น่ารับฟัง “สุทิน” สงสัยสโลแกน “เพื่อความสงบจบที่ลุงตู่” ยังใช้ได้หรือ “ปองพล” ชี้ ปชต.ไทยเริ่มจากพุทธกาล มิใช่ 88 ปีตามก้นฝรั่ง ที่มุ่งรักษาสิทธิเสรีภาพตัวเอง “เพจดัง” วิเคราะห์ “ม็อบ VS รัฐบาล” แบบฟันธง “นรกกำลังมา”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (16 ต.ค. 63) นายสุทิน วรรณบวร อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ สโลแกน “เพื่อความสงบจบที่ลุงตู่” ยังใช้ได้อยู่ฤา
โดยระบุว่า “นายอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เป็นนายกฯ ลุงป้อม ลุงป๊อก ลุงตู่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบความมั่นคง แต่ร้ายมีคนทำร้ายหมายฆ่านายกฯ การชุมนุมประท้วงรุนแรงต่อเนื่ิองข้ามปี การประชุมสุดยอดผู้นำอาเชียนถูกถล่มทำลาย ทหารประชาชนถูกสังหารกลางเมือง บ้านเมืองถูกเผาทำลายร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯตกเป็นแพะรับบาป ถูกใส่ร้ายทำลายชื่อเสียงเพียงผู้เดียว เขาถูกตราหน้าว่า อ่อนแอ ควบคุมเหตุร้ายไม่ได้ ส่วน ลุงตู่ ลุงป้อม ลุงป๊อก ได้รับการยกย่องว่า สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้จนกลายเป็นสโลแกนหาเสียง “เพื่อความสงบจบที่ลุงตู่”
วันนี้ลุงตู่เป็นนายกฯในยุคที่ผู้ชุมนุมประท้วงชั่วช้าหยาบคาย มุ่งร้ายต่อสถาบันร้ายแรงที่สุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ขบวนเสด็จถูกคุกคาม ผู้ประท้วงที่รุนแรงในเรื่องชั่วช้าหยาบคายมุ่งร้ายสถาบันอย่างโจ่งแจ้ง
ผู้ชุมนุมประท้วงเหิมเกริมสุดๆ และไม่มีทีท่าจะหยุดได้ อยากรู้ว่า สโลแกน #เพื่อความสงบจบที่ลุงตู่# ยังใช้ได้หรือไม่.”
ขณะเดียวกัน นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
เนื้อหาระบุว่า “รากฐานอันมั่นคงของราชอาณาจักรไทยได้แก่พุทธศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และตัวคนไทยเอง ซึ่งมีวัฒนธรรม จารีตประเพณีที่สะสมหล่อหลอมมาหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน ได้สร้างพันธุกรรมและภูมิคุ้มกันในสังคมนานาชาติและระบบการปกครองที่เหมาะสมกับคนไทย คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งระบุไว้ใน มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับก่อนหน้านั้น
ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ประชาธิปไตยเป็นผลผลิตของโลกตะวันตก และนำมาสู่ประเทศไทยได้ 88 ปีแล้ว แต่จากการศึกษาของผม พบว่า ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ด้วยการทอดกฐิน
ขณะนี้อยู่ในช่วงของการทอดกฐินตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 31 ต.ค. 2563 ขอให้ผู้ไปร่วมในพิธีทอดกฐินติดตามดูจะเห็นว่า พระภิกษุที่มารับผ้ากฐินจะต้องมีองค์ประชุม คือ พระภิกษุซึ่งจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลยไม่ต่ำกว่า 5 รูป มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพุทธบัญญัติ ในการกำหนดพระภิกษุผู้จะรับผ้ากฐินนั้น จะต้องมีพระภิกษุ 1 ใน 5 รูปเป็นผู้เสนอว่า พระภิกษุรูปใดจะเป็นผู้รับผ้ากฐิน เมื่อมีผู้เสนอแล้ว ก็จะมีการถามว่า มีผู้คัดค้านหรือไม่
ผมเคยไปงานทอดกฐินครั้งหนึ่ง ซึ่งมีผู้คัดค้านแต่แพ้การลงมติจากเสียงข้างมาก จะเห็นว่า การทอดกฐินมีองค์ประกอบของประชาธิปไตยระบบรัฐสภาครบถ้วน ผมเชื่อว่า คนไทยพุทธทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับพิธีทอดกฐินซึ่งมีเป็นประจำทุกปี ซึ่งการได้สัมผัสประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง คงจะซึมซับอยู่ในจิตสำนึก
ไปดูประชาธิปไตยของโลกตะวันตกกันบ้าง ซึ่งมีหลักการสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule) 2. ความเท่าเทียมกันในสิทธิ (Rights) โอกาส (Opportunity) และการปฏิบัติ (Treatment) 3. การตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance)
ส่วนดินแดนบนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา ลาว และ พม่า ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนามานานร่วมพันปีปกครองโดยระบบกษัตริย์ ซึ่งราชธานีแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย หรือสยาม ในขณะนั้นคือกรุงสุโขทัย ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงปกครองบ้านเมืองแบบพ่อปกครองลูกด้วยทศพิศราชธรรม สืบต่อมาจากยุคพุทธกาลและต่อเนื่องยาวนานมาเกือบ 800 ปี จนมาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุใน มาตรา 9 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”
ขณะที่ชาวตะวันตก และประชาธิปไตยแบบตะวันตก มักจะมองบุคคลอื่นเป็นผู้สร้างปัญหา ไม่ใช่ตนเอง และมุ่งแต่รักษาสิทธิและเสรีภาพของตน แต่พร้อมที่จะละเมิดและคุกคามสิทธิของผู้อื่นนั้น ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ ซึ่งยึดมั่นในหลักธรรมของพุทธศาสนาเป็นจริยวัตรในการดำรงชีวิต ยอมรับผลของกรรม บาป บุญ คุณ โทษของตนเอง เชื่อว่า ทุกคนย่อมเป็นไปตามกรรมและการกระทำ ทำดีย่อมได้รับผลดี และทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ไม่โทษผู้อื่น อันเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก “The METTAD” โพสต์หัวข้อ “ยังไม่ได้ใช้กฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าไม่มี”
เนื้อหาระบุว่า “ตอนนี้ แกนนำม็อบตัวจริง กำลังเดินเกมดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซง
แต่การจะเข้ามาแทรกแซงของต่างชาติ ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลใช้กฎหมายเกินขอบเขต หรือ ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกินกรอบของกฎหมาย หรือไม่ เพราะต่างชาติจะเริ่มจากการตั้งคำถาม มายังรัฐบาลไทย
แล้วคิดว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีเหตุผลไปชี้แจงต่างชาติเพียงพอหรือไม่
หลังจากม็อบเริ่มก่อหวอดขึ้น จากเหตุการณ์ที่ระยอง รัฐบาลได้อะลุ่มอล่วย กับการชุมนุมมาโดยตลอด เช่น การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่ได้ห้ามการชุมนุม แต่ต้องแจ้งขออนุญาตใช้สถานที่ล่วงหน้า รวมถึงแกนนำที่ถูกจับกุม ก็ให้ประกันตัวตามกระบวนการตามกฎหมาย มี ส.ส.ใช้ตำแหน่งประกัน โดยมีเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำ บางคนโดนฝากขังที่ศาล และก็ปล่อยออกมาทำการเคลื่อนไหวต่อ
แม้กระทั่ง ข้อกฎหมายที่จะถูกนำมาใช้เป็นประเด็นแน่นอน เช่น มาตรา 112 ไม่ได้ถูกนำมาใช้
มีหลายเรื่อง ที่สลิ่มไม่ถูกใจ ถึงขนาดว่า ถ้ารัฐยังจับๆ ปล่อยๆ ไม่เอาจริงเอาจังซะที จะออกมาด่ารัฐบาลแทนแล้วนะ (ซึ่งก็ด่ากันไปเยอะแล้ว)
สังเกตให้ดีว่า ทำไม ม็อบพยายามยั่วให้รัฐใช้ 112 จัดการ เพราะมาตรานี้ แกนนำและผู้อยู่เบื้องหลัง ต้องการใช้อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (ด่ากษัตริย์) เพื่อให้ต่างชาติ นำไปใช้เป็นเหตุผลในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทยได้
แต่ยั่วเท่าไหร่ ด่าก็แล้ว หมิ่นก็แล้ว รัฐบาลไม่ใช้ซะที จน ปิยบุตร ยังหัวเสีย จนต้องออกมาบอกว่า “ถ้ามีแล้วไม่ใช้ก็ยกเลิกไปเลยสิ” หรือแม้แกนนำบางคนก็โจมตีว่า “ถ้าไม่ใช้ 112 แสดงว่า รัฐต้องทำตามในหลวงสั่ง (ไปซะงั้น)”
นี่คือข้อพิสูจน์ว่า แกนนำพยายามยั่วให้มีการใช้ มาตรา 112 อยู่ตลอดเวลา และใช้การปราศรัยหยาบคาย ป้ายผ้า การโจมตีไปยังสถาบันแบบเปิดเผย แต่รัฐบาลก็ยังไม่ใช้ 112
เมื่อ 112 ไม่สามารถเป็น ทริกเกอร์ได้ ต่างชาติ และ NGOs ที่รออยู่ก็แบ๊ะๆ จะเอาเหตุผลอะไรมาแทรกแซงไทย
หรือต่อให้ เข้ามาตอนนี้ รัฐบาลไทยก็มีเหตุผลมากเพียงพอ ที่จะชี้แจงว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมเกินขอบเขตแต่อย่างใด ข่าวที่ผ่านมาเป็นเดือนๆ เรื่องจับๆ ปล่อยๆ ให้ประกันตัว ให้สิทธิม็อบตามกฎหมายไปแล้ว
แทนที่ม็อบจะใช้สิทธิในการชุมนุมที่ได้มาอย่างสร้างสรรค์ ชุมนุมอย่างมีเหตุผล และพูดความจริง ม็อบกลับใช้สิทธิที่ได้มา ในการปล่อยข่าวปลอม บิดเบือน คุกคามสถาบัน และทำให้เกิดภาพการทำลายสถานที่ต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย เพราะเริ่มคิดว่า ตัวเองเจ๋ง ตัวเองใหญ่ ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้
น่าตลกตรงที่ม็อบที่พยายามกดสถาบันให้อยู่ใต้ประชาชน แต่กลับละเมิดกฎหมาย ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญเสียเอง
พฤติกรรมแบบนี้ จึงเรียกว่า “อนาธิปไตย” ไม่ยอมรับกฎหมายของประเทศ
เมื่อม็อบเหิมเกริม ละเมิดกฎหมายหนักเข้า จน เอกชัย หงส์กังวาน นำม็อบเคลื่อนไปปิดล้อมคุกคามขบวนเสด็จ นั่นคือ จุดจบของม็อบไปเรียบร้อยแล้ว
เพราะทุกประเทศ มีกฎหมายคุ้มครองประมุข การเข้าคุกคามประมุขของประเทศแบบนั้น มีบทลงโทษที่รุนแรงทุกประเทศ รัฐบาลของประเทศไหนๆ ก็ไม่สามารถประณามรัฐบาลไทยได้ว่าทำเกินกว่าเหตุ
รัฐบาลสามารถใช้ 112 ได้ทุกเวลา หลักฐานพร้อม ทั้งคลิปและภาพ แต่ตอนนี้คงไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะ 110 และ 111 หรือ 116 เป็นกฎหมายสากล และมีโทษรุนแรงกว่า 112 เยอะ (สูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต)
สิ่งที่แอดมินบอกมาตลอด แม้ตอนม็อบ 19 กันยา ก็บอกไปแล้วว่า
“ยังไม่ได้ใช้กฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าไม่มี”
และตอนนี้ หมดเวลาใจดี ถึงเวลาใช้กฎหมายแล้ว
#นรกของจริงกำลังจะมา”
แน่นอน, สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ ก็คือ ม็อบต่างๆ ในหัวเมืองใหญ่ กำลังเคลื่อนไหวชุมนุมคู่ขนานกับในกรุงเทพฯ และมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยความยากลำบาก ต่อให้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ออกมาบังคับใช้ หรือแม้แต่ยกระดับการบังคับใช้ขึ้นไปอีกก็ตาม เพราะการที่จะเข้าจัดการกับมวลชนระดับหลายพันหลายหมื่นคน ไม่ใช้เรื่องง่าย ยิ่งเป็นการลุกฮือทั่วประเทศ ก็ยิ่งน่ากลัวว่าจะเอาอยู่หรือไม่
เพราะฉะนั้น สิ่งที่หลายคนมองเห็นในเวลานี้ ก็คือ การตัดไฟแต่ต้นลม และยังไม่แน่ว่า สายเกินไปแล้วหรือไม่ ที่จะจัดการอย่างจริงจังกับผู้ชุมนุม และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะแกนนำและคนอยู่เบื้องหลัง และจะต้องใช้กลยุทธ์ชั้นยอด มีเท่าไหร่ นำออกมาใช้ได้แล้ว เพราะคงไม่เหลือเวลาให้ได้ใช้อีกต่อไป
หาไม่ ไม่เพียงบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ต่อเนื่องมาหลายปี วิถีชีวิตคนไทยที่เหมือนถูกปล่อยตามยถากรรมอยู่แล้ว หนำซ้ำยังมาเจอวิกฤตโควิด-19 เข้าให้อีก คิดดูคนไทยจะเดือดร้อนแค่ไหน คนรวยสู้ไปเถอะร้อยปีก็ไม่เป็นไร แต่คนจน อย่าว่าแต่เอาชีวิตให้รอดเลย แค่อยู่อย่างสงบ ก็ยังมีคนเอาเรื่องร้อนมาส่งถึงบ้าน จะอยู่กันอย่างไรล่ะทีนี้ นี่คือ ความจริง!