เมืองไทย 360 องศา
ผ่านมาหลายสัปดาห์เหมือนกันสำหรับ “ม็อบสามนิ้ว” ที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กลุ่มปลดแอก และกลุ่มราษฎร ซึ่งในช่วงกลางเดือนกันยายน ต่อเนื่องมาถึงช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือว่าน่าจะอยู่ในช่วง “พีกสุด” ก็ว่าได้ เนื่องจากสามารถสร้างกระแสกดดันฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายอำนารัฐ ได้อย่างร้อนแรง โดยเฉพาะจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15-16 ตุลาคม ที่จะว่าไปแล้วเกือบทำให้รัฐบาลโดยเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกือบจะ “ล่องจุ๊น” ไปเหมือนกัน ก่อนจะสามารถแก้เกมพลิกกลับมาเอาตัวรอด ชิ่งออกมาจากมุมอับได้อย่างหวุดหวิด
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากบรรยากาศและอารมณ์ของสังคมในเวลานี้ ก็ต้องบอกว่า ม็อบสามนิ้ว “กระแสเริ่มฝ่อ” ลงไปกว่าเดิมมาก เมื่อเปรียบเทียบกับความร้อนแรงก่อนหน้านี้ ซึ่งน่าจะมาจากสาเหตุหลักๆ ไม่กี่สาเหตุ แต่หากให้โฟกัสกันเฉพาะเรื่องหลักๆ ก็น่าจะเป็นเพราะ “ข้อเรียกร้องที่เลยเถิด” และ “กระแสสังคมหลัก” มองออกว่า ม็อบเป็นเครื่องมือทางการเมืองของบางพรรค บางกลุ่มการเมือง ที่หวังจะใช้เป็นฐานมวลชนเพื่อหวังให้บรรลุถึงเป้าหมายของตัวเองอย่างน้อยสองสามอย่าง
แน่นอนว่า หากชี้ไปที่พรรคก้าวไกล และ กลุ่มการเมืองในชื่อ “ก้าวหน้า” ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทายาทกลุ่มทุนชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นหัวเรือใหญ่ หรือสนับสนุนการชุมนุมดังกล่าวนี้ก็คงไม่ผิด เพราะมีการเคลื่อนไหว และมีท่าทีที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น จนถึงขั้นมีการกล่าวหากันว่า นี่คือ “ม็อบของพวกที่สนับสนุนอดีตพรรคอนาคตใหม่” นั่นแหละ
อีกทั้งหากพิจารณาให้ละเอียดก็จะพบว่าแกนนำหลายคน หรือแทบทั้งหมดล้วนเคยเกี่ยวข้องกันมาก่อน บางคนเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รวมไปถึงเป็นผู้สนับสนุนพรรคดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งก็รวมถึงบรรดาคนที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่เป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวคู่ขนานกดดันกันไปอย่างต่อเนื่อง
หากย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ ของการเริ่มชุมนุมที่มีการระบุถึงความล้มเหลวในการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การสืบทอดอำนาจ และรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย จึงต้องมีการแก้ไข โดยโฟกัสไปที่อำนาจโหวตเลือกนายกฯของ ส.ว. แต่งตั้ง จนมีการสร้างกระแสให้ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ซึ่งถือว่าได้ผลดี
แต่เมื่อข้อเรียกร้อง “เลยเถิด” เลยธง เลยทางไปมาก เมื่อมีข้อเรียกร้องให้ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ถึงตอนนี้แหละที่ทำให้กระแสเริ่ม “พลิกกลับ” หรืออย่างน้อยก็หยุดความร้อนแรงลงไป
เพราะเมื่อมีการแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่สังคมส่วนใหญ่มองว่า เป้าหมายแท้จริงที่ซ่อนอยู่ไม่ใช่แค่ปฏิรูป แต่เชื่อว่ามี “เจตนาล้มล้าง” เพราะเมื่อพิจารณาจากผู้สนับสนุนการชุมนุม ทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อดูจากแบ็กกราวนด์ ก็ล้วนเข้าใจได้ไม่ยากว่าพวกเขามีทัศนคติที่เป็นลบกับสถาบันฯมานานแล้ว ซึ่งสังคมรับรู้กันดี
เพราะในข้อเรียกร้องให้ “ปฏิรูปสถาบัน” ที่มีเนื้อหาหลัก 10 ประการนั้น พวกเขาแสดงท่าทีสนับสนุนอย่างชัดแจ้ง รวมไปถึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกมาตราไม่เว้นแม้แต่ หมวดที่ 1 และ 2 ซึ่งพรรคการเมืองอื่นทุกพรรคทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต่างเห็นในทางเดียวกัน ยกเว้นพรรคก้าวไกล ที่ถือว่าเป็นเครือข่ายเดียวกันกับพวกเขา
จากข้อเรียกร้องในเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมที่จาบจ้วง ก้าวร้าวหยาบคายต่อสถาบันฯ ที่ปรากฏในการชุมนุมของม็อบสามนิ้ว ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากสังคมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาสู่การแสดงพลัง “ปกป้องสถาบันฯ” ในนามของ “พลังของคนเสื้อเหลือง” ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเกิดปรากฏการณ์ตอบโต้แบบนี้ขึ้นมา อย่างน้อยก็ย่อมทำให้ “ความฮึกเหิม” ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชูสามนิ้วเริ่มลดทอนลง ไปเรื่อยๆ
หากบอกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เยาวชนหนุ่มสาว หรือเป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ต้องบอกอีกว่าคนกลุ่มนี้ในความเป็นจริงแล้วส่วนใหญ่ล้วน “ยังต้องพึ่งพิง” เพราะเมื่อเป็นเยาวชน เป็นนักศึกษา ก็ยังไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ อีกทั้งในยุคสมัยปัจจุบัน คนรุ่นเก่า หรือวัยผู้ใหญ่ล้วนแล้วแต่มีความรู้ มีประสบการณ์มากกว่า พวกแกนนำผู้ชุมนุมที่ล้วนแล้วแต่ยังเรียนหนังสือ การชี้นำชักจูงก็อาจเกิดขึ้นได้เฉพาะในหมู่คนวัยเดียวกัน
แต่นั่นไม่สำคัญเท่าการ “เล่นใหญ่” เคลื่อนไหวตามการชักจูงของเครือข่ายที่มีเจตนา “ล้มเจ้า” จนสร้างกระแสตีกลับดังกล่าว และแม้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม “สามนิ้ว” จะยังดำเนินต่อไป และพิจารณาจากมวลชนที่ยังถือว่า “หนาตา” แต่เมื่อพิจารณาจากกระแสแล้วก็ต้องยอมรับความจริงว่า “เริ่มฝ่อลง” ไม่อาจขยายแนวร่วมได้มากกว่าเดิมแล้ว
ขณะเดียวกัน สำหรับฝ่ายสนับสนุน ไม่ว่ากลุ่มก้าวหน้าของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เวลานี้เริ่มเลี้ยวเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้งในสนามท้องถิ่นอย่างเต็มตัวแล้ว มันก็ทำให้ยิ่งเข้าใจว่า นี่คือ “ม็อบการเมือง” ที่หวังใช้เป็นฐานเสียงทั้งในแบบเฉพาะหน้า และระยะยาว ที่ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่า จะได้ผลหรือไม่ !!