“สุดารัตน์” ขอบคุณ “ศาลปกครองสูงสุด” ให้ความเป็นธรรม จ่อฟ้องอาญาคนทำหลักฐานปลอมคดีทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 900 ลบ. ลั่นตราบาป 14 ปี ต้องเป็นกรณีตัวอย่างปฏิรูปองค์กรอิสระ
วันนี้ (9 ต.ค.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดข้อมูลคดียกเลิกการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547 ตามที่ คุณหญิงสุดารัตน์ ฟ้องคดี เพื่อแสดงความโปร่งใสของ ป.ป.ช.ว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณศาลปกครองสูงสุดที่ให้ความเป็นธรรม คดีนี้สร้างตราบาปให้กับตนเองมาร่วม 14 ปี เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท ซึ่งเงินงบประมาณทั้ง 900 ล้านบาท ก็ได้ส่งคือกระทรวงการคลังทั้งหมด ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า ไม่มีการทุจริต การยกเลิกโครงการเป็นการรักษาประโยชน์ราชการ
“เหตุเกิดหลังจากรัฐประหาร มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวหา ทั้งที่ไม่มีการประมูล หรือจัดซื้อใดๆ เลย และเงินทุกบาททุกสตางค์ทั้ง 900 ล้านบาท ได้ส่งคืนกระทรวงการคลังทั้งหมด ดิฉันต่อสู้คดีกับ ป.ป.ช. อยู่ถึง 7 ปี จน ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ว่าดิฉันและคณะไม่มีความผิด” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการที่ตนยื่นศาลปกครองฟ้อง ป.ป.ช. เพื่อขอให้ ป.ป.ช. เปิดหลักฐานในคดี ที่ตนพบว่ามีการทำหลักฐานเท็จมาปรักปรำตนเองให้ได้รับผิด จึงต้องการให้เป็นบรรทัดฐานว่าองค์กรอิสระต้องพิจารณาทุกอย่างทุกเรื่องอย่างเที่ยงธรรมที่แท้จริง ไม่มีธง หรือ 2 มาตรฐาน ตนเคยเป็นคนหนึ่งในการสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้มี ป.ป.ช. หวังเห็น ป.ป.ช.ใช้อำนาจสุจริตและเที่ยงธรรม ในการตรวจสอบนักการเมืองไม่ให้กระทำทุจริต โดยไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายมีอำนาจเพื่อขจัดคู่แข่ง แต่ในคดีของตนพบว่ามีการงอกหลักฐานที่เป็นเท็จหลายชุด และภายใน 30 วันนี้ ป.ป.ช. จะต้องส่งเอกสารมาให้ตนเกือบทั้งหมด ยกเว้นคำให้การของพยาน และถ้าพบว่ามีการทำเอกสารเท็จจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็จะต้องมีการดำเนินคดีอาญาต่อ
ทั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวย้ำว่า ไม่มีความอาฆาตมาดร้าย แต่ตัวเองอยู่ในระบบการเมือง องค์กรอิสระต้องทำตนให้เที่ยงธรรม ตรวจสอบ และลงโทษนักการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช้อำนาจกลั่นแกล้งหรือไปตามธงตามที่เราได้ยินกันในช่วงหลายปีมานี้ จึงอยากให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างเพื่อทำให้ระบบยุติธรรม เกิดการเปลี่ยนแปลง ยึดหลักนิติธรรม และมีความเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง
“ขนาดเราเป็นผู้ที่ทำงานทางการเมือง เคยทำงานในตำแหน่งต่างๆ มาเรายังโดนขนาดนี้ ถ้าเป็นประชาชน เป็นคนทั่วไปที่เขาไม่มีกำลัง เขาเจอแบบเราเขาจะมีปัญญาไหนไปต่อสู้ กับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ให้ความเที่ยงธรรมกับเขา เราสนับสนุนให้ตรวจสอบนักการเมือง แต่ไม่ใช่ตรวจสอบตามธง ฝั่งนึงไม่เคยผิด อีกฝั่งผิดตลอด” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการร้องต่อศาลแล้วถูกดึงเรื่องไปอีกจะทำอย่างไร คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร แต่ความเที่ยงธรรมต้องเกิด รวมทั้งระยะเวลาที่จะได้รับความเป็นธรรมก็สำคัญ หลายคนที่ร้องขอความเป็นธรรม แต่กว่าความเป็นธรรมจะมาถึง บางคนต้องเสียชีวิตไปก่อน