เมืองไทย 360 องศา
นาทีนี้เอาเป็นว่าสำหรับเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” คงยังไม่เกิด หรือเกิดขึ้นไม่ได้ แต่จะเป็น “ปิดทาง” แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อได้ยินคำตอบทุกคนที่เป็นระดับ “มีอำนาจ” ตัดสินใจล้วนออกมาในแนวทางเดียวกัน คือ “ไม่ได้ปิดประตูตาย” เลยทีเดียว แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนในเบื้องต้นให้ตรงกัน ก็คือ ความหมายของรัฐบาลแห่งชาติที่ว่านี้ ก็คือ มีพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เท่านั้น
แต่เมื่อมีการปฏิเสธว่า “ยัง” เป็นไปไม่ได้ (ในช่วงนี้) ทั้งจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงทางฝ่ายแกนนำพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรค ก็ปฏิเสธว่ายังไม่ได้เปลี่ยนแนวทางไปจากเดิม
ดังนั้น หากพิจารณาจากสถานการณ์และความเป็นไปได้ในช่วงนี้ ก็ต้องเห็นคล้อยตามว่า “ยังเป็นไปไม่ได้” แต่อย่างน้อยจากความเคลื่อนไหวล่าสุดในพรรคเพื่อไทย และ “ข่าว” ที่ว่านั้น มันก็อาจทำให้ “บางพรรค” ในพรรคร่วมรัฐบาล หวั่นไหวแบบ “เล็กๆ” ได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อวกกลับมาพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นภายในพรรคเพื่อไทย ที่มีการกำหนดประชุมพรรคสมัยวิสามัญในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ หรือ “โลโกพรรค” ใหม่ จากที่เดิมอักษรย่อเคยเป็นแบบมี “หัวเหลี่ยม” มาเป็นแบบ “มีหัว” โค้งๆ กลมๆ
สำหรับเรื่องโลโกก็ว่ากันไป แต่ที่ต้องจับตามองกันเป็นพิเศษ ก็คือ ใครจะเป็นหัวหน้าพรรค ใครจะมาเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ รวมไปถึงคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จะมาจากกลุ่มไหนบ้าง แต่เมื่อพิจารณาจากสัญญาณจาก “พจมานในชุดเหลือง” และตามมาด้วยการลาออกของ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค และการลาออกจากหัวหน้าพรรคของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมต้องสิ้นสุดลงไปโดยพลัน รวมไปถึงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่ผูกพันตามกฎหมายอีกด้วย
ดังนั้น เมื่อจะมีการเลือกกันใหม่ก็ต้องจับตาดูว่ามาจาก “สายไหน” กันบ้าง แม้ว่าสำหรับพรรคเพื่อไทยรับรู้กันอยู่แล้วว่า ก่อนหน้านี้ คนในครอบครัวชินวัตรถูกมองว่าเป็น “เจ้าของตัวจริง” มาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย ที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นคนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 เรื่อยมาจนกลายพันธุ์มาเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน และความเคลื่อนไหวล่าสุด ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ที่เห็นภาพ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร (ชินวัตร) สวมชุดเหลือง พร้อมกับลูกๆ ในครอบครัว จากนั้นก็มีการลาออกของ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ตามมาดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากรายงานข่าวที่เพิ่งเกิดขึ้น หลังจากนั้นค่อนข้างมองไปทางเดียวกัน โดยจับทางได้ว่า สำหรับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ น่าจะได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอีกรอบ เพราะถือว่ามีความอาวุโสได้รับการยอมรับในพรรค โดยเฉพาะมีรายงานว่า ได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัวชินวัตร อย่างน้อยที่ปรากฏตามข่าว ก็คือ “เจ๊แดง” นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อีกทั้ง นายสมพงษ์ ยังเป็น ส.ส.เชียงใหม่ อีกด้วย
แต่ที่น่าจับตาตามมา ก็คือ ตำแหน่งเลขาธิการพรรคเพื่อไทย จะเป็นใคร หลังจากที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ต้องพ้นสภาพไป หลังจากที่ นายสมพงษ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค โดยคราวนี้มีการคาดหมายกันว่า น่าจะมาจากกลุ่มส.ส.ในภาคอีสาน ที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในพรรค
หากผลออกมาเป็นไปตามนี้จริง นั่นก็เท่ากับว่า เกิดการ “ปฏิวัติ” กันครั้งใหญ่ในพรรคเพื่อไทย และเชื่อว่า คนที่เข้ามามีบทบาทผลักดันสำคัญ ก็คือ “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อย่างที่หลายคนได้มองเห็น
ขณะเดียวกัน เมื่อตัดภาพมาอีกด้านหนึ่งก็จะเห็นการ “ถูกบีบให้ลดบทบาท” ลงไปของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะที่ผ่านมา ตำแหน่งเลขาธิการพรรค ของ น.อ.อนุดิษฐ์ ถือว่าเป็น “สายตรง” ของเธอ แต่หากเปลี่ยนเป็นคนอื่น หรือมาจากภาคอีสาน ก็ถือว่าชัดเจน
เพราะแม้ว่า จะมีการยืนยันว่า กลุ่ม ส.ส.ภาคอีสาน ให้การสนับสนุน คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นคนอื่นแบบนี้ ก็ต้องบอกว่า “สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป” อย่างสิ้นเชิงแล้ว และที่สำคัญ หากพิจารณาจากแอ็กชั่นที่เห็นจาก “ชุดเหลือง” ของคุณหญิงอ้อ และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในพรรค นั่นก็หมายความว่า ในอนาคตก็น่าจะมีหลักประกันในเรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง” จะต้องกลับมาไหลอีกครั้งก็เป็นไปได้
ขณะเดียวกัน หากภาพออกมาอย่างที่เห็น นั่นก็หมายความว่า “เจ๊หน่อย” จะต้องลดบทบาทลง และให้การนำพรรคกลับมาอยู่ใน “ศูนย์อำนาจเดียว” ไม่ใช่เดิน “แยกขา” อย่างที่เคยเป็น คือ ไม่เป็นเอกภาพ แย่งชิงการนำกันระหว่าง กลุ่มนายสมพงษ์ กับคุณหญิง สุดารัตน์ และความขัดแย้งดังกล่าวทำให้มีแกนนำหลายคนแยกตัวออกไป เท่าที่เห็นก็คือการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มแคร์” เป็นต้น
ดังนั้น หากมองกันให้เห็นภาพล่วงหน้าก่อนถึงวันประชุมเพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ ที่คาดว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรคน่าจะยังเป็น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ คนเดิม ส่วนเลขาธิการพรรค มาจากกลุ่มภาคอีสาน ก็ถือว่าชัดเจนสำหรับการกลับมา “ยึดพรรค” และลดบทบาทของ “เจ๊หน่อย” ลงไป ภาพน่าจะออกมาประมาณนี้ ส่วนเรื่องอื่นน่าจะชัดขึ้นไปอีก แต่ต้องรอให้ถึงวันที่ 1 ตุลาคมเท่านั้น !!