เมืองไทย 360 องศา
หลังจากที่มีคำยืนยันออกมาจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่บอกว่า พร้อมสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะแก้ไขแบบไหนก็ได้ ไม่ขัดข้อง ไม่ว่าจะเป็นการลดอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯก็ไม่มีปัญหา แล้วแต่มติของสภา ซึ่งต่อมาก็ได้รับคำยืนยันอีกครั้งจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายในแบบเดียวกัน ทำให้มั่นใจได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าไปได้
ทั้งนี้ คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงท่าทีที่ชัดเจนที่สุดดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม ที่ผ่านมา และต่อเนื่องกันมาหลังจากนั้น นั่นคือ หลังจากการประชุมสภาเสร็จสิ้นลง เขาก็ได้ยืนยันท่าทีดังกล่าวอีกครั้ง
แม้ว่าในการประชุมสภาสมัยวิสามัญจะมีการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นแบบ “คณะกรรมการสมานฉันท์”หรือในชื่ออื่นใดก็ตาม แต่ตามหลักการที่มีการพูดจากันไว้ ก็คือ จะประกอบด้วยตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากฝ่ายรัฐบาล พรรครัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. และตัวแทนจากข้างนอกคือจากผู้ชุมนุม เป็นต้น
แต่ถึงอย่างไรจะว่าไปแล้วการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวในทางปฏิบัติแล้วคงไม่เห็นผลอะไรนัก อย่างมากก็เป็นเพียงแค่แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ความปรองดองในบ้านเมือง เป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการพูดคุยเจรจาเท่านั้น
ล่าสุด จากคำพูดของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำให้เห็นแนวโน้มที่จะใช้บริการของสถาบันพระปกเกล้าเป็นแม่งานในการออกแบบการพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมืองต่อไป
แต่สิ่งที่ถือว่าเป็น “แก่น” และสาระสำคัญที่เป็นความต้องการ และสร้างเป็น “เงื่อนไข” จนปั่นป่วนในบ้านเมืองเวลานี้ ก็คือ เรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ต่างหากที่เป็นเรื่องหลัก
เพราะแม้แต่การชุมนุมที่เกิดขึ้นในกลุ่ม “ปลดแอก” หรือ “คณะราษฎร” อะไรนั่น เบื้องหลังของคน “ชักใย” ก็มาจากสาเหตุและความต้องการในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นแหละ เพียงแต่ว่าในรายละเอียดและ “เป้าหมาย” ในเนื้อหาต่างกันเท่านั้น โดยกลุ่มนี้ต้องการแก้ไขในแบบ “เลยเถิด” โดยพุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีใครและพรรคใดบ้างที่เคลื่อนไหวแบบนี้ เชื่อว่า สังคมรับรู้กันอยู่ ไม่ต้องสาธยายกันอีกแล้ว
เมื่อวกกลับมาที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อได้รับไฟเขียวอย่างเต็มที่ ก็ทำให้เริ่มเห็นการเดินหน้าทันที โดยเวลานี้มีญัตติร่างแก้ไขอยู่ในสภาแล้วจำนวน 6 ฉบับ มีทั้งของฝ่ายค้าน และรัฐบาล กำลังจะมีการพิจารณาว่าจะรวมเอาร่างของภาคประชาชน ในนามของไอลอว์ ที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องตามขั้นตอนเข้ามาพิจารณาพร้อมกันเลยหรือไม่ หากเป็นไปตามนั้น ก็จะมี 7 ฉบับ ซึ่งการพิจารณาก็จะเกิดขึ้นในช่วงเปิดสภาสมัยสามัญในวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาและลงมติวาระแรกในราวกลางเดือนหน้า
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวแล้ว ถือว่าเป็นความต้องการของแทบทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่หากพิจารณาถึงความจริงจังเป็นพิเศษ ก็ต้องบอกว่าพรรคเพื่อไทยมีความมุ่งมั่นเป็นพิเศษ เพราะมองเห็นได้จากท่าที และการนำเสนอญัตติแก้ไขเข้ามาทั้งแบบแก้ไขทั้งฉบับ และแบบให้แก้ไขรายมาตรา ที่พวกเขาเห็นว่า “ไม่ได้เปรียบ” โดยสาระสำคัญก็คือ ต้องการให้แก้ไขกลับไปในแบบรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ เช่น ในเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบมีบัตรเลือกตั้งสองใบ เลิกการนับคะแนนแบบสัดส่วน หรือการแก้ไขรายมาตรา ที่ให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ เป็นต้น
ซึ่งจะว่าไปแล้วหลักๆ ก็เห็นคล้ายกันกับฝ่ายรัฐบาล โดยยืนยันว่า ไม่มีการแตะต้องใน หมวด 1 และ 2 ที่เกี่ยวข้องกับระบบการปกครอง และว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ยกเว้นพรรคก้าวไกล ที่เห็นว่าต้องแก้ไขในทุกมาตรา
ส่วนข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น รู้อยู่แล้วว่าเป็นไปได้ยาก และเมื่อสถานการณ์เริ่ม “พลิกกลับ” มันก็ยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้นไปอีก เหมือนกับการเสนอแบบ “บอกผ่าน” หรือเสนอให้ “ต่อรอง” เผื่อฟลุ๊กเท่านั้น ไม่ได้ก็ไม่ขาดทุนอะไรประมาณนั้น
เมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้กลับสู่เส้นทางในสภา หรือ “กลับเข้ามาในเกม” อีกครั้ง ในแบบวิน-วิน กันทุกฝ่าย โดยเฉพาะในเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่าต้องเดินหน้า อาจจะมีเพียงบางพรรค เช่น ก้าวไกล ที่แม้ว่าอาจจะบอกว่าต้องการแก้ไข แต่ในความเป็นจริงพรรคนี้กลับได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากที่สุด แต่หากมีการแก้ไขใหม่ โดยกลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเดิม ก็จะทำให้เสียเปรียบพรรคเพื่อไทยทันที เพราะฐานเสียงอยู่ในกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน หรือทับซ้อนกัน
แต่อย่างไรก็ดี อาจมองว่าสำเร็จไปแล้ว จากการที่สามารถ “เขย่าสถาบันฯ” ในแบบที่ไม่มีเคยปรากฏมาก่อนก็ได้
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเมื่อแนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มเดินหน้าเต็มกำลัง ขณะที่สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มปลดแอก หรือ “คณะราษฎร” ที่นาทีนี้เริ่มหยุดกับที่ และที่น่าจับตาก็คือ บรรดาแกนนำม็อบคนสำคัญต่างถูกดำเนินคดีในแบบ “สะสมแต้ม” โดยไม่ได้รับการประกันตัว เช่น นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ก็ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งนักกฎหมายมองว่าเมื่อคำสั่งศาลออกมาแบบนี้ก็มีโอกาสที่จะอยู่ในคุกแบบยาวๆ !!