โฆษกอนุ กมธ.ก่อนรับหลักการแก้ รธน. ฟันธง! แก้ รธน.ไม่ขัด รธน.-ทำประชามติก่อนนายกฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย ยืนยันไม่ยกร่างใหม่ ปม ส.ว.เห็นต่างรอ กมธ.ชุดใหญ่สรุป
วันนี้ (9 ต.ค.) นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะโฆษกอนุกรรมาธิการพิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ รัฐสภา เปิดเผยข้อสรุปของอนุกรรมาธิการต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อนุกรรมาธิการเสียงข้างมากที่เป็น ส.ส.และนักวิชาการ ได้ข้อสรุปแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นไปตามกระบวนการมาตรา 256 แต่มีเสียงส่วนน้อยที่เป็น ส.ว.เห็นว่ายังขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยังได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าการทำประชามติให้ทำหลังผ่านการแก้ไขในวาระที่ 3 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ตามกระบวนการในมาตรา 256 วรรค 8 แต่เสียงส่วนน้อยที่เป็น ส.ว. เห็นว่า ควรทำประชามติ 2 ครั้ง คือ ก่อนรับหลักการ และก่อนที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งนายนิกรยังเห็นแย้งกับความเห็นของวุฒิสภา เพราะหากจะดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติก่อนรับหลักการ กระบวนการยังอยู่ในชั้นนิติบัญญัติที่ไม่มีอำนาจจัดการออกเสียงประชามติ และขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายการออกเสียงประชามติด้วย รวมถึงกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน ซึ่งกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ มีเวลาพิจารณาเพียง 30 วันเท่านั้น ซึ่งกรรมาธิการก็จะนำข้อสรุปความเห็นทั้งหมดเสนอต่อกรรมาธิการชุดใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้
นายนิกรยังกล่าวถึงข้อกังวลที่ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 เกี่ยวข้องกับรูปแบบรัฐ และพระมหากษัตริย์ว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีกรณีที่ไปกระทบต่อพระราชอำนาจ ซึ่งกรรมาธิการจะหารือกันอีกครั้งว่าหากเกิดกรณีดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
นายนิกรยังชี้แจงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในปี 2556 ที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเก่า จะต้องจัดทำประชามติเพื่อขอความเห็นประชาชนในการยกเลิกรัฐธรรมนูญว่า เป็นคนละประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะกรณีดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ทำประชามติ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ทำประชามติก่อน ซึ่งนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน เห็นว่าสามารถทำได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติไว้อยู่แล้ว พร้อมชี้แจงการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 ของประเทศ ไม่ได้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเป็นฉบับที่ 21 แต่อย่างใด
ส่วนข้อสรุปที่ ส.ว.ยังเห็นต่างจาก ส.ส. และนักวิชาการในกรรมาธิการจำเป็นจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดหรือไม่นั้น นายนิกรเห็นว่า จะต้องรอกรรมาธิการชุดใหญ่สรุปจากข้อสรุปที่อนุกรรมาธิการเตรียมเสนอในวันที่ 14 ตุลาคมนี้