xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” โต้ฉายานักกู้แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลั่นกู้ช่วย ปชช.บริหารหนี้สาธารณะดีกว่า รบ.ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.พท. อภิปรายยกนายกฯ เป็น “นักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” กู้มากกว่านายกฯ 28 คนรวมกัน ทำประเทศเสี่ยงล้มละลาย เจ้าตัวแจงกู้เงินเพื่อช่วยเหลือ ปชช. ย้ำ รบ.บริหารหนี้สาธารณะได้ดีกว่า รบ.ชุดก่อน คาดหลังโควิด ศก.ดีจะเก็บรายได้มากขึ้น

วันนี้ (3 ก.ค.) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านบาท ว่า อนาคตประเทศจะอยู่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี แต่ตนไม่ไว้วางใจว่า การทำงบประมาณจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ เพราะที่ผ่านมา หลายปีรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ต่ำกว่าเป้าตั้งแต่ปี 2558 ต่ำกว่าเป้า 222,000 ล้านบาท, ปี 2559 ต่ำกว่าเป้า 120,893 ล้านบาท, ปี 2560 ต่ำกว่าเป้า 82,000 ล้านบาท, ปี 2561 ต่ำกว่าเป้า 77,374 ล้านบาท และต้องกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณตั้งแต่ปี 2558 กู้ 250,000 ล้านบาท, ปี 2560 กู้ 552,000 ล้านบาท, ปี 2561 กู้ 550,000 ล้านบาท, ปี 2562 กู้ 450,000 ล้านบาท, ปี 2563 กู้ 469,000 และปี 2564 กู้ 623,000 ล้านบาท

นายจิรายุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี 28 คน รวมกู้เงิน 2.39 ล้านล้านบาท เฉลี่ยคนละ 85,000 ล้านบาทต่อปี แต่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ คนเดียว กู้ทั้งหมด 3.28 ล้านล้านบาท กู้เฉลี่ย 550,000 ต่อปี จึงได้ฉายานักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นฝีมือล้วนๆ และปี 2564 เป็นปีที่อันตรายอย่างยิ่ง เศรษฐกิจทั่วโลกจะมีปัญหา ถ้ารัฐบาลทำงบประมาณอย่างนี้ ประเทศเจ๋ง มีปัญหาแน่นอน จึงอยากจะเตือนนักธุรกิจต้องติดตามงบประมาณประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหนี้สาธารณะขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 43.8 แต่สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 58 ของจีดีพี ซึ่งสภาพัฒน์คาดการณ์ว่า ปี 2564 เศรษฐกิจจะโตร้อยละ 5 แต่แบงก์ชาติบอกติดลบร้อยละ 8.1 หักลบกันแล้วติดลบประมาณร้อยละ 4 ซึ่งสภาพัฒน์เองก็ยอมรับว่า ตัวเลขเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2564 หนี้สาธารณะอาจจะทะลุร้อยละ 60 ของจีดีพีแน่นอน ไม่สามารถกู้เงินต่อไปได้อีกแล้ว ประเทศเข้าข่ายเสี่ยงล้มละลาย

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า งบประมาณปี 2564 จัดทำแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ รายจ่ายประจำ 2.62 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท หักลบกลบหนี้แล้วจะมีงบลงทุนแค่ 50,000 ล้านบาท ทั้งที่งบประมาณรายจ่ายกำหนดให้มีงบลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 จึงต้องมีการกู้อีก 500,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถกู้ได้อีก เพราะจะเต็มเพดานแล้ว และคงต้องให้สภาฯ แก้กฎหมายขยายกรอบเงินกู้เป็นร้อยละ 70 ของจีดีพี และสุดท้ายประเทศอาจเข้าสู่ยุทธการ “ดุลข้าราชการ” ยกเลิกกรมกองต่างๆ ที่ไม่จำเป็น สลัดไขมัน ลดกำลังพลกองทัพเหมือนสมัยยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะทางเดียวที่รัฐบาลจะทำได้คือลดกำลังราชการ ลดรายจ่ายประจำ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ที่บอกว่า นายกรัฐมนตรี 28 คน กู้ไม่เท่าตนเองคนเดียวนั้น ก็ขอให้ดูความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ถนนหนทาง สิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ก็สูงขึ้นเป็นทวีตามตัว ส่วนหนี้สาธารณะ ปี 2556 มีหนี้สาธารณะอยู่ ร้อยละ 42.19 ของจีดีพี , ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 43 , ปี 2558 เหลือร้อยละ 12 ซึ่งเป็นยุคที่ตนเองเข้ามาบริหารจัดการแล้ว และปี 2559 เหลือร้อยละ 41.78, ปี 2561 เหลือร้อยละ 41.95, ปี 2562 เหลือร้อยละ 41.10 ซึ่งเป็นผลงานการบริหารหนี้สาธารณะ และเดือนพฤษภาคมขึ้นมาเป็นร้อยละ 44.01 เพราะมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ต้องมีการฟื้นฟู 550,000 ล้านบาท ซึ่งประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ประชาชนต้องการก็ต้องให้ ให้ได้แค่ไหนก็ให้แค่นั้น

“ส่วนรายได้ของประเทศ ถ้าประเมินสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ก็น่าจะเก็บรายได้มากขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องมีวิธีการบริหารจัดการงบประมาณที่ตามวงเงินที่มีอยู่ ซึ่งเป็นหลักในการบริหาร เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องหาวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้”

ส่วนหน่วยงบประมาณที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ตามระเบียบบริหารงบประมาณ หน่วยรับงบประมาณสามารถปรับแผนหน่วยงาน โดยชะลอยกเลิกรายการที่ล่าช้าหรือไม่พร้อม ไม่ความจำเป็น หรือใช้งบประมาณที่เหลือจ่ายจากการดำเนินการที่บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว เพื่อดำเนินการในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนการแก้ไขเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ให้ใช้จ่ายจากงบกลางรายการค่าใช้จ่ายบรรเทาปัญหาระยะยาว สำหรับกรณีอื่นๆ หากมีความจำเป็นก็สามารถใช้จ่ายได้จากงบกลางในรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องสร้างโอกาสทำถนนหนทางที่ทุกคนมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ส่วนเรื่องของความเป็นธรรมก็ดูแลผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลก็ได้ดูแลตลอด ซึ่งผู้อภิปรายก็ไม่นำมาชี้แจงว่าเกษตรกรได้ประโยชน์เท่าไหร่ การประกันราคารายได้ ส่วนการจ้างแรงงานต่างๆ มีการคิดเรื่องนี้ในงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็ให้นโยบายกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มการจ้างงานและทยอยตามลำดับ จะต้องทำให้โปร่งใส ซึ่งตนเองรับฟัง รับผิดชอบในภาพรวม เพราะทั้งหมดเป็นการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนเดียว ซึ่งตนเองก็ให้แนวทางการปฏิบัติ ให้นโยบาย แต่ทั้งหมดหน่วยงานต้องไปทำมา และผ่านการตรวจสอบขึ้นมา และให้คณะรัฐมนตรีกลั่นกรอง หวังอย่างยิ่งว่า อย่าให้มีใครต้องถูกดำเนินคดีจากนี้เป็นต้นไป ส่วนการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SME ก็มีมาตรการรองรับกลุ่มที่เป็นหนี้เสียหรือ NPL ด้วย เพราะฉะนั้นแนวทางที่จะต้องผ่อนคลายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หากสถานการณ์ผ่อนคลายระยะที่ 5 ดีขึ้น ประชาชนมีรายได้น้อย อาชีพอิสระ ก็พอจะมีทางออก อาจมีรายได้












กำลังโหลดความคิดเห็น