ร.ไว้ โดยไม่ห้ามบุคคลที่ติดยาเสพติด ล้มละลาย หรือทุจริต และบุคคลที่ไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรืออยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอดีตกรรมการบริหารพรรคหนึ่งที่ถูกยุบไป ก็เตรียมมาเป็น ส.ส.ร. ด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีการเสนอให้แก้ไขเนื้อหารายมาตรา ซึ่งย้อนแย้งกับการให้ ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างทั้งฉบับ จึงมองว่า การเสนอให้มี ส.ส.ร.ตามร่างของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ครอบคลุมเจตนารมณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ยืนยันจะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้ ส่วนบุคคลใดที่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน ก็ขอให้โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร 63 หรือองค์กรที่รับเงินต่างชาติอย่างกลุ่มไอลอว์ แต่หากรักสถาบันก็ขอให้โหวตเหมือนตนเอง ซึ่งตนเองยืนยันโหวตคว่ำไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย