xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านชี้รัฐสุรุ่ยสุร่าย-ประเมิน GDP พลาด จี้ลดงบเหลือ 3.2 ล้านล้าน กันขาดดุลทะลุเพดาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาฯ เริ่มถกงบ 64 วาระ 2-3 ฝ่ายค้านขอเพิ่มเวลาพูด ดาหน้าซัดใช้งบสุรุ่ยสุร่าย แนะปรับเหลือ 3.2 ล้านล้าน ป้องกันยอดงบขาดดุลทะลุเพดาน ติงประเมิน GDP พลาดไม่แก้ให้เข้ากับสถานการณ์โควิด จี้ใช้งบนอกงบประมาณ 4.8 ล้านล้าน ช่วยลดภาระภาษี ปชช.

วันนี้ (16 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท วาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการตัดลดงบประมาณ และเกลี่ยให้ส่วนราชการต่างๆ ในที่สุดเหลือทั้งสิ้น 3.28 ล้านล้านบาท โดยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธารกรรมาธิการฯ ชี้แจงสรุปว่า จากการพิจารณางบประมาณของ 721 หน่วยงาน มีการปรับลดงบประมาณทั้งหมด 31,965,549,000 บาท จากรายการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และรายการที่สามารถปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนให้ประหยัดได้ เช่น การอบรมสัมมนา รวมถึงรายการที่มีการดำเนินการล่าช้าที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปี 2564 เพื่อนำไปจัดสรรให้ส่วนราชการตามที่ ครม.เสนอตามความเหมาะสมและจำเป็น 17,419 ล้านบาท ได้แก่ รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ อัยการ ทำให้เหลืองบประมาณรายจ่ายปี 2564 จำนวน 3.28 ล้านล้านบาท

จากนั้นก่อนเริ่มการอภิปรายเป็นรายมาตราวาระ 2 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ประธานอะลุ้มอล่วยเรื่องเวลาการอภิปรายเพราะมีหลายประเด็นต้องพูด ถ้าได้แค่ 7 นาทีคงไม่พอ เพราะตามข้อบังคับการประชุมสามารถอภิปรายได้โดยไม่จำกัดเวลา กรอบเวลา 7 นาทีเป็นแค่ข้อตกลง แต่ไม่ใช่ข้อบังคับการประชุม ถ้าจะเคร่งครัดให้แค่ 7 นาที ฝ่ายค้านขอทวงสิทธิตามข้อบังคับการประชุมที่ให้พูดโดยไม่จำกัดเวลา แต่นายชวนยืนยันให้อภิปรายได้แค่คนละ 7 นาทีตามที่ตกลงกันไว้ ถ้าให้พูดตามอำเภอใจคงไม่ได้อภิปรายกันทุกคน ขอให้ใช้ความสามารถในการย่อความ แต่ฝ่ายค้านไม่ยอม พยายามทักท้วง โดยนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย โต้แย้งว่า ที่ผ่านมาฝ่ายค้านอนุโลมมามากพอแล้ว ยืนยันต้องได้อภิปรายมากกว่าคนละ 7 นาที อย่าคิดว่าเสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้ แต่นายชวนไม่สนใจและตัดบทเข้าสู่การประชุมต่อไป

ต่อมาสมาชิกได้อภิปรายรายมาตรา เริ่มจากมาตรา 1 ชื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ขอแปรญัตติให้เพิ่มคำว่า “ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ” เข้าไปท้ายชื่อ พ.ร.บ. โดยกล่าวว่า งบประมาณปี 2564 เป็นงบที่คนจ่ายไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จ่าย เช่น การจัดซื้ออาวุธ เวลาลากรถถังออกมารัฐประหาร มีใครบ้างมาฟรี การใช้อุปกรณ์เหล่านี้มาจากภาษีประชาชน เป็นตัวอย่างได้ดีของคำว่า คนจ่ายไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จ่าย ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อุปโลกน์ตัวเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทำให้ตนไม่เชื่อมั่น รู้สึกเอือมระอา เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่กู้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงต้องการเติมคำ “ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ” เข้าไปท้ายชื่อร่าง พ.ร.บ. เพื่อให้ตระหนักว่างบประมาณเป็นภาษีของประชาชนไม่ใช่เงินสุรุ่ยสุร่าย เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลต้องตระหนัก เพราะไม่ใช่เงินจากตระกูลของท่านหรือของใคร

สำหรับมาตรา 4 งบประมาณรวม 3.28 ล้านล้านบาท มีสมาชิกขอสงวนคำแปรญัตติจำนวนมาก อาทิ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ขอปรับแก้มาตรา 4 แก้งบประมาณเป็น 3.2 ล้านล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า การประมาณการรายได้ส่งผลต่อการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในนโยบายการคลัง การประมาณการรายได้สูงเกินจริงเนื่องจากมีการประมาณการรายได้ก่อนการระบาดของโควิดในปี 2564 อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท โดยประมาณว่า GDP จะโต 1.8% แต่ประมาณการที่สูงเกินจริงส่งผลต่อขนาดการขาดดุลงบประมาณ จากเดิมตามข้อมูลตามเอกสารงบประมาณ คือ GDP ปี 2563 -5.5 และ GDP ปี 2564 เป็น +5% แต่จากที่ตนศึกษาตัวเลขของสภาพัฒน์และธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณอาจจะสูงถึง 902,983 ล้านบาท และทางกรรมาธิการได้ถามสำนักงบประมาณให้ประเมิณตัวเลขใหม่แต่ก็ไม่ได้คำตอบ ซึ่งหากเลขที่ตนคำนวณมาเป็นจริง จะขัดกับเพดานการกู้ซึ่งมีเพียง 736,392 ล้านบาท เงินส่วนเกินก็ยังไม่รู้ว่าจะเอารายได้ส่วนไหนมาชดเชย ตอนนี้โอกาสในการขาดดุลทะลุเพดานสูงมาก ตอนนี้ช่องว่างในการขาดดุลทำได้อีกเพียงหนึ่งแสนล้านบาท หากเก็บรายได้พลาดเป้าไปเพียง 4% ของ GDP ก็จะทะลเพดาน รัฐบาลจึงมี 3 ทางเลือก คือ การกู้เพื่อบริหารจัดการกระแสเงินสดและต้องชำระคืนภายใน 120 วัน, ออก พ.ร.ก.เงินกู้อีกครั้ง, การตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ลงให้เหลือ 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นทางออกเดียวที่ลดความเสี่ยงได้อย่างสมเหตุผลมากที่สุด

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมาธิการสัดส่วนฝ่ายค้าน อภิปรายว่ามีงบประมาณอีกหลายรายการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโควิด-19 เบิกจ่ายไม่ได้ รวมถึงเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะไม่มีเงิน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ระมัดระวังว่าไม่มีงบประมาณ ประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอจัดเก็บภาษี ดังนั้นต้องบริหารงบประมาณให้รัดกุมที่สุด แต่การจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำมากที่สุด และควรเอาเงินนอกงบประมาณ 4.8 ล้านล้านบาทมาใช้ จะได้จัดเก็บภาษีน้อยลง ลดภาระประชาชน หากรัฐบาลไม่ตัดรายจ่าย ก็ต้องรีดภาษีประชาชน พร้อมสรุปว่าการใช้จ่ายงบประมาณไม่ได้มีประสิทธิภาพเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เชื่อว่าไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า

นายวัฒนา เมืองสุข กรรมาธิการจากสัดส่วนฝ่ายค้าน อภิปรายเสนอตัดงบประมาณร้อยละ 10 โดยชี้ว่ารายจ่ายประจำสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญถึง 2.2 เท่า หากเทียบกับรายจ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงขึ้น 1.8 เท่าเท่านั้น ขณะที่การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า อย่างน้อย 3 แสนล้านบาทแน่นอน ขณะเดียวกัน ปี 2564 ยังไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว อย่างการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ จึงเห็นควรปรับลดงบประมาณเพื่อให้รัฐบาลปรับลดรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะกองทัพไทยที่มีทหารมากกว่าประเทศที่เจริญแล้ว 3 ประเทศรวมกัน และเพื่อรักษากรอบความยั่งยืนและวินัยการเงินการคลัง




กำลังโหลดความคิดเห็น