“ทักษิณ” เปิดปากผ่าน “สื่อเสื้อแดงอาวุโส” อย่ามาพูดเรื่องนายกฯพระราชทาน “ผมจะกลับมาลงเลือกตั้ง” พร้อมปฏิเสธข่าวลือผ่านคนใกล้ชิด ซัดปฏิบัติการ “ไอโอ” แย่มาก เผย “คุณหญิงอ้อ” ไม่ธรรมดา “วิษณุ” การันตี มีภาวะ “ผู้นำ”
สื่อเสื้อแดงอาวุโสอ้างคำพูด “ทักษิณ” อย่ามาพูดเรื่องนายกฯพระราชทาน “ผมจะกลับมาลงเลือกตั้ง”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (30 ก.ย. 63) เฟซบุ๊ก Sa-nguan Khumrungroj ของ นายสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส โพสต์ข้อความถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ ว่า
“เรื่องนายกฯพระราชทาน อย่ามาพูดกับผม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกาของประชาธิปไตย และต้องเป็นไปตามเสียงของประชาชน ท้องฟ้าสว่าง ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ผมจะกลับมา และจะลงเลือกตั้ง หากประชาชนส่วนมากเลือกผม ผมก็พร้อมยินดีที่จะรับใช้ประชาชน เพราะหัวใจของผมอยู่กับประชาชนคนไทยเสมอ”
อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีกระแสข่าวในโลกโซเชียล ว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวใกล้ชิด นายทักษิณ เปิดเผยว่า การแต่งตั้งนายกฯพระราชทาน และการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยมีชื่อ นายทักษิณ เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น อดีตนายกฯทักษิณ ไม่รู้ และไม่ทราบในเรื่องดังกล่าว การกระทำในลักษณะไอโอแบบนี้ เป็นการกระทำที่แย่มากๆ ประเทศยิ่งอยู่ในความขัดแย้ง แทนที่จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองดูเงียบสงบ สร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ แต่กลับไม่เห็นความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ (ไทยรัฐออนไลน์)
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทยนั้น แหล่งข่าวระดับสูงในพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ในวันศุกร์ที่ 25 ก.ย. 63 คุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ ได้ร่วมหารือกับแกนนำระดับอาวุโสของพรรค ก่อนการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในพรรคจะเริ่มขึ้น ขณะที่บางตำแหน่งและจังหวะในการรวบรวมไพร่พลในลำดับต่อไป เป็นไปตามคำแนะนำของ นายทักษิณ ชินวัตร
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏขึ้น คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พร้อมด้วย กรรมการอาวุโสอีก 3 คน ตามด้วยการลาออกของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค
ส่วนการเซตซีโร่ โครงสร้างอำนาจในพรรคของทักษิณ มีเป้าหมายเพื่อดึงนักการเมืองขาใหญ่-อาวุโสเก๋าเกม และมีวุฒิภาวะทางการเมือง กลับเข้าสู่พรรคอีกครั้ง
กล่าวคือ ในกลุ่มนักการเมืองที่ถูกเจรจาให้กลับพรรคเพื่อไทยใหม่ คือ กลุ่มนักการเมืองที่เคยเป็นขุนพลหลักของทักษิณ ซึ่งก่อหวอดในตึกชินวัตร แล้วก่อร่างสร้างตัวเป็น “กลุ่มแคร์” มีฐานที่มั่นใน voice tv และหมู่บ้านเกศินีย์วิลล์
ไม่ควรลืมว่า กว่า 2 ทศวรรษ ที่ “ทักษิณ” และคุณหญิงอ้อ โลดแล่นอยู่ในวงการเมือง สร้างบุญคุณ-สั่งสมบารมี ทั้งในช่วงอยู่บนอำนาจ และร่วงหล่นจากเก้าอี้
นายภูมิธรรม เวชยชัย เคยพูดถึงคุณหญิงอ้อ ไว้หลังรัฐประหาร 2549 ว่า “คุณหญิงพจมาน เป็นคนที่ดูแลลูกน้องและครอบครัวของลูกน้องทุกชีวิต มีพ่อของลูกน้องผมคนหนึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดด่วน ถ้าไม่ได้คุณหญิงช่วย เขาคงไม่มีชีวิตมาถึงทุกวันนี้”
ขณะที่นักการเมืองสายพันธุ์พิเศษ อย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยดีลกับนายกรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 7 คน กล่าวขวัญถึงคุณหญิงพจมาน ว่า เป็นคนมีลีดเดอร์ชิป “…กับคุณหญิงพจมาน ท่านเป็นคนมีน้ำใจ เวลาเจอผมท่านจะถามถึงลูก ถึงภริยา เช่น ลูกเรียนไปถึงไหน จะกลับมาทำอะไร หรือช่วงที่ภริยาผมไปผ่าตัด ท่านก็มาถามว่า ผ่าที่ไหน หาหมออะไรบอกอีกว่า อ้อมีหมอคนหนึ่งรู้จัก วันหลังแนะนำให้ไหม”
“…คนอื่นไม่เคยมาคุยกับผมแบบนี้ สิ่งที่ผมประทับใจท่านเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว คือ ท่านเป็นคนที่ไม่แสดงความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวให้ได้เห็นยามที่ไม่จำเป็นต้องแสดง ปกติท่านจะพูดว่า…เหรอคะ จะเอาอย่างไรก็เอา”
“…แต่ยามใดที่ต้องแสดงความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ซึ่งเราเป็นคนไม่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเพราะเกรงใจ แต่ท่านไม่เกรงใจ ท่านแสดงเปรี้ยงเลยว่าเป็นอย่างนี้ วันนั้นท่านพูดกลางวงประชุมว่า “ไม่ต้องอ้อมค้อม พูดกันตรงๆ ดีกว่า คุณจะเอาอย่างไรแน่” ไอ้คำพูดอย่างนี้ ตั้งแต่ผมเกิดมาผมยังไม่เคยพูด ผมเองตกใจ อกสั่นขวัญแขวนไปเลย แต่นี่คือลีดเดอร์ชิปนะ” นายวิษณุ กล่าว
ไม่นับบุญคุณ บารมี ที่คุณหญิงพจมาน สั่งสมไว้กับบรรดานักการเมืองในเครือข่าย ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย นานกว่า 2 ทศวรรษ
(ประชาชาติธุรกิจ และ**ข้อมูลจากหนังสือ “ในคืนยะเยือก 7 ขุนพลทักษิณ ใต้ปฏิบัติการ ลับ ลวง พราง” โดยสำนักพิมพ์มติชน)
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 63 รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อเลือก กรรมการบริหาร (กก.บห.) ชุดใหม่ จะมีการฟอร์มทีม “คณะกรรมการตัดสินใจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย” ที่คล้ายๆ ซูเปอร์บอร์ด ขึ้นมาแบบไม่เป็นทางการ แต่คนในพรรครับรู้ว่า มีอยู่จริง โดยอาจประชุมกันเดือนละ 1-2 ครั้ง และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ก็อาจมาร่วมวงหารือนั่งหัวโต๊ะ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า อาจมีคนทำงานที่ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไว้วางใจ ที่ได้แยกตัวไปตั้งกลุ่ม CARE แต่ไม่ได้รับการขานรับในทางการเมืองมากนัก ทั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ภูมิธรรม เวชยชัย รวมถึงบางคนที่เคยไปร่วมตั้งพรรคไทยรักษาชาติ อย่าง พิชัย นริพทะพันธุ์ ทั้งหมดจะถูกดึงให้กลับมาช่วยงานเพื่อไทยมากขึ้น หลังที่ผ่านมา เฟดตัวเองออกไป ท่ามกลางข่าวว่าเพราะบางคนทำงานกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่ได้ (สยามรัฐออนไลน์)
แน่นอน, ถือว่าสยบข่าวลือเรื่อง “นายกฯพระราชทาน” หรือ “นายกฯรัฐบาลแห่งชาติ” ที่ทำเอาคนเสื้อแดงแทบนอนไม่หลับลงไปได้ เหลือก็แต่การปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทย จะออกมาอย่างไร ซึ่งอีกไม่นานก็คงจะได้ทราบกัน ว่าเป็นไปตามที่ข่าววงในเผยออกมาหรือไม่
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ ความมั่นใจอย่างสูงของ “ทักษิณ” ที่จะกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้ง และเป็นนายกฯตามกติกาประชาธิปไตย หลังฟ้าสว่าง ประชาชนเป็นใหญ่ด้วย
ทำให้กระแสข่าวที่ว่า การเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ก็เพื่อรองรับการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเชื่อว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ก่อนยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ทว่า “เงื่อนไข” ที่จะนำ “ทักษิณ” กลับบ้านยังไม่ชัดเจน ว่าจะทำได้อย่างไร เพราะอย่าลืมว่า “ทักษิณ” เป็นนักโทษหนีคดี แต่ในเมื่อเขามั่นใจ ก็แสดงว่า เบื้องลึกอาจมีทางออกอยู่แล้วหรือไม่ ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
แต่เหนืออื่นใด การมี “คุณหญิงอ้อ” เข้ามากุมบังเหียนพรรคเพื่อไทย และดูเหมือนจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วย เราคงได้เห็น พรรคเพื่อไทย ที่มี “หัว” และตัวตนชัดเจนขึ้น อย่างน้อยก็ในสถานการณ์การเมือง ที่กระแส “ปฏิรูปสถาบันฯ” เป็นไปอย่างร้อนแรง พรรคเพื่อไทย ภายใต้ “คุณหญิงอ้อ” จะมีจุดยืนอย่างที่ภาพลักษณ์ปรากฏหรือไม่ นั่นเอง