ไฟเขียวถอดถอนเงิน อสม.1.2 หมื่นล้าน ค่าป่วยการหัวละ 1 พัน/เดือน ที่ตั้งไว้ในงบอุดหนุนฯ 76 อบจ. ไปให้ สธ.บริหารจัดการเต็มรูปแบบ หลัง ส.อบจ.โวย! ไร้อำนาจกำกับทั้งคนทั้งเงิน แค่ตัวกลางกรอกเงินจ่าย อสม. แถมไม่อยู่ในภารกิจถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่น เผย บอร์ด ก.ก.ถ.จ่อชง ครม.ให้มีผลปีงบฯ 65 พร้อมเสนอสำนักงบฯ ตั้งอุดหนุน อบจ.รายการใหม่ 1.2 หมื่นล้าน แทนวงเงินที่ขาดหายไป
วันนี้ (12 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ถอดถอนรายการเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกจากรายการเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ขอตั้งบประมาณในปี พ.ศ. 2565 ด้วย
ทั้งนี้ ให้นำเงินงบประมาณเงินอุดหนุนสำหรับจ่ายค่าป่วยการ อสม.ไว้ที่ สธ. และให้ สธ.เสนอตั้งงบประมาณรายการดังกล่าวตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป โดยให้สำนักงบประมาณ พิจารณาสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนที่ขาดหายไปให้ อบจ. เพื่อมิให้กระทบต่อการบริหารงานขอ อบจ. โดยอาจเป็นรายการอุดหนุนรายการอื่นในวงเงิน 12,400 ล้านบาท
เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายเลขานุการ ก.ก.ถ.ที่พิจารณาเรื่องนี้ มีความเห็นให้ถอดรายการเงินอุดหนุนดังกล่าวออกจากรายการเงินอุดหนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เนื่องจากภารกิจการจ่ายเงินค่าป่วยการ อสม. มิใช่ภารกิจถ่ายโอนตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. และ อบจ.ไม่มีบทบาทในการบริหารจัดการหรือปฏิบัติงานร่วมกับ อสม.
“รวมถึงการจ่ายเงินค่าป่วยการ อสม. เป็นไปตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย อสม. พ.ศ. 2554 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสิทธิได้รับเงินค่าป่วยการในการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม. พ.ศ. 2560 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ไม่นับรวมอยู่ในสัดส่วนรายได้ของ อปท.
สำหรับเงินอุดหนุนดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี ให้แก่ โครงการส่งเสริม อสม.เชิงรุก โดยไม่นับรวมอยู่ในงบระมาณที่อยู่ในสัดส่วนของเงินอุดหนุนที่รัฐต้องจัดสรรให้แก่ อปท.ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนให้กับ อสม.กว่า 9.8 แสนคนในอัตราคนละ 600 บาท โดยให้จังหวัดเป็นหน่วยงานรับงบประมาณเพื่อโอนเงินให้ อบจ. เพื่อโอนต่อให้สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไปจัดสรรให้ อสม.โดยตรง
ต่อมาเมื่อมี พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 กระทรวงการกคลัง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีในการเบิกจ่ายค่าป่วยดารของ อสม.ใหม่ โดยกรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่ดำเนินการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของ อปท. โดยตรงผ่านบัญชีเงินฝาก อบจ.ผ่านระบบ GFMIS ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ขณะที่เมื่อปี 2561 รัฐบาลได้เพิ่มค่าป่วยการ อสม. จากเดือนละ 600 บาท เป็น 1,000 บาท/คน ในส่วนของวงเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการเพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (ส.อบจ.) เรียกร้องให้ถอดงบประมาณดังกล่าวออกจากเงินอุดหนุน อปท.ที่ตั้งไว้ใน อบจ. เนื่องจากเห็นว่าภารกิจ อสม.ไม่ได้เป็นภารกิจถ่ายโอน และไม่ได้เป็นภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของ อบจ. ประกอบกับ อบจ.ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางในกระบวนการส่งผ่านเงินไปยัง อสม.เท่านั้น ไม่มีบทบาทในการบริหารงบประมาณ เพียง อบจ.ทำหน้าที่กรอกข้อมูลวงเงินเพื่อจ่าย อสม.เมื่องบประมาณมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 มีการตั้งวงเงิน อสม. ไว้ที่ อบจ.สัดส่วนสูงมาก คือ เป็นเงินจำนวน 12,474.66 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.64 ของเงินอุดหนุนที่ อบจ.ได้รับจัดสรรจำนวน 27,942.17 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.06 ของเงินอุดหนุน อปท.306,988.20 ล้านบาท และงบประมาณอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ อสม. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งตั้งไว้ที่ อบจ.จำนวน 12,476.29 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 43.32 ของเงินอุดหนุนที่ อบจ.ได้การจัดสรร 28,797.84 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.87 ของเงินอุดหนุน อปท.จำนวน 322,250 ล้านบาท