รองประธาน กมธ.แจงข้อมูลที่ถูกต้องสำคัญกว่ามติ กมธ. หลังโดน ส.ว.-ฝ่ายค้าน อัดรายงานไม่มีทางออก ยกความเห็น ย้อนอดีตปี 38 ก็มีการยกร่างใหม่ รธน.ปี 40 ชี้ขึ้นอยู่มติรัฐสภาเห็นชอบให้ร่างขึ้นใหม่หรือไม่
วันนี้ (17 พ.ย.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวว่า จากการวิพากษ์วิจารณ์ของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับรายงานไม่มีทางออกให้ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจลงมตินั้น ทางคณะ กมธ.ได้พูดคุยกันมาก และเห็นว่าเพื่อให้เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก ดังนั้น การเสนอข้อมูลทางกฎหมาย และองค์ความรู้ที่ถูกต้องชัดเจน เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าความคิดเห็นที่เป็นมติ
“ส่วนความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันนั้น ทางคณะ กมธ.อยากเชิญชวนอีกครั้งให้ร่วมกันพิจารณาในวาระชั้น กมธ. อาจมีความเห็นไม่ตรงกันหมด ร่างของรัฐบาลและร่างของฝ่ายค้านให้แก้มาตรา 256 และเพิ่มเหมวดใหม่ก็จริง แต่ก็ยังมีประเด็นที่แตกต่างกันอยู่ เช่น องค์ประกอบของ ส.ส.ร. การจัดทำประชามติ การให้รัฐสภาตรวจสอบก่อนลงพระปรมาภิไธย เป็นต้น ส่วนที่อาจเกี่ยวข้องกับจุดยืนและหลักทางการเมือง เราคิดว่าถ้านำความคิดเห็นของทุกส่วนมาดำเนินการได้ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุด” นายชินวรณ์กล่าว
นายชินวรณ์กล่าวอีกว่า ในฐานะผู้เสนอร่าง เราได้ศึกษาอย่างรอบคอบในนามรัฐบาลว่าร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามรัฐธรรมนุญและไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 15 ตั้งแต่อนุหนึ่งถึงเก้า และเพิ่มหมวด 15/ 1 ไม่มีบทบัญญัติใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม 2 หลักการใหญ่ โดยแก้ไขมาตรา 256 จากแก้ไขรัฐธรรมนูญจากยากให้ง่าย และแก้ไขเพิ่มเติมให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ เรายังยึดตามหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ให้ไว้ในมาตรา 256 (7) และ(8) เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ต้องทำประชามติ นั่นก็ถือว่าสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือหลักสถาปนารัฐธรรมนูญโดยขอความเห็นชอบจากประชาชน หากรัฐสภาเห็นด้วย พอเห็นด้วยแล้วก็ทำประชามติ เมื่อผลประชามติเห็นด้วยจึงมี ส.ส.ร. และ ส.ส.ร.จะเกิดขึ้นก็โดยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่เสนอเสียก่อน เมื่อมีการแก้แล้วก็ต้องนำกลับเข้าสู่รัฐสภา และนำสู่การทำประชามติ
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตาร์ เคยแสดงความคิดเห็นว่ามีหลักการใหม่ที่ยืนยันว่าสามารถแก้ไขวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน แต่ต้องดำเนินการประชามติด้วย จึงเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถกระทำได้และไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยดำเนินการมาแล้วในปี 2538 ที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2534 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยกำหนดไว้เพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม และไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดให้จัดฉบับใหม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้อยู่ที่มติของรัฐสภาว่าเห็นชอบจะให้จัดทำฉบับใหม่หรือไม่ให้จัดทำ
นายชินวรณ์กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการทำประชามตินั้นค่อนข้างชัดเจนในเรื่องความคิดเห็นว่าเนื่องจากปี 2560 แล้วรัฐธรรมนูญได้เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำให้เมื่อปี 2555-2556 ก็มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญและมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยที่ได้มีการอ้างถึง คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 18/2555 ต้องยอมรับว่าขณะนั้นกับขณะนี้บริบทรัฐธรรมนูญคนละฉบับกัน ทั้งนี้ ทาง กมธ.ของเรายึดมั่นในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 256 (7) และ(8) ในเรื่องการทำประชามติ และมาตรา 256 (9) หลังจากรัฐสภาเห็นชอบวาระสามแล้วต้องทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหมดนี้จึงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการแก้ไขเพิ่มเติมในคราวนี้เราก็จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ