xs
xsm
sm
md
lg

'บิ๊กตู่'แจงงบ64วงเงิน3.3ล้านล.-อัดฉีดศก.หลังจบวิกฤตโควิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- "นายกฯ"เข้าสภาฯ แจงพ.ร.บ.งบปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้าน ห่วงเศรษฐกิจมีความเสี่ยงหลังวิกฤตโควิด ด้านฝ่ายค้านรุมยำ จัดงบแบบเก่า เน้นก่อสร้าง-สัมมนา จวกเป็นผู้นำแห่งการก่อหนี้ เป็นรัฐบาล 6 ปี ใช้เงินไปแล้ว 20ล้านล้าน แต่เศรษฐกิจโตเพียงแค่ยิบมือ ศก.ดื้อยาขนาดหนัก ถือเป็น"มหาประยุทภัย" ยิ่งถมเท่าไร ก็ไม่กระเตื้อง หากยังใช้วิธการแบบเดิม

วานนี้ (1ก.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วาระแรก วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นผู้ชี้แจงสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี2564 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 63 คาดว่าจะติดลบ ร้อยละ 5-6 มีสาเหตุหลักจากสงครามทางการค้า และผลกระทบการระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่วนศก.ปี 64 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 4-5ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เทียบกับปี 63 มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ภายหลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 ผ่อนคลายลง รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ทั้งการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบรายจ่ายประจำปี การเบิกจ่ายภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูศก. และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 งบประมาณรายจ่าย ปี 2564 นั้น มีวงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ 2.67 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 623,000 ล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าว จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 674,868 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.5 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ

สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค.63 มีจำนวน 7 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

ทั้งนี้ ให้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทาง โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง

หลังจากนายกรัฐมนตรี กล่าวรายงาน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณเสร็จสิ้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ก็อภิปรายว่า เวลานี้ประเทศอยู่ในภาวะโควิด-19 แต่นายกฯ ไม่ได้ระบุถึงวิธีการแก้ไขอย่างใด การทำงบประมาณครั้งนี้ ต้องพิเศษกว่าทุกครั้ง คือต้องรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ แม้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดน้อย แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจะสูง เป็นสิ่งที่น่ากังวล

"มาตรการของรัฐบาลใช้ต้นทุนสูงเกินความจำเป็น และอาจเสียหายเกิน 2 ล้านล้านบาท เป็นวิกฤตที่ลงลึกกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ การฟื้นตัวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ การรักษาการจ้างงาน การรักษาธุรกิจไม่ให้ล้ม และป้องกันไม่ให้ลามไปถึงระบบการเงินของประเทศ แต่เวลานี้ธุรกิจค่อยๆ ล้มและเกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก และปัญหาจะลามไปถึงสถาบันการเงิน โดยเฉพาะหนี้เสียที่ธนาคารปล่อยกู้เงินไปนั้นจะเกิกขึ้นสูงและรวดเร็วมาก"

งบประมาณปี 2564 จัดสรรแบบเก่า เน้นการก่อสร้าง และการอบรมสัมมนา เสมือนทำไปวันๆ เหมือนทุกปีตามที่ส่วนราชการเสนอมา รัฐบาลไม่ได้มองไปที่ภาพใหญ่ว่า ประเทศไทยจะก้าวไปทิศทางไหน จะรับรองธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่อย่างไร เราจะเอาประเทศของเราไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก นโยบายการแจกเงินนั้นเป็นเพียงการหาคะแนนความนิยม

" หากดำเนินการไม่ถูกต้องจะเป็นอันตรายต่อประเทศมาก หากรัฐบาลชี้แจงไม่ได้ก็คงจะสนับสนุนงบประมาณนี้ให้ผ่านไปไม่ได้" นายสมพงษ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนมีข้อห่วงใยในโครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เป็นจำนวนไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท แบ่งออกได้เป็น 3 รายการใหญ่ๆ คือ 1. รายจ่ายประจำ 2.526 ล้านล้านบาท 2. รายจ่ายลงทุน 6.74 แสนล้านบาท และ 3. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท

ด้านฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย รัฐบาลกู้เองโดยตรง และหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งสิ้น 6.98 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.8 ของจีดีพี น่าเป็นห่วงว่าถ้าการประมาณการรายได้ผิด และไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า นั่นหมายความปีงบประมาณต่อไปเหลือให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี จะเต็มเพดาน และจะไม่สามารถกู้เงินมาพัฒนาเศรษฐกิจได้อีก ซึ่งจากสถิติก็เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำไว้กว่าที่ประเมินมา 6 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 57 ถึงตอนนี้ แปลว่า ประชาชนขาดกำลังซื้อจึงทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มตกต่ำ มาตั้งแต่การยึดอำนาจ เฉลี่ยตั้งแต่ปี 58- 62 รวม 5 ปี ชำระหนี้เงิน ต้นไป 220,875 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วชำระคืนต้นเงินกู้ ประมาณปีละ 44,000 ล้านบาท หากรวมหนี้ที่กู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รวม 2.791 ล้านล้านบาท จะต้องใช้เวลาชำระคืนถึง 64 ปี ยังไม่นับรวมหนี้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท หรือหนี้ที่จะต้องกู้ในปีงบประมาณ 65 ถ้ายังสามารถกู้ได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเกือบ 100 ปี จึงจะชำระหมด

"วันนี้นายกรัฐมนตรี จึงกลายเป็นผู้นำของไทยที่กลายเป็น 'บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้' ซึ่งหากอนาคตหนี้เต็มเพดาน และรัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีก จะเป็นปัญหากับการพัฒนาประเทศ ตอนนี้ประชาชนไม่มีรายได้แต่หนี้สูง โจทย์คือรัฐบาลจะเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้อย่างไร" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปราย ว่า ปี 64 นอกจากจะเป็นปีที่ประชาชนทุกข์สาหัสแล้ว ยังต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยว่า เป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ “20 ล้านล้านบาท”ตั้งแต่ยึดอำนาจมาปี 57 จนถึงปัจจุบัน เป็นนายกฯ ที่ใช้งบประมาณมากที่สุด แต่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้น้อยมาก จึงอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยดื้อยาขนาดหนัก ถือเป็น"มหาประยุทธภัย" ที่ยิ่งเพิ่มงบประมาณ ความเชื่อมั่นยิ่งลดลง แม้จะถมงบลงไปเท่าไหร่เศรษฐกิจก็ไม่เต็ม ไม่กระเตื้อง

นายพิธา กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลไทยกุมทรัพยากรประเทศมหาศาล อย่างน้อย 5 ก้อน คือ งบปี 64 จำนวน3 ล้านล้านบาท งบสู้ภัยโควิดจากพรก.เงินกู้ และพรก.โอนงบ 2ล้านล้านบาท เงินนอกงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท รวมแล้วสูงถึง 7.5 ล้านล้านบาท ที่จะแก้ปัญหา ถ้ารัฐบาลใช้เป็นเราจะผลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยทุเลาความเดือดร้อนได้ไม่มากก็น้อย แต่ถ้ารัฐบาลยังจัดงบประมาณแบบเดิม ก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาชีวิตความเป้นอยู่ของประชาชนได้

"ผมอ่านงบประมาณนี้แล้วเหมือนรัฐบาลเห็นว่าประเทศไม่มีวิกฤต โลกปรับแต่ไทยไม่เปลี่ยน ประเทศเผชิญมหาวิกฤตรุมเร้า แต่รัฐบาลยังเก็บเงินใส่กระเป๋เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมจึงไม่สามารถเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 64 ในวาระ1ได้" นายพิธากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น