ส.ส.ก้าวไกล ชำแหละงบกลาง ชี้ รายจ่ายบุคลากรรัฐโตเร็วกว่าจำนวน ขรก. พท.ดักคออย่าใช้งบกลางจ่ายค่าปรับคดีเหมืองทองอัครา ประชาชาติ-ก้าวไกล ท้วงงบบางรายการไม่มีหน่วยรับงบ เหมือนตีเช็กเปล่าให้นายกฯ
วันนี้ (16 ก.ย.) ที่ประชุมสภาฯได้พิจารณามาตรา 6 งบกลางจำนวน 36,000 ล้านบาท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล กรรมาธิการและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สงวนความเห็นโดยขอตัดงบประมาณงบกลางที่ตั้งไว้ในรายการจาก 614,616,246,500 บาทเป็น 578,616,000,000 บาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายบุคลากรของรัฐโตเร็วกว่าจำนวนบุคลากรภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ใช่เงินเดือนข้าราชการแต่เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2550 จำนวนข้าราชการลูกจ้างรวมกองทัพ 2,500,000 คน มาปี 2560 มีข้าราชการและลูกจ้างเพิ่มเป็น 3,000,000 คน แต่ค่าใช้จ่ายโตเร็วกว่าจำนวนข้าราชการและบุคลากรที่เพิ่มขึ้น บุคลากรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.6% ต่อปี แต่ค่าใช้จ่ายโต 5% ในปีงบประมาณที่ผ่านมา จากสถิติต้นทุนข้าราชการหนึ่งคนใช้ 28 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ล้านบาทต่อ 1 ปี และเงินเดือนเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า ซึ่งไม่มาก แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือค่าราชการ เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ เงินเลื่อนเงินเดือน เงินสบทบลูกจ้างประจำและลูกจ้างต่างๆ นั้น โตเร็วมาก 10 ปี โตขึ้น 2.2 เท่า แต่ในปีงบประมาณนี้พบว่าค่าใช้จ่ายนี้สูงถึง 1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดิน และเราไม่สามารถปรับลดได้
ขณะที่ สำนักงาน ก.พ. เองก็มีแนวคิดเรื่องการปรับลดเงินจำนวนนี้ โดยการลดจำนวนราชการและค่าใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น และลดบุคลากรภาครัฐไม่ให้เกิด 30% แต่ตนอยากถามว่าเป้าหมายนี้ดำเนินการถึงไหนแล้ว และจะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่มาทำงานมากขึ้น เพราะระบบราชการไม่สามารถดึงคนเก่งเข้ามาในระบบได้ และปัญหาที่เกิดขึ้นคือหลังจากยุบตำแหน่งเหล่านี้ ก็เปลี่ยนไปใช้ลูกจ้างเหมาบริการแทน ซึ่งสูงกว่า 20,000 ล้านบาท ที่อยู่ในงบประมาณดำเนินการในแต่ละกระทรวง ไม่ได้อยู่ในงบกลาง ประกอบด้วย การจ้างล้างแอร์ หรือขุดลอกคูคลอง และจ้างบุคลากรมาช่วยปฏิบัติการ แต่สถานะของลูกจ้างเหมาบริการแย่มาก ทำสัญญารายเดือน ไม่ว่างานจะมีลักษณะอย่างไรก็ตาม มีการจ่ายค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และไม่มีสวัสดิการและประกันสังคม เช่น ลูกจ้างของกรมการปกครอง หรือครูธุรการในโรงเรียน ตนอยากถามว่า วิธีการนี้จะช่วยดึงเอาประสิทธิภาพของลูกจ้างต่อหนึ่งคนมาได้ยังไง หลังจากที่ยุบข้าราชการ และใช้การจ้างเหมาบริการที่กดเงินเดือนลูกจ้าง และใช้ช่องโหว่ของกฎหมายแรงงานมากดขี่แรงงาน ตนเห็นว่า งบกลางสามารถปรับลดลงได้เพื่อให้การปฏิรูประบบราชการเป็นไปได้จริง และไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานโดยอาศัยช่องหรือกฎหมายแรงงาน ตนจึงเห็นว่าจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณกลาง โดยการทำให้ข้าราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ใช่เอาเงินไปจ้างลูกจ้างเหมาบริการที่มีต้นทุนต่ำและกดขี่แรงงาน
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย สงวนคำแปรญัตติลดงบกลาง 1% เนื่องจากรายจ่ายประจำในปีนี้เพิ่มมาอีกแสนล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณฯ ชี้แจงว่า ประกอบด้วย เบี้ยผู้สูงอายุ ผู้พิการและเด็ก อีก 50,000 ล้านบาท คือ เบี้ยหวัดบำนาญ และอีก 40,000 ล้านบาท คือ งบเกี่ยวกับโควิด ซึ่งที่บอกไว้ว่าจะลดรายจ่ายประจำกลับมาเพิ่มรายจ่ายประจำอีกแสนล้าน การโอนงบกลางก่อนหน้านี้ 88,000 ล้านบาท เหมือนเป็นการไปพรากเงินมาจากเด็ก คนชรา ฯลฯ ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ และยังมีงบฉุกเฉินอีก 99,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก แต่รายการขอใช้งบกลางบางรายการไม่มีหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งตนคิดว่าการใช้งบกลางต้องมีแผนและใช้ในเวลาฉุกเฉิน และรายจ่ายที่ไม่มีหน่วยรับงบประมาณกลับเป็นค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการภาครัฐที่สูงถึง 9,752 ล้านบาท ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ แม้ขณะที่กรรมาธิการขอรายละเอียดไปนานแล้วแต่ปีนี้ก็ยังไม่ส่งให้
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอตัดงบกลาง 5% เนื่องจากหลายรายการไม่ปรากฏหน่วยรับงบประมาณ บางรายการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้แล้ว แต่กำหนดเป้าหมายในการใช้จ่ายไม่ได้ และมีหลายแผนงานที่มีเกณฑ์การใช้จ่ายแตกต่างกันไป เหมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกรัฐมนตรีว่าจะวางงบประมาณไปที่ตรงจุดไหนหรือส่วนใด อาจเกิดจุดประสงค์ซ่อนเร่นพูดคุยกันข้างหลังได้ ขณะเดียวกัน ไม่มีการตรวจเช็กความเหมาะสมของการใช้งบประมาณ และย้อนไปเมื่อปีก่อนมีการใช้งบกลางเพื่ออุดหนุนโครงการเด็กแรกเกิด เพราะรัฐบาลไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้แต่แรก ต้องใช้งบกลาง กลายเป็นการสงเคราะห์ไม่ใช่สวัสดิการถ้วนหน้า และไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์การใช้งบกลาง ขณะที่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นมานานแล้วกลับเพิ่มอนุมัติงบประมาณ หรืออย่างเบี้ยผู้สูงอายุที่ล่าช้าเกินกำหนดเข้าข่ายที่ต้องใช้งบกลาง แต่ยังไม่มีการอนุมัติ ตนจึงถามว่าสรุปแล้วใครมีหน้าที่ตัดสินใจว่ารายการไหนเหมาะสมต้องใช้งบกลาง
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อย่าเอางบกลางไปใช้จ่ายค่าปรับคดีเหมืองทองอัคราเด็ดขาด เพราะการสั่งปิดเหมืองทองอัคราเป็นคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมัยที่เป็นหัวหน้า คสช. โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ในการสั่งปิด ในเมื่อตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแล้วไปทำผิดกฎหมาย แต่จะเอานำเงินของรัฐไปจ่ายเป็นค่าปรับ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง