วงเสวนาติดตามการใช้งบประมาณชี้ กทม.จัดงบไร้ประสิทธิภาพ วางผังเมืองไม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัย คุณภาพชีวิตประชาชน แนะเร่งเลือกผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.-ส.ข.เพิ่มกลไกถ่วงดุลโดยเร็ว
วันนี้ (27 ก.ย. 63) คณะกรรมาธิการการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนา ในหัวข้อ "ผ่าตัดงบประมาณรวมพลังสร้าง กทม." โดยเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.), นักวิชาการ และอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ร่วมเสวนา
นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณ ของกรุงเทพมหานคร โดยย้อนหลังไป 7 ปีจะเห็นได้ว่าใช้งบประมาณไปกว่า 5.17 แสนล้านบาท แต่ยังพบเห็นปัญหาที่ซ้ำซาก พร้อมหยิบยกโครงสร้างการบริหารของ กทม.ขึ้นมาอภิปราย ซึ่งยังขาดการบูรณาการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยงบประมาณยังเน้นการลงถึงในระดับเขต แต่งบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่สำนักเป็นหลัก รวมถึงอีกหลายโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน เช่น โครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงกว่า 6 พันล้านบาทแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เรื่องงบประมาณด้านอนามัย เช่น โครงการจัดสร้างโรงฆ่าสัตว์ซึ่งใช้งบกว่า 900 ล้านบาท แต่ไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่แพร่เชื้อโรคต่างๆ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปัญหาการเก็บขยะไม่ทัน หรือปัญหาการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุข แม้จะมีการลงทุนต่อเนือง และใช้งบประมาณมหาศาลก็ตาม
“ปัญหาเหล่านี้จึงสะท้อนว่าผู้บริหารของ กทม.แต่ละชุดไม่ได้หยิบแผนงานที่จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชาว กทม.ขึ้นมาใช้ แต่เน้นการเดินหน้าตามนโยบายของตนเอง จึงทำให้งบประมาณบางส่วนอาจสูญเปล่า” นายประเดิมชัยระบุ
นายประเดิมชัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในส่วนของงบกลาง กทม.ที่ถูกตั้งไว้สำหรับให้ผู้บริหาร กทม.ใช้จ่ายนั้นมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะมีความไม่โปร่งใส หรือไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน จึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ ที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรจะได้ช่วยกันติดตามตรวจสอบ
ด้าน ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กทม.มีงบประมาณมหาศาล แต่ยังมีการบริหารงานที่ล้าหลัง ทั้งการจัดสรรงบประมาณ การจัดผังเมือง โดยเห็นว่าการจัดผังเมืองไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมคิด ส่วนร่วมจัดการ หากผังเมืองดีชีวิตของประชาชนก็จะดี และการจัดผังเมืองของ กทม.ไม่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัย ปัญหาน้ำท่วม การระบายหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ขณะที่การจัดสรรงบประมาณไม่ได้สอดคล้องกับพื้นที่และจำนวนประชากร
“อีกปัญหาคือ การที่ผู้อำนวยการเขตเป็นบุคคลที่มาจากส่วนกลางและไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้อำนวยการเขตไม่ต้องรับรู้ถึงความทุกข์ยากเมื่อประชาชนเกิดปัญหา ขณะที่การตรวจสอบการใช้งบประมาณด้วยกลไกที่เคยปฏิบัติมาก็ถูกตัดไป” ผศ.พิชญ์ระบุ
ด้าน นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวเสริมว่า กทม.ไม่เคยสอบถาม หรือพูดคุยกับประชาชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงก่อนดำเนินโครงการต่างๆ เช่น การอนุญาตให้ BTS ใช้ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ในส่วนดังกล่าว ขณะที่อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็แพงที่สุดในโลก ทำให้ปัจจุบันคนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ทุกกลุ่ม รัฐบาลต้องมีหน้าที่เข้าไปเจรจากับเอกชนที่เข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในมิติของค่าโดยสาร ที่ต้องเปิดโอกาสให้เป็นบริการเพื่อการขนส่งมวลชนอย่างแท้จริง
“การลงทุน ทั้งการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าหรือการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางสัญจรต่างๆ จะต้องยึดประชาชนเป็นหลัก จึงจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย” นายประภัสร์ กล่าว
ขณะที่ นายประเสริฐ ทองนุ่น อดีต ส.ก.บางกะปิ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาน้ำท่วม กทม.ซ้ำซาก เกิดจากการบริหารจัดการ ซึ่งละเลยสิ่งที่ควรจะเร่งแก้ไขปัญหา เช่น การพัฒนาพื้นที่ฟลัดเวย์ ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วน สิ่งที่ควรทำไม่ทำ สิ่งที่ยังไม่ควรทำกลับทำ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการสั่งการลงมาจากผู้มีอำนาจ ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าควรมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีสูบน้ำ การพัฒนาพื้นที่คลองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ข้าราชการส่วนใหญ่ก็ละเลยที่จะทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน รวมถึงกลไก ส.ข.เองก็ไม่สามารถเดินหน้าทำงานได้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เชื่อว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ทราบถึงปัญหาต่างๆ แต่ไม่คิดจะดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะขาดการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้เร่งรัดผลักดันอย่างจริงจัง ดังนั้น ส.ข.จึงจำเป็นต้องมี หากเรามีการถ่วงดุลในระดับเขตก็จะทำให้การพัฒนาสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมองว่าการรัฐประหารทำให้เสียเวลาพัฒนา ดังนั้นจึงขอเสนอให้เร่งเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยเร็ว และไม่ควรเกินเดือน ก.พ. 64 รวมถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาเขต (ส.ข.)