xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ยันยื่นตีความตั้ง ส.ส.ร.ตอนนี้ประหยัดกว่ายื่นหลังทำประชามติ ย้ำ รบ.หนุนร่างแก้ รธน.พรรคร่วม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (12 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะ ส.ส.ซีกรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วนยื่นตีความว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้พูดยาก เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของ ส.ส.ไม่ใช่ของรัฐบาล หาก ส.ส.และ ส.ว.สงสัยจะยื่นตีความนั้นก็พูดในหลักการแล้วอย่าทำให้กระบวนการสะดุด และเท่าที่ดูไม่สะดุดก็ทำไป เพราะเขาถือว่าไม่ทำตอนนี้ก็ทำในอนาคตต่อไปแล้วจะสายเกินแก้ หรือจะมีความเสียหาย เช่น ทำประชามติแล้วจะยิ่งแย่กว่านี้ เขาอาจเจตนาดี เพราะไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องส่งอยู่แล้ว การส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลามากกว่า เพราะเป็นภาคบังคับถ้าออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ระบุว่าหากมีสมาชิกรัฐสภาสงสัย มีสิทธิเข้าชื่อให้ศาลวินิจฉัยภายใน 30 วัน หากส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลา 1 เดือนนั้นไป ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ต้องส่งก็ได้

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ดังนั้นหากมีอะไรตอนนี้ยังแก้ไขได้ทัน เป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ภายใต้ข้อแม้ไม่ให้สะดุดเพราะดูแล้วมันไม่สะดุดอะไรเพราะวันที่ 17-18 พ.ย. มีการโหวตวาระหนึ่ง หากผ่านก็ตั้งคณะกรรมาธิการใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และหากในเวลาดังกล่าวเขาส่งศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จเรื่องก็ไปอยู่ในศาล หากศาลบอกไม่ขัดก็หมดเรื่องกระบวนการก็เดินหน้า โดยไปรอกระบวนการทำประชามติ แต่ต้องรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติมาใช้บังคับ คาดว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และยืนยันว่าหากศาลรับเรื่องไว้กระบวนการในรัฐสภาก็ไม่หยุด

เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่ารัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ อย่างน้อยฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ตนไม่กล้าพูดถึงฉบับอื่น

เมื่อถามต่อว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องหรือไม่ เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้น นายวิษณุกล่าวว่า ก็มีโอกาส เพราะเขายื่นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้ง เป็นเรื่องสงสัยในอำนาจหน้าที่ของสภา แต่มีเยอะไปที่ศาลไม่รับ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยส่งไปหารือก็ไม่รับ ในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เคยเป็นนายกฯ ศาลบอกว่าเรื่องยังไม่เกิด ศาลไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมาย อยากทราบไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา

เมื่อถามอีกว่า หากศาลไม่รับแล้วเกิดอุบัติเหตุจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลังหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้ากติกาศาลรับไม่ได้ เขาก็รับไม่ได้ เหมือนมีเรื่องกันแต่ยังไม่เกิดเหตุ ศาลก็ไม่รับ แต่พอมีเรื่องภายหลังก็โทษไม่ได้เพราะกติกาเป็นเช่นนั้น จึงต้องดูว่าศาลจะรับหรือไม่

เมื่อถามอีกว่าคาดการณ์ไว้หรือไม่ว่านอกจากประเด็นเรื่องตีความเรื่อง ส.ส.ร.จะมีการยื่นตีความว่าการทำประชามติจะมีก่อนหรือหลังรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ร่างที่เขายื่นตอนนี้มีประเด็นดังกล่าวด้วย เพราะหากถามแค่ตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ ศาลคงไม่รับ


กำลังโหลดความคิดเห็น