รองนายกฯ อ้างเข้าใจผิด หลังมอง ส.ว.-ส.ส.ส่งศาล รธน.ตีความร่างแก้ รธน.ทำให้ล่าช้า ระบุทำถูกตามข้อบังคับแล้ว เหตุหากวินิจฉัยว่าไม่ชอบ จะได้ไม่ลำบากกว่านี้ ไม่เสี่ยงสูญ 3 พันล้าน แต่ไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อแก้ได้ไม่ขัด
วันนี้ (10 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ส.ว. และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับ จะยิ่งทำให้ล่าช้าออกไปหรือไม่ว่า ตอนแรกตนเข้าใจผิดว่าจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะสภายังไม่ได้พิจารณา แต่เมื่อไปดูรายละเอียดทราบว่าเขาไม่ได้ยื่นตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยื่นต่อประธานรัฐสภา หากสภาไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องส่ง หากเห็นชอบก็ส่งตามข้อบังคับที่ 31 เขาอ้างด้วยว่าวิธีดังกล่าวจะไม่ทำให้กระบวนการล่าช้า เพราะสามารถเดินคู่ขนานกันไปได้ ถ้าสภามีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาวาระ 2-3 เขาก็จะยื่นแยกไปอีกทาง เขาอ้างเช่นนี้ แต่ข้อเท็จจริงตนไม่ทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสภาโหวตรับไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิชอบ จะเป็นปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบก็เดินต่อไม่ได้ แต่ดีกว่าไม่มีใครทำอะไรแล้ววันหนึ่งเกิดมีคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบจะทำให้ลำบากกว่านี้
เมื่อถามว่า ทำให้สะเด็ดน้ำตั้งแต่ต้นดีกว่าใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เขาอ้างว่าอย่างนั้น และขั้นตอนที่เขาอ้างว่าเดินคู่ขนานกันไปก็ไม่ได้ทำให้เสียเวลา แต่ถ้าสภาต้องหยุดการพิจารณา แบบนั้นถือว่าเสียเวลา ต่อให้หยุดไปเพียงวันเดียวก็เสียเวลา อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญก็ส่งเรื่องให้กับศาลพิจารณาภายใน 1 เดือนก็น่าจะเสร็จ หากศาลบอกไม่มีปัญหา ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญก็เดินต่อไปได้ แต่ถ้าศาลบอกไม่ชอบ ก็หยุดแค่ตรงนั้น ดีกว่าไปถึงขั้นทำประชามติ หมดเงินไป 3 พันล้านบาทแล้วโมฆะ
เมื่อถามย้ำว่า นายวิษณุเห็นด้วยกับการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยครั้งนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ผมไม่เห็นด้วย เพราะไม่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ” ส่วนจะดีกว่าหรือไม่นั้น เขาว่าดีกว่า แต่ตนไม่รู้