ราชบุรี - “ทวี" พ่อ "ปารีณา ไกรคุปต์" อ้างตัวเป็น "ราษฎรอาวุโส" ชี้กรณี ส.ว.-ส.ส.ยื่นตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อป้องกันไม่ให้ "ตายยกเข่ง" เหมือนรัฐบาลในอดีตเคยโดนมาแล้ว หลังสภาพิจารณาถึงวาระ 3 แต่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง
นายทวี ไกรคุปต์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม บิดาของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาพูดถึงเรื่อง ประชุมวิปรัฐบาล แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในนาม "ราษฎรอาวุโส" ว่า วันที่ 17-18 พ.ย. สมาชิกวุฒิสภาประกอบด้วย ส.ส. ส.ว. จะมีประชุมพิจารณาลงมติญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญวาระที่ 1 เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา โดยรัฐธรรมนูญให้สิทธิโหวตอิสระกันอยู่แล้ว ตามแนวความคิดเห็นของท่าน วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน หรือท่านนายกรัฐมนตรี จะสั่งให้สมาชิกรัฐสภาโหวตญัตติไปทิศทางใดทางหนึ่งไม่ได้ เพราะจะผิดรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนแล้วว่า ยินดีสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่านพูดถึง 2 ครั้ง
แต่ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดูจะแสดงความคิดเห็นที่เรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี แสดงจุดยืนที่ชัดเจน ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่า มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ทั้งอำนาจการบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การที่จะให้นายกฯ พูดซ้ำๆ หลายครั้ง จะถูกสังคมมองว่า ใช้อำนาจบริหารไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะรัฐธรรมนูญให้อิสระสมาชิกรัฐสภาโหวตได้โดยไร้การครอบงำ ชี้นำ เพราะสมาชิกทุกคนเป็นผู้ที่ทรงเกียรติ คงจะใช้วิจารณญาณของตนเองว่าจะลงมติไปในทิศทางใด
นายทวี กล่าวอีกว่า เท่าที่ตนเองติดตามเรื่องนี้ แน่ใจว่า แนวความคิดอิสระตามรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาจะมีมติรับ ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 อาจจะมีบางฉบับที่สุดโต่งเกินกว่าสังคมไทยจะรับได้ อาจเป็นปัญหาในบางฉบับ แต่ยังไงก็ตามนายกฯ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนและสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าให้นายกฯ ได้พูดมากไปกว่านี้เลย เดี๋ยวจะถูกมองว่าใช้อำนาจบริหารฝ่ายนิติบัญญัติจะเกิดความเสียหายได้
ส่วนการยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อพิจารณาการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่นั้น ไม่ได้เป็นการให้การพิจารณาญัตติแก้ไขต้องหยุดชะงักแต่ประการใด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่มีการวิจารณ์ว่า การยื่นตีความของสมาชิกรัฐสภาเป็นการตีรวน รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมต่อสมาชิกรัฐสภาที่เซ็นชื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความเป็นการหน่วงเหนี่ยวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยใหม่ว่าการตั้งสมาชิกร่างกำหนดเพื่อพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่วนที่ ส.ส.เซ็นชื่อลงไปเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยมันเป็นคนละเรื่องกัน แล้วที่ ส.ส. 45 คน ไปลงชื่อร่วมกับ ส.ว. เพื่อให้ครบจำนวนสมาชิกรัฐสภาในการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ตีความการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นเจตนาดีเพราะความสงสัยที่ไม่อยากตายยกเข่ง
การที่ให้ตีความนี้ เพื่อให้รู้ทิศทางของศาลรัฐธรรมนูญว่าคิดอย่างไร ถ้าไม่รับคำร้อง มีนัยบ่งบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง มีนัยบ่งบอก มีข้อมูลพอสมควรว่าการตั้งสมาชิกสภาร่าง ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นปรปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จะทำให้ตายยกเข่ง ถ้าเป็นเช่นนี้ อาจจะทำให้สมาชิกรัฐสภาที่กำลังพิจารณาอยู่นี่ ต้องทบทวนหรือไม่ จะไปเปลี่ยน ยอมตายยกเข่งกันหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง อาจจะไม่ขัดหรือขัดก็ได้ แต่การยื่นให้ศาลนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อสมาชิกรัฐสภา
นายทวี กล่าวอีกว่า ถ้าจำไม่ผิด เคยมีรัฐบาลยุคหนึ่ง สมาชิกรัฐสภายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในลักษณะเช่นนี้ ว่าญัตติที่ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นขัดหรือไม่ ปรากฏว่าศาลรับคำร้องในขณะที่กำลังมีมติพิจารณาอยู่นั้น ใกล้จะลงมติในวาระที่ 3 แล้ว เมื่อศาลรับคำร้องแล้ว ทำให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาทบทวนดูว่า ถ้าเราผ่านวาระที่ 3 ไปแล้ว ถ้าศาลวินิจฉัยว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะทำให้ตายยกเข่ง
สมาชิกรัฐสภาในยุคนั้นจึงตัดสินใจถอนการแก้ไขญัตติรัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกมา ทุกคนก็ปลอดภัย อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ เป็นเรื่องสำคัญเวลานี้ อย่าไปมองในแง่ลบ ท่านสมาชิกรัฐสภาที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความท่านไม่ได้มีเจตนาไม่ดีอะไร แต่น่าจะขอบคุณท่านสมาชิกรัฐสภาที่มีความรอบคอบ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนเพื่อความแน่นอน