เมืองไทย 360 องศา
ดีเดย์กันแล้วสำหรับสนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่เริ่มจากการเลือกตั้งชิงเก้าอี้ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด โดยมีการเปิดรับสมัครกันตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน เป็นวันแรกไปจนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน และมีการหย่อนบัตรเลือกตั้งกันในวันที่ 20 ธันวาคมนี้
ก็อย่างที่เห็นกันในภาพข่าว ปรากฏว่า มีความคึกคักกันทุกจังหวัด เนื่องจากมีคนดัง คนเด่น อาสามาลงสมัครกันมากมาย ทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า บางคนเป็นอดีต ส.ส. อดีต ส.ว.มาจากสนามใหญ่ ก็มาลงสมัครแข่งขันกันจนเรียกว่าไหล่ชนไหล่ อัดแน่นกันไปหมด
อย่างน้อยก็เป็นการการันตีในเบื้องต้นก่อนว่า การแข่งขันจะต้องมีความเข้มข้น เบียดลุ้นกันสนุกแน่นอน เพราะเมื่อไล่เรียงดูไปแต่ละสนามแต่ละจังหวัดจะเรียกว่า “ชนช้าง” แบบเล็กๆ หรือบางจังหวัดมีระดับการแข่งขันในระดับ “บิ๊ก” กันจริงๆ และถือว่าเดิมพันสูง เนื่องจากบางคนเคยเป็น อดีตนายก อบจ. ที่ลงสมัครเพื่อทำหน้าที่ต่อไป กับอีกฝ่ายที่มาจากสนามระดับชาติ บางคนเคยเป็นข้าราชการใหญ่ ก็มีให้เห็นหลายจังหวัด
แต่ขณะเดียวกัน สนามเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเที่ยวนี้ก็อาจจะกลายเป็นการ “เปิดศึก” กันเองภายในพรรคการเมืองด้วยกันเอง เนื่องจากถือหางกันคนละทีม ระหว่าง ส.ส.ในจังหวัดเดียวกัน แต่สนับสนุนคนของตัวเอง หรือญาติพี่น้องของตัวเอง เป็นต้น
อีกทั้งที่บอกว่าสนามท้องถิ่นแห่งนี้มีความคึกคัก เนื่องจากร้างลาจากการเลือกตั้งมานานกว่า 8 ปีแล้ว และหลายคนก็ตั้งตารอ บางคนเตรียมตัวสำหรับการเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอย่างเต็มที่ มีการหาเสียงล่วงหน้าในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องก็เห็นๆ กันอยู่ แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อการแข่งขันสูงแบบนี้มันก็มีความเสี่ยงสำหรับการทำผิดกฎหมาย และความขัดแย้งบานปลายเมื่อตลอดเวลาได้เช่นเดียวกัน
แต่ที่น่าจับตาไม่แพ้กัน ก็คือ การเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครบางกลุ่มหรือบางพรรคหรือไม่ ถึงขั้นจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งให้ออกมาอย่างมีนัยสำคัญได้หรือไม่ โดยเฉพาะที่ต้องโฟกัสไปที่ “กลุ่มก้าวหน้า” ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีการเปิดตัวผู้สมัคร นายก อบจ.ไปกว่าสามสิบจังหวัดไปแล้ว และเริ่มมีการทยอยลงสมัครให้เห็นในบางจังหวัดไปแล้ว กับอีกพรรคหนึ่งก็คือ “พรรคเพื่อไทย” ว่าจะสามารถส่งผลต่อการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่เป็นคู่แข่งในสนามเลือกตั้งได้หรือไม่
แน่นอนว่า หากให้โฟกัสก็ต้องจับตามองไปที่กลุ่มก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เป็นหลัก ที่รับรู้กันว่า บางกลุ่มถูกมองว่าอยู่เบื้องหลัง “ม็อบสามนิ้ว” เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้ากลุ่ม หรือบางคนกล่าวหาเลยเถิดไปถึงขึ้นเป็น “เจ้าของ” ม็อบเลยทีเดียว
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองว่าเป็นลักษณะแนวร่วมไปกับม็อบ เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงลักษณะหาเสียงกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาที่สอดรับกันมาตลอด
แม้ว่าหากมองกันในรายละเอียดแล้วในหลายพื้นที่มีผู้สมัครที่ทั้งสองฝ่าย นั่นคือ มีผู้สมัครที่กลุ่มก้าวหน้าสนับสนุน ลงแข่งขันกับผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไทย ทำให้น่าจับตาว่า ในที่สุดแล้วเสียงจะเทไปทางไหน รวมทั้งยังเป็นการพิสูจน์อีกทางหนึ่งด้วยว่าผลจากการ “อวยม็อบเด็ก” ในครั้งนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านคะแนนเสียงเลือกตั้งในสนามท้องถิ่นครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหนอีกด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นแบบนี้ หากมองในบรรยากาศการชุมนุมของ “ม็อบสามนิ้ว” ก็ย่อมถูกตั้งคำถามว่า จะสามารถ “ยืนระยะได้อีกนานแค่ไหน” เพราะถือว่าเริ่มเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหาเสียงกันอย่างเต็มตัวแล้ว มันก็ยิ่งทำให้ “ฝ่อ” ลงไปอีกหรือไม่ หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายอย่างไม่เป็นใจ “กระแสไม่มาเพิ่ม” ขณะที่ของเดิมก็เริ่มร่อยหรอลงไป ไม่ต่างจากการ “ถูกลอยแพ” หรือ “ถูกเท” หรือ “ถูกแกง” มากขึ้นทุกวัน
ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตามองในช่วงที่การแข่งขันในสนามท้องถิ่นระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำลังเริ่มออกสตาร์ทว่าในที่สุดแล้ว ฐานคะแนนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะผลจากการ “อวยม็อบ” ของกลุ่มการเมือง และพรรคการเมืองดังกล่าว จะได้ผลหรือไม่ หรือว่าผลจากการเลือกตั้งคราวนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกคอกันชัดเจนขึ้น เพราะแย่งคะแนนกันเอง อีกไม่นานก็น่าจะรู้ผลกันแล้ว !!