xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าตัดใหญ่ราชการไทย 2.3 ล้านคน อุดงบประมาณรั่ว ปิดช่อง “เช้าชามเย็นชาม”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตัวเลขข้าราชการไทยในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2.3 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.04 ต่อปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดสรรงบสำหรับบุคคลกรภาครัฐวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท จากงบทั้งหมด 3.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของงบประมาณทั้งหมด

เท่ากับว่า 1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดิน ถูกนำไปหล่อเลี้ยงข้าราชการจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่า ในจำนวนนี้มีทั้ง  “ข้าราชการที่ดี”  และข้าราชการแบบ  “เช้าชามเย็นชาม”  ที่  ขณะที่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งทราบดีว่าจำนวนของบุคคลกรภาครัฐมีมากเกินไป จึงมีคำสั่ง “ผ่าตัดระบบราชการไทย” ในที่ประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

โดยให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ปรับโครงสร้างราชการและจัดองค์กรใหม่ มุ่งเน้นการนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อลดจำนวนข้าราชการ เพื่อเป็นการสร้าง  “ระบบราชการใหม่”  ให้สอดรับกับอนาคตยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ภาครัฐมีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณบุคลากรรัฐมาโดยตลอด คลอดมาตรการต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565) เพื่อควบคุมการเพิ่มจำนวนของข้าราชการ การยุบตำแหน่งหลังเกษียณ การเกลี่ยอัตรากำลังแทนการรับใหม่ การปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เป็นต้น

ทว่า สถานการณ์ด้านงบประมาณบุคลากรรัฐยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง หลายปีที่ผ่านมางบประมาณก้อนนี้ยังถูกจัดสรรเป็นจำนวนมหาศาล คิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดิน ล่าสุด ปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลยังคงจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคคลกรภาครัฐ เป็นวงเงินสูงกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย งบบุคลากร คือ เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ ในปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 635,928.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.3 ของวงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2563 ที่มีการจัดสรรงบบุคลากรในวงเงิน 635,522 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.8 ของวงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรงบกลาง ปีงบประมาณ 2564 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ เป็นวงเงิน 465,290.6 ล้านบาท ได้แก่ 1. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 71,200 ล้านบาท 2. เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 5,008 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 4,940 ล้านบาท 3. เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 300,435.5 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 265,716.3 ล้านบาท 4. เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 15,500 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 10,464.6 ล้านบาท 5. เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 640 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 670 ล้านบาท แล ะ6.เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 69,707.1 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 62,780 ล้านบาท

 ม.ล.พัชรภากร เทวกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ระบุถึงสถานการณ์กำลังคนของภาครัฐที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้มีการทยอยปรับจากการรับเงินเดือนของข้าราชการ เป็นการทำสัญญาจ้าง ตามภารกิจและลักษณะของงานแทน ที่ผ่านมาตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการจ้างงานอาจสูงถึง 20 ล้านบาทต่อข้าราชการ 1 คน ซึ่งวิธีการทำสัญญาจ้างในต่างประเทศสามารถลดต้นทุนค่าใช่จ่ายด้านบุคลากรไปได้กว่าครึ่ง

“คาดว่าในระยะ 3 ปี จะยังคงเป้าหมายในการลดกำลังคนไว้ก่อน คือไม่เพิ่มหรือไม่ลดลงไปกว่านี้ เพื่อพิจารณาว่าการพัฒนากำลังคนภาครัฐ และการลงทุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้ คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้จ่ายแต่ละปี หรือไม่” เลขาธิการสำนักงาน ก.พ.อธิบายสถานการณ์
สำหรับเรื่องการดำเนินการเพื่อเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิตอล ทางสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. พัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลรองรับพฤติกรรมของประชาชนที่มารับบริการให้สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ช.ม. มุ่งลงทุนในดิจิตอลเทคโนโลยีแทนกำลังคน ตลอดจนเพิ่มทักษะและสมรรถนะด้านดิจิตอลเทคโนโลยีให้กับข้าราชการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงานของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รูปแบบ การทำงาน Work Form ของงานราชการเป็นที่น่าพอใจ ผลสำรวจจากข้าราชการกว่า 68,000 คน ส่วนใหญ่เห็นว่ารูปแบบการทำงานดังกล่าว ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับ ประสิทธิภาพการทำงานไม่ลดลง โดยทางสำนักงาน ก.พ. จะสรุปผลเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับแก้ระเบียบแก้กฎหมายให้สอดรับกับการทำงานของข้าราชการในรูปแบบใหม่เพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น

บทความเรื่อง  “สังคมข้าราชการสูงอายุเต็มวัย : ประเทศไทยในมือข้าราชการแก่มากๆ”  เผยแพร่ผ่านทาง www.mgronline.com โดย  ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์  ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในตอนหนึ่งระบุถึงสถานการณ์ระบบราชการไทยเต็มไปด้วยคนสูงวัย ตั้งคำถามว่า “การที่ระบบราชการไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มวัยมากขนาดนี้จะส่งผลกระทบและผลเสียอะไรบ้าง” โดยวิเคราะห์ไว้ความว่า

“ประการแรก พอข้าราชการเกษียณมีมากๆ เข้าก็จะเกิดภาระต้องจ่ายบำนาญมากเหลือเกิน แม้ว่าจะมีกองทุนบำเหน็จข้าราชการแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก จำนวนข้าราชการเกษียณที่จะเป็นภาระบำนาญของรัฐนั้นมากเหลือเกิน ประการสอง สวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากมหาศาล จนอาจจะเป็นภาระทางการคลัง”

กลายๆ ว่า ข้าราชการไทยที่มีจำนวนมากเกินไป มิหนำซ้ำยังเต็มไปด้วยคนสูงวัย กำลังซ้ำเติมปัญหางบประมาณด้านบุคลากรรัฐ เป็นอีกโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแก้วิกฤตเรื่องบุคคลากรรัฐล้นประเทศที่กำลังถลุงภาษีประชาชนอย่างไร

ทั้งนี้ สปอร์ตไลท์สาดแสงไปที่ข้อเสนอของ นายสมหมาย ภาษี  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเด็นแรกเกี่ยวกับการการลดเงินเดือนข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ตอนนี้มีจำนวนคนมากกว่างาน ยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ข้าราชการทำงานน้อยลงแต่ได้เงินเดือนเท่าเดิม ต่างจ่ายบริษัทเอกชน ที่ตอนนี้มีการลดรายจ่ายส่วนใหญ่มีการลดพนักงานไปแล้วไม่น้อยกว่า 25% ดังนั้น เสนอให้รัฐบาลควรลดรายจ่ายประจำ ที่สำคัญ คือ การลดเงินเดือนข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ

“รัฐบาลต้องแก้วิกฤตเศรษฐกิจแบบฉีกแนว อยู่แบบนี้ทำแบบเดิมไม่มีอะไรดีขึ้น ผมคิดว่านายกไม่กล้าทำ แต่ก็ต้องบอกนายกว่าถ้าไม่ทำ ประเทศก็อยู่ไม่ได้” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง เรื่องการสนับสนุนให้รัฐบาลต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) จาก 7% เป็น 9% หรือ เพิ่มขึ้น 2% ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น 1.2 แสนล้านบาท เพื่อนำไปแก้ปัญหาโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามข้อเสนออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรายนี้ ถูกปักตกไปเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ ได้รับการยืนยันจาก นายลวรณ แสงสนิท  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มใดๆ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจะต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม อีกทั้งหากขึ้นไปแล้วจะทำให้สินค้าและบริการแพงขึ้น อำนาจการซื้อประชาชนลดลง และซ้ำเติมประชาชนในห้วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดขึ้นไปอีก


 การผ่าตัดระบบราชการไทยครั้งใหญ่ยังคงต้องติดตามกันยาวๆ แต่ต้องไม่ลืมว่าในยุคดิจิทัลเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกอุตสาหกรรม เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ เช่นเดียวกัน งานราชการบางตำแหน่ง AI สามารถจัดการแทนได้ ขึ้นอยู่กับภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร? 




กำลังโหลดความคิดเห็น