เมืองไทย 360 องศา
ก็ได้เห็นกันแล้วว่า ม็อบ 14 ตุลาคม ของ “กลุ่มคณะราษฎร 63” ว่า “มากันเป็นล้าน” หรือไม่ หรือมาแบบ “มืดฟ้ามัวดิน” หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ บรรดาแกนนำคุยโม้เอาไว้หนักมาก ประมาณว่างานนี้ต้อง “ม้วนเดียวจบ” ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ เช่น การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก
อย่างไรก็ดี เมื่อได้เห็นภาพที่ปรากฏ ทั้งจำนวนมวลชนที่เข้าร่วมมีจำนวน “ไม่มากพอ” สำหรับภารกิจที่ถือว่า “ใหญ่บิ๊กเบิ้ม” ขนาดนี้ และยิ่งข้อเรียกร้องที่สังคมรับรู้กันว่าเน้นไปที่ “สถาบันเบื้องสูง” ที่พวกเขาบอกว่าต้องการให้มีการ “ปฏิรูป” นั้น เพียงแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ จำนวนมวลชนเพียงแค่ “หยิบมือ” แค่นี้ คงไม่สำเร็จตามข้อเรียกร้องแน่นอน
เพราะหากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกันกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การชุมนุมของกลุ่ม “นปช.” หรือคนเสื้อแดง จำนวนมวลชนถือว่า “เทียบกันไม่ติด” และหากนำมาเทียบกับการชุมนุมของ กลุ่มกปปส. ก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะน้อยกว่าจนเทียบกันไม่ได้เลย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันเฉพาะเรื่องจำนวนมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุม อาจจะไม่ถูกต้องหรือเป็นธรรมนัก เพราะต้องพิจารณาถึงข้อเรียกร้องที่มีการนำเสนอเข้ามา ว่า ถูกต้องชอบธรรมแค่ไหน อีกทั้งอีกหนึ่งเป้าหมายที่กำลังพุ่งตรงไปแบบเน้นย้ำก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
แต่ก็อย่างว่าแหละ การชุมนุมก็ต้องเน้นด้วยจำนวนมวลชนที่เข้าร่วม มากกว่าจำนวนที่โพสต์กันในโลกโซเชียลฯ และด้วยจำนวนมวลชนที่เข้ามาร่วมนั้น ส่วนใหญ่ก็ยังเป็น “มวลชนหน้าเดิม” แบบคุ้นหน้า และที่สำคัญไม่ใช่มวลชนที่เป็นนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ เยาวชน อย่างที่คาดหมายกันไว้ แม้ว่าการชุมนุมคราวนี้จะมีนักศึกษาและเยาวชนเข้าร่วมมากขึ้น แต่กำลังก็ยังเป็นมวลชนที่ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ หรือ “รุ่นใหญ่” ที่หน้าคุ้นๆ ใส่เสื้อแบบคุ้นๆ กันมาทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน หากบอกว่าการชุนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่เป็นแนวร่วมกันกับพรรคก้าวไกล และกลุ่ม “ทุนก้าวหน้า” ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวก เช่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นต้น
อย่างไรก็ดี พวกเขา คือ นายธนาธร และ ปิยบุตร กลับถูกมองว่าเป็น “อีแอบ” ในความหมายแบบว่า “ซ่อนตัวอยู่หลังเวที” ปล่อยให้พวกเด็ก หรือคนอื่นออกมาเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางแทน แต่แม้ว่าจะพยายามปิดบังอำพรางแค่ไหนก็ตาม สังคมก็รับรู้กันอยู่แล้วว่า ทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อยู่เบื้องหลังการชุมนุมในครั้งนี้
ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นการชุมนุมที่พุ่งเป้าโจมตี และ “จาบจ้วง” สถาบันพระมหากษัตริย์ บรรดาแกนนำการชุมนุมหลายคนมีพฤติกรรมดังกล่าว มีการใช้วาจาหยาบคาย มันก็ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงถึงกัน ประกอบกับทัศนคติที่เป็นลบ มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ อย่างเปิดเผยมาอย่างต่อเนื่องนานหลายปีมาแล้ว เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ พวกเขายังไม่ได้ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างเต็มตัวเท่านั้นเอง แต่เมื่อเข้าสู่การเมืองเขาก็ต้องถูกจับจ้องและถูกวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกับที่กำลังเจออยู่ในเวลานี้
กรณีของ นายธนาธร และ นายปิยบุตร จึงถูกมองว่า เป็น “อีแอบ” ในความหมายที่ไม่ใช่เป็นบวกอย่างแน่นอน เพราะเป็นความหมายในแบบที่ว่า “ขี้ขลาด” คอยแต่ยุแยงคนอื่นอยู่ข้างหลัง โดยที่ตัวเองไม่กล้าออกไปเสี่ยงอะไรประมาณนั้น
อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะในความหมายของ “อีแอบ” ดังกล่าวของพวกเขา มันก็ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าจะมีผลในทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อเขาได้เปิดตัวผู้สมัครองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายจังหวัด มันจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ภาพของ “ขบวนการล้มเจ้า” จะติดตัวพวกเขา และผู้สมัครในทีมก้าวหน้า หรือไม่ และจะได้รับผลกระทบต่อคะแนนเสียงหรือไม่
แน่นอนว่า การชุมนุมของ กลุ่มคณะราษฎร 63 จะมีผลสรุปในอนาคตเป็นอย่างไร แต่สำหรับ “อีแอบ” หลังเวทีอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จะได้รับผลกระทบทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน แต่งานนี้น่าจะมีผลในทางลบมากกว่าบวก โดยเฉพาะกับสังคมที่ยังรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพวกเขากำลังยืนอยู่ตรงกันข้าม !!