โฆษก กมธ.พิจารณาร่างแก้ รธน. เผย อนุฯ จ่อรายงานข้อ กม.แย้งแก้ รธน.พรุ่งนี้ ชี้ 2 ฝ่ายยังเสียงแข็ง หาจุดร่วมไม่ได้ แจงข้อเรียกร้องม็อบ เปิดสมัยวิสามัญไร้ประโยชน์เพราะจะเปิดอยู่แล้ว ยันยึดวิป รบ.ยันโหวตรับหลักการแน่
วันนี้ (13 ต.ค.) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ในช่วงบ่าย คณะอนุ กมธ. พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ที่มี นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน จะนำความคืบหน้าในการศึกษาประเด็นข้อกฎหมายเบื้องต้น ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ มารายงานให้ที่ประชุมใหญ่รับทราบ อย่างไรก็ตาม สำหรับครึ่งทางของการพิจารณาที่ผ่านมา กมธ.ยังแบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดย ส.ว.ส่วนใหญ่ อาทิ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายสมชาย แสวงการ นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นต้น ยังยืนยันว่า การจะแก้ไขมาตรา 256 จะต้องทำประชามติก่อน เพราะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นการยกร่างใหม่ ไม่ใช่การแก้ไข ส่วนซีก ส.ส.ส่วนใหญ่ ยังยืนยันเช่นกันตามที่เราได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร.ว่า ประชามติต้องอยู่แล้ว แต่ทำหลังจากจบวาระสามจากที่ประชุมรัฐสภา ก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ
เมื่อถามว่า 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร ให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายอัครเดช กล่าวว่า ปิดสมัยประชุมรอบนี้สั้น เพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งถ้านับตามกระบวนเพื่อขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ทั้งการรวบรวมรายชื่อ ขั้นตอนยื่นเพื่อขอตราพระราชกฤษฎีกาอย่างเร็วที่สุดต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งอีก 2 สัปดาห์หน้า ก็ถือว่า ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเปิดสมัยประชุมสมัยประชุมในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ พอดี ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเชื่อว่า เมื่อเปิดสมัยประชุมญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะจ่อเข้าสู่ระเบียบวาระในเรื่องแรกๆแน่นอนอยู่แล้ว
โดย ส.ส.ซีกรัฐบาล จะยึดมติวิปรัฐบาล โหวตรับหลักการแน่นอน เพราะถือว่าเป็นร่างที่พวกเราเสนอ ส่วนซีก ส.ว.ยังเห็นต่างก็ต้องพูดคุยเพื่อก็หาข้อสรุปกันต่อไป เชื่อว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ในที่สุดจะมีความเห็นต่างกัน กมธ.ก็จะไม่มีการลงมติว่า ความเห็นทางข้อกฏหมายใดถูกต้อง แต่จะทำรายงานเสนอทุกความเห็นเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้รับทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงมติรับหรือไม่รับหลักการต่อไป