xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านรุมยำร่าง พ.ร.บ.งบปี 64 “สมพงษ์” อัดจัดสรรแบบเก่าเน้นก่อสร้าง-สัมมนา “อนุดิษฐ์” ให้ฉายา “บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สมพงษ์” อัดจัดสรรแบบเก่าเน้นก่อสร้าง-สัมมนา “อนุดิษฐ์” ให้ฉายา “บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้” ติงจัดงบ 64 ไม่ฟื้น ศก. หลังโควิด-19 ประมาณการจัดเก็บรายได้ผิด หวั่นหนี้สาธารณะเต็มเพดาน ขณะที่หลายโครงการส่อทุจริต นายกฯ แจงต้องคิดทั้งวงจร สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการลงทุน ไม่ใช่โครงการที่ไม่ก่อรายได้

วันนี้ (1 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานร่าง พ.ร.บ.เสร็จสิ้น สมาชิกเริ่มอภิปรายเริ่มจากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการบริหารประเทศที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะของประเทศ เวลานี้ประเทศอยู่ในภาวะโควิด-19 แต่นายกฯไม่ได้ระบุถึงวิธีการแก้ไขอย่างใด การทำงบประมาณครั้งนี้ต้องพิเศษกว่าทุกครั้ง คือ ต้องรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ แม้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดน้อย แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจะสูง เป็นสิ่งที่น่ากังวล

“มาตรการของรัฐบาลใช้ต้นทุนสูงเกินความจำเป็นและอาจเสียหายเกิน 2 ล้านล้านบาท เป็นวิกฤตที่ลงลึกกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ การฟื้นตัวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ การรักษาการจ้างงาน การรักษาธุรกิจไม่ให้ล้ม และป้องกันไม่ให้ลามไปถึงระบบการเงินของประเทศ แต่เวลานี้ธุรกิจค่อยๆ ล้มและเกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก และปัญหาจะลามไปถึงสถาบันการเงิน โดยเฉพาะหนี้เสียที่ธนาคารปล่อยกู้เงินไปนั้นจะเกิดขึ้นสูงและรวดเร็วมาก”

นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า งบประมาณปี 2564 จัดสรรแบบเก่า เน้นการก่อสร้าง และการอบรมสัมมนา เสมือนทำไปวันๆ เหมือนทุกปีตามที่ส่วนราชการเสนอมา รัฐบาลไม่ได้มองไปที่ภาพใหญ่ว่าประเทศไทยจะก้าวไปทิศทางไหน จะรับรองธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่อย่างไร เราจะเอาประเทศของเราไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก นโยบายการแจกเงินนั้นเป็นเพียงการหาคะแนนความนิยม

“หากดำเนินการไม่ถูกต้องจะเป็นอันตรายต่อประเทศมาก หากรัฐบาลชี้แจงไม่ได้ก็คงจะสนับสนุนงบประมาณนี้ให้ผ่านไปไม่ได้” นายสมพงษ์กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่น่าห่วงใยและกังวลมากเท่าครั้งนี้ เนื่องจากข้อห่วงใยประการแรกคือโครงสร้างของงบประมาณที่รายจ่ายไว้เป็นจำนวนไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท แบ่งออกได้เป็น 3 รายการใหญ่ๆ คือ 1. รายจ่ายประจำ 2.526 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.5 2. รายจ่ายลงทุน 6.74 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.5 และ 3. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 เมื่อพิจารณารายจ่ายประจำ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ซึ่งรวม แล้วเป็นเงินจำนวน 2.625 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีประมาณไว้ 2.677 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้กันหากการจัดเก็บภาษีเป็นไปตามประมาณการ แต่หากการจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ ไม่มีเงินเหลือที่จะพัฒนาปรับปรุงหรือลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ยกเว้นจะต้องไปกู้มาเพิ่ม ซึ่งตนเชื่อว่าไม่สามารถเก็บได้ตามเป้า ขณะที่รายจ่ายประจำสูงขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้ขึ้นเป็น 2.526 ล้านล้านบาท เฉลี่ยโตขึ้น 2.22 เท่า ในขณะที่รายจ่ายลงทุนปี 6.74 แสนล้านบาท หรือโตขึ้นแค่ 1.8 เท่า เพราะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจสร้างรัฐราชการ จึงทำให้มีรายจ่ายประจำสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง กองทัพไทยมีหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงภารกิจด้านการป้องกันประเทศที่ภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นการก่อการร้าย การรบกันด้วยกำลังพลที่มาก เหมือนสมัยสงครามโลกจะไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นการมีกำลังพลมากเกินความจำเป็นจึงภาระกับงบประมาณของประเทศ และยังเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย

“ดังนั้น ภารกิจแรกที่รัฐบาลจะต้องทำคือการลดจำนวนข้าราชการลง เพื่อลดรายจ่ายประจำที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้มากที่สุด และทำให้กลายเป็นรัฐของประชาชน จะสามารถทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้นและนำเงินก้อนนั้นมาพัฒนาประเทศต่อไป แต่ตรงกันข้ามแทนที่จะลดกำลังพลที่ไม่จำเป็น แต่กลับการให้วันเวลาทวีคูณกับทหารตำรวจตำแหน่งนายพลทั่วประเทศ หรือการให้สองขั้นกับพวกที่มาช่วยงาน คสช. งบประมาณเกือบแสนล้านบาท”

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราได้มีกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยเฉพาะรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้ารวมเป็นร้อยละ 15 ของ GDP ของประเทศ แต่ 2 เดือนที่ผ่านมาหลายบริษัทกำลังจะปิดตัวในไทยและย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลได้เตรียมฐานการผลิตภาษีใหม่มาแทนหรือยัง เพราะหากยังปีหน้าจะกลายเป็นหายนะอีกเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ตนพิจารณางบประมาณที่เพิ่มขึ้น งบกลางเพื่อแก้โควิด 40,325 ล้านบาท ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.ก.กู้เงิน และไม่ก่อให้เกิดการผลิตที่จะนำมาซึ่งภาษี, กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น 21,075 ล้านบาทที่เป็นรายการใช้จ่ายเพื่อชำระหนี้และดอกเบี้ยซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการผลิต, กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเพิ่มขึ้น 16,687 ล้านบาท และกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกรองท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมืองเพิ่มขึ้น 12,773 ล้านบาท งบประมาณที่เพิ่มขึ้นคือการสร้างถนนซึ่งเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่าไม่ตอบโจทย์ของโลกหลังโควิด เช่น อุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ, และอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น

น.อ.อนุดิษฐ์ชี้แจงว่า ฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย รัฐบาลกู้เองโดยตรงและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งสิ้น 6.98 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.8 ของจีดีพี หน้าเป็นห่วงว่าถ้าการประมาณการรายได้ผิดและไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า นั่นหมายความปีงบประมาณต่อไปเหลือให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพีจะเต็มเพดานและจะไม่สามารถกู้เงินมาพัฒนาเศรษฐกิจได้อีก ซึ่งจากสถิติก็เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำไว้กว่าที่ประเมินมา 6 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2557 ถึงตอนนี้ แปลว่าประชาชนขาดกำลังซื้อจึงทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่การยึดอำนาจ เฉลี่ยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 รวม 5 ปีชำระหนี้เงิน ต้นไปจำนวน 220,875 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วชำระคืนต้นเงินกู้ประมาณปีละ 44,000 ล้านบาท หากรวมหนี้ที่กู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม 2.791 ล้านล้านบาท จะต้องใช้เวลาชำระคืนถึง 64 ปียังไม่นับรวมหนี้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท หรือหนี้ที่จะต้องกู้ในปีงบประมาณ 2565 ถ้ายังสามารถกู้ได้ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเกือบ 100 ปีจึงจะชำระหมด ตอนนี้รัฐบาลจะก่อหนี้ได้ไม่เกิน 2.4 ล้านล้านบาทที่เป็นยอดเต็มเพดานการก่อหนี้เมื่อรวมเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน และที่ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 จึงเหลือวงเงินที่จะก่อนหนี้ได้ภายในปี 2564 อีกประมาณ 750,000 ล้านบาท และหากมีเหตุอันไม่คาดฝันเกิดขึ้นจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะสูงจนกู้เงินไม่ได้อีก

“วันนี้นายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นผู้นำของไทยที่กลายเป็น 'บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้' ซึ่งหากอนาคตหนี้เต็มเพดานและรัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีกจะเป็นปัญหากับการพัฒนาประเทศ ตอนนี้ประชาชนไม่มีรายได้แต่หนี้สูง โจทย์คือรัฐบาลจะเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้อย่างไร”

การเยียวยาที่จะจบในเดือนนี้ก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงอีก ตัวเลขคนตกงานจะพุ่งนี้เป็น 7-10 ล้านคน รัฐบาลได้เตรียมอะไรไว้แล้วบ้างนอกจากการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่สิ่งที่น่าผิดหวังคือการจัดทำงบประมาณในปีนี้กลับไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความจำเป็นตอนนี้ แถมยังมีข้อมูลหลายส่วนที่ส่อไปในทางทุจริต ฮั้วประมูล ล็อกสเปก รัฐบาลกลายเป็นพ่อค้าหาบเร่ขายงบประมาณให้กลุ่มทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น